โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ เปิดตัวคณะทำงานด้านความมั่นคงและต่างประเทศที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมชูวาทกรรม “America is Back” หรือ “อเมริกากลับมาแล้ว” ซึ่งสะท้อนเป้าหมายในการนำสหรัฐอเมริกากลับมาผงาดอีกครั้งในเวทีโลก หลังจากที่ทำตัวโดดเดี่ยวในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ของ ทรัมป์ ได้สร้างความวิตกกังวลต่อบรรดาชาติพันธมิตร อีกทั้งผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังทำตัวแหวกธรรมเนียมด้วยการพูดโจมตีนาโต, ใช้นโยบายกีดกันการค้ากับพันธมิตร, ถอนอเมริกาออกจากความตกลงระหว่างประเทศ และหันไปญาติดีกับผู้นำรัฐเผด็จการอย่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ
ในพิธีเปิดตัวคณะบริหารซึ่งจัดขึ้นที่โรงละครในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ เมื่อวันอังคาร (24 พ.ย.) ไบเดน ยืนยันว่าหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค. และ โดนัลด์ ทรัมป์ ย้ายออกจากทำเนียบขาว “สหรัฐฯ จะกลับมานั่งหัวโต๊ะอีกครั้ง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ละทิ้งชาติพันธมิตรของเรา”
ว่าที่ประธานาธิบดีวัย 78 ปี ได้เปิดโผรายชื่อบุคคลซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ประกอบด้วย แอนโธนี บลิงเคน มือเก่าด้านนโยบายต่างประเทศซึ่งเป็นที่นับถือกันในรัฐสภาสหรัฐฯ และมีสายสัมพันธ์ยาวนานกับ ไบเดน มาอย่างน้อย 20 ปี จะขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ, นักกฎหมาย อเลคันโดร มายอร์คาส ที่เกิดในคิวบา ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, นักการทูตหญิงมากประสบการณ์ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ จะเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น, เจค ซัลลิแวน ศิษย์เก่าทำเนียบขาวยุคโอบามาอีกผู้หนึ่ง จะเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ
แอวริล เฮนส์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสตรีคนแรกในตำแหน่งนี้ และ จอห์น เคร์รี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในยุค บารัค โอบามา จะกลายเป็นบุคคลแรกที่นั่งในตำแหน่งผู้แทนพิเศษสหรัฐฯว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้จะนำอเมริกากลับสู่ความเป็นผู้นำโลก และผู้นำในด้านศีลธรรม” ไบเดน ประกาศท่ามกลางทีมงานชาย-หญิงทั้ง 6 คนที่ยืนอยู่เบื้องหลัง และทุกคนล้วนสวมหน้ากากอนามัย “นี่คือทีมงานที่จะสะท้อนว่าอเมริกากลับมาแล้ว เราพร้อมที่จะเป็นผู้นำโลก ไม่ใช่ปลีกตัวออกมา”
ถ้อยแถลงของ ไบเดน มีขึ้นหลังจากที่ความพยายามคัดค้านและพลิกผลเลือกตั้งของ ทรัมป์ ล้มเหลวไม่เป็นท่า
เพนซิลเวเนียและเนวาดาเป็น 2 รัฐล่าสุดที่ประกาศรับรองให้ ไบเดน เป็นผู้ชนะศึกเลือกตั้งเมื่อวันอังคาร (24) ตามหลังรัฐมิชิแกนเพียง 1 วัน และจากผลคะแนนอย่างเป็นทางการในทุกรัฐสรุปได้ว่า ไบเดน กวาดคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด 306 เสียง เลยเพดานขั้นต่ำสุด 270 เสียงสำหรับการคว้าเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ขณะที่ ทรัมป์ ได้ไปเพียง 232 เสียง และหากวัดกันที่คะแนนป็อปปูลาร์โหวต ไบเดน ก็ยังเป็นฝ่ายชนะ ทรัมป์ เกิน 6 ล้านเสียง
ทรัมป์ ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากสมาชิกพรรครีพับลิกันให้เลิกเตะถ่วงผลเลือกตั้งยอมลงนามอนุมัติให้สำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ (General Services Administration – GSA) เริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากสู่ ไบเดน อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (23) ซึ่งการทำเช่นนี้มีค่าเท่ากับยอมรับความพ่ายแพ้โดยปริยาย
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ ยังแสดงอาการดื้อแพ่งด้วยการทวีตภาพถ่ายตนเองในห้องทำงานรูปไข่ พร้อมแคปชั่นว่า “ผมไม่ได้ยอมอ่อนข้ออะไรทั้งนั้น!!!!!”
ประกาศจาก GSA ทำให้ทีมงาน ไบเดน สามารถเข้าถึงงบประมาณใช้จ่ายในช่วงการส่งผ่านอำนาจ, ได้รับการบรรยายสรุปข่าวกรองลับสุดยอดประจำวัน ตลอดจนเปิดทางให้ทีมงานของเขาสามารถประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 260,000 คน
ไบเดน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBC ว่า ภารกิจหลักที่เขาจะทำในช่วง 100 วันแรกก็คือการยับยั้งโควิด-19, ยกเลิกนโยบายต่างๆ ของ ทรัมป์ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และผลักดันร่างกฎหมายที่จะเปิดทางให้ผู้อพยพไร้ทะเบียนหลายล้านคนมีสิทธิได้สัญชาติอเมริกัน
ไบเดน ยืนยันกับ เลสเตอร์ โฮลต์ พิธีกร NBC ว่า แม้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขาจะมีคนหน้าเดิมๆ ที่เคยทำงานให้กับโอบามาอยู่หลายคน แต่ทำเนียบขาวในยุคของเขาไม่ใช่ “โอบามาสมัย 3” อย่างแน่นอน
“นี่ไม่ใช่รัฐบาลโอบามาสมัยที่ 3 เรากำลังอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากโลกในยุคของรัฐบาลโอบามา-ไบเดน” เขากล่าว “ประธานาธิบดี ทรัมป์ นั่นแหละที่เป็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้”
ไบเดน ระบุว่ารัฐบาลของเขามุ่งมั่นที่จะเป็นตัวแทนความหลากหลายของชาวอเมริกัน และความหลากหลายภายในพรรคเดโมแครต พร้อมยอมรับว่าเคยคิดที่จะยกตำแหน่งให้คนของรีพับลิกันที่โหวตให้กับ ทรัมป์ ด้วยซ้ำ
“ผมต้องการให้ประเทศนี้เกิดความสามัคคี” ไบเดน กล่าว
ไบเดน ระบุชัดเจนว่าเขาไม่คิดที่จะใช้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือเอาผิด ทรัมป์ และพลพรรค แม้จะมีแรงกดดันภายในพรรคแดโมแครตให้เดินหน้าตรวจสอบธุรกรรมการเงินของทรัมป์ รวมไปถึงข้อครหาเรื่องการสมคบคิดต่างชาติแทรกแซงศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ก็ตาม
ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตจะหันหลังให้กับนโยบายของทรัมป์ และฟื้นฟูความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น นำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงภูมิอากาศปารีส เป็นต้น แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะกลับมาทวงสถานะผู้นำโลกที่เริ่มสูญเสียไปตั้งแต่ก่อน ทรัมป์ จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดี
โฮเวิร์ด ไอเซนสแตต อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์ลอว์เรนซ์ ระบุว่า “การที่ ไบเดน เข้ามาฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและสถาบันต่างๆ อาจช่วยให้อเมริกากลับมามีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก แต่เขาไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้วิเศษกว่าชาติอื่นอีกต่อไป ประเทศอื่นและภูมิภาคอื่นก็มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับเราในทุกๆ แง่มุม”
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลกมากขึ้นทั้งในด้านการมีส่วนร่วมกับสถาบันนานาชาติ เรื่อยไปจนถึงการให้ทุนพัฒนาแก่ภูมิภาคแอฟริกาและละตินอเมริกา ขณะที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ ทรัมป์ กลับสร้างความผิดหวังต่อพันธมิตรด้วยการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO), หันหลังให้กับข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับอิหร่านและอีก 5 ประเทศ, วิจารณ์นาโตว่าเป็นองค์กรล้าสมัย, และปฏิเสธที่จะใช้แนวทางแข็งกร้าวกับผู้นำชาติคู่แข่งอย่างประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
ไบเดน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน, ยกเลิกการถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส และนำอเมริกากลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หากรัฐบาลเตหะรานยอมทำตามเงื่อนไขเดิมที่ตกลงกันไว้
“ลำพังสหรัฐฯ เพียงชาติเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างของโลกได้ เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เราต้องการความร่วมมือ และเราต้องการความเป็นหุ้นส่วนจากพวกเขา” ไบเดน กล่าว