ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังธุรกิจน้อยใหญ่ซมพิษโควิด-19 มาร่วมปี จนถึงโค้งสุดท้ายรัฐบาลได้ตัดสินใจเปิดไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอาการปางตายถ้วนหน้า โดยวาดเป้าดึงนักท่องเที่ยวจีนที่รอมาเยือนร่วมสิบล้านคน หนุนต่างชาติหอบเงินเข้าลงทุน เพื่อเลี่ยงการเดินหน้าเข้าสู่โหมดสุดเสี่ยงต่อสถานการณ์เลวร้ายแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ่อตกงานกว่า 2 ล้านคนในปีหน้า
ตลอดช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ต่างออกแรงส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้เศรษฐกิจและธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่ความไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังหนักหน่วงมีผู้ติดเชื้อหลักแสนคนต่อวัน ทำให้ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกที่จะรักษาชีวิตประชาชนให้ปลอดจากเชื้อโรคร้ายด้วยการปิดประเทศแทน กระทั่งถึงเวลานี้ที่หลายฝ่ายมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องค่อยๆ แง้มประตูเปิดรับชาวต่างชาติหลังทดลองนำร่องก่อนหน้าคุมได้ไม่มีปัญหาน่ากังวลใจ
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 5/2563 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธาน ศบศ. ได้เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ภายหลังการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันแจกแจงรายละเอียดว่า มาตรการด้านการท่องเที่ยว จะมีการเปิดรับ นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) โดยคัดเลือกประเทศที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับต่ำก่อน รวมทั้งเพิ่มโควตาจำนวน Alternative State Quarantine (ASQ) และ State Quarantine (SQ)
โดยข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 พบว่ามีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ STV เดินทางเข้าไทยจำนวน 681 คน โดยมีนักท่องเที่ยวที่กักตัวเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 263 คน นักท่องเที่ยวที่อยู่ในระหว่างกักตัวจำนวน 134 คน และนักท่องเที่ยวที่มีกำหนดเดินทางเข้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 284 คน
สำหรับ แพ็คเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Amazing Thailand Plus Special Package) ประกอบด้วย แพ็คเกจตั๋วเครื่องบินพร้อมห้องพัก ซึ่งร่วมกันระหว่าง บมจ.การบินไทย กับสมาคมโรงแรมไทย เป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระยะเวลาการกักตัวเรียบร้อยแล้ว
โดยแยกเป็นแพ็คเกจ Bangkok Extra (พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน ) แถมโปรแกรมซิตี้ทัวร์ให้ฟรี, แพ็คเกจ Bangkok & Beyond #1 (พัก 2 คืน ฟรี 1 คืน) รัฐบาลจ่ายค่ารถยนต์เที่ยวต่างจังหวัดให้ฟรี และแพ็คเกจ Bangkok & Beyond #2 (พัก 3 คืน ฟรี 2 คืน ) แถมตั๋วเครื่องบินไปต่างจังหวัดให้ด้วย เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564 เดินทางได้ถึง 30 เมษายน 2564 เงื่อนไขนักท่องเที่ยวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าคนละ 93,000 บาท คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนแรกประมาณ 2,000 ราย
อีกมาตรการเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนอื่นๆ โดยดึงต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้ โปรแกรม Elite Flexible Program หรือ Flex plus เป้าหมายคือ ต่างชาติที่ถือ บัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด หรือ อีลิท การ์ด โดยเงื่อนไขต้องถือบัตรที่มีมูลค่าบัตร 1 ล้านบาท ขึ้นไป ผู้ถือบัตรต้องลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลาการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตามสิทธิที่ต่างชาติพึงได้รับ, ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งหุ้นสามัญ หรือหุ้นกู้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสมาชิกบัตรดังกล่าว 10,000 ราย มูลค่าบัตร 5 แสน - 2 ล้านบาท อายุบัตร 5-20 ปี
"... หลักการคือว่าประเภทวีซ่า PE ที่เป็นวีซ่านักท่องเที่ยว ถ้ามีการลงทุน 1 ล้านเหรียญ ภายใน 1 ปี และคงหลักฐานการลงทุนในไทย 5 ปี สามารถยื่นขอ work permit ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่คือหลักการที่ ศบศ.อนุมัติเบื้องต้น ...." ผู้ว่าการ ททท.ระบุ
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจัดสัมมนาภาครัฐในจังหวัดที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง ที่เสนอโดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ เพื่อหนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวได้
ในภาพรวมการท่องเที่ยวในช่วงหลังคลายล็อกตามโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น นายดนุชา พันพิชญนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลการลงทะเบียนโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวม 6.38 ล้านคน คนลงทะเบียนสำเร็จ 6.07 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียน 7.8 พันแห่ง ร้านอาหาร 64,000 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว 1.9 พันแห่ง โอทอป 1.2 พันแห่ง การใช้สิทธิ 3.09 ล้านสิทธิ มูลค่าห้องพักที่จอง 8.4 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประชาชน 5.2 พันล้านบาท รัฐสนับสนุน 3.2 พันล้านบาท ราคาเฉลี่ยห้องพักต่อคืนที่จอง 2,800 บาท จำนวนโรงแรมที่มีการจอง 4.7 พันแห่ง ผู้ได้รับคูปองอาหาร 6.9 แสนราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 2.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประชาชน 1.5 พันล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านคูปอง 974 ล้านบาท เชคอินแล้ว 1.1 ล้านบุกกิ้ง
นอกจากบูทการท่องเที่ยวให้ฟื้นแล้ว ศบศ. ยังเห็นชอบโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาวชุดที่ 2 ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจฯ ว่าควรส่งเสริมแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า เช่น โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน โครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ, การส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, ส่งเสริมการจ้างงาน เช่น จ้างงานในภูมิลำเนา, บริบาลชุมชนระดับหมู่บ้าน และส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ตประชารัฐ, สนับสนับการเดินทางเข้ามาไทยของต่างชาติ เช่น ผ่อนปรนกฎเกณฑ์การขอสินเชื่อ การเพิ่มสถานที่กักตัวทางเลือก จัดสถานที่กักกันแรงงานต่างชาติใน 11 จังหวัด เป็นต้น
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคลัง ไปพิจารณาว่าจะทำโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 แล้วให้นำกลับมาเสนอที่ประชุมศบศ.อีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ล่าสุด มาตรการ “คนละครึ่ง” มีร้านค้าลงทะเบียนแล้ว 7.1 แสนร้าน มีประชาชนลงทะเบียน 9.28 ล้านคน ส่วนสิทธิอีก 7.2 แสนสิทธิ ซึ่งกระทรวงการคลัง เปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมในวันที่ 19 พฤศจิกายน เพื่อให้ครบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน มีประชาชนลงทะเบียนเต็มในเวลาอันรวดเร็ว
ก่อนหน้าที่ ศบศ.จะเคาะมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ได้ยกคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ความช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว เพราะหากรอถึงปีหน้าต้องตายแน่ๆ ตอนนี้ตายไปแล้วส่วนหนึ่งที่เหลือก็ร่อแร่ ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอย บริษัทท่องเที่ยวปิดกิจการและเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก ทางแอตต้าประเมินว่าหากในไตรมาส 1 ปี 2564 ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา คาดว่าจะมีคนตกงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่รัฐบาล
แอตต้า ยังขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลจีนทำ “ทราเวล บับเบิล” ระหว่างกัน โดยนำนักท่องเที่ยวชาวจีนจาก 22 มณฑลของจีนที่มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิดเข้ามาเที่ยวได้ เพื่อวางแผนทำตลาดดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในช่วงต้นปี 2564และกลับมาอย่างเต็มที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเทศกาลตรุษจีน ภายใต้สโลแกน “นักท่องเที่ยวปลอดเชื้อ ประเทศชาติปลอดภัย” หากการเจรจาสำเร็จจะนำรายได้เข้าประเทศช่วยสร้างงาน ฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย โดยประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อเดือน รายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาทต่อเดือน
สภาพบรรยากาศที่เคยคึกคักในหัวเมืองท่องเที่ยวหลักซึ่งทำเงินเข้าประเทศมหาศาลในแต่ละปี เวลานี้ตกอยู่ในสภาพเงียบเหงาตั้งแต่เหนือจรดใต้ อย่างที่เชียงใหม่ นางละเอียด บุ้งสีทอง นายกสมาคมโรงเเรมไทยภาคเหนือ เผยว่า ขณะนี้โรงเเรมสมาชิกในจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนห้องทั้งหมด 60,000 ห้อง เปิดให้บริการเพียงเเค่ร้อยละ 50 เท่านั้น
การคลายล็อกรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทย ต้องเช็กความพร้อมฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้ความเชื่อมั่นว่า จะมีมาตรการควบคุม ตรวจโรค อย่างมีประสิทธิภาพ มียา เตียง เวชภัณฑ์ ทีมสอบสวนโรคที่พร้อมรับมือหากตรวจพบผู้ติดเชื้อ และจะเริ่มจากประเทศที่มีการติดเชื้อน้อยก่อน ส่วนเรื่องการลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ที่ประชุม ศบศ.นัดล่าสุด ยังไม่ตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะห่วงว่าประชาชนจะกังวลจึงขอพิจารณาใหม่ในนัดหน้า
ก่อนหน้ากระทรวงสาธารณสุข จะชงเรื่องกักตัว 10 วัน ต่อ ศบศ. นั้น ทางนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทย 10 ล้านคน โดยใช้มาตรการกักตัวเป็นเวลา 10 วัน จากข้อมูลที่ศึกษาอาจมีผู้ติดเชื้อที่พบอาการหลังกักตัว 10 วัน ประมาณ 100 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นตัวเลขที่ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรองรับได้ โดยจะดำเนินการ 3 เดือน เพื่อดูจำนวนผู้ติดเชื้อ ถ้ามีมากกว่า 2 คนต่อสัปดาห์ก็ปรับแผนการกักตัวได้ แต่ถ้ามีน้อยกว่า 2 คนอาจปรับแผนกักตัวให้ลดลงเหลือ 7 วัน ขึ้นกับสถานการณ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเตรียมรองรับการเปิดประเทศไม่เพียงแต่เคร่งครัดระบบเดิมที่ทำอยู่ แต่กรมควบคุมโรค จะปรับเพิ่มความเข้มแข็งของคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดมากขึ้น เพิ่มทีมสอบสวนโรคจากที่มี 1,000 ทีม เพิ่มอีก 3 เท่า ภายในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมเพิ่มระบบการติดตามตัวโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ควบคู่กันด้วย
เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยถึงเกือบ 11 ล้านคน จากยอดนักท่องเที่ยวทั้งหมด 39.7 ล้านคน โดยเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างพัทยา กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นเมืองสำคัญด้านการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย เพราะนักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่ยังเลือกใช้บริการบริษัทนำเที่ยวของคนจีนที่มีการจัดการเรื่องการเดินทาง ที่พักและอาหาร ชาวจีนจะลงทุนซื้อคอนโดฯ เพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วยกัน เริ่มจากซื้อเป็นห้อง ขยายเป็นซื้อคราวละหลายห้อง ซื้อยกชั้น ซื้อยกตึก และเป็นเจ้าของโครงการเองผ่านนอมินีคนไทย กระทั่งมาหยุดชะงักเมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชะลอการซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน ทัวร์จีนกลับมาได้เมื่อไหร่ คนจีนซื้อคอนโดฯ ไม่ได้เพื่อเก็งกำไรหรือพักผ่อนอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อเพื่อรองรับหาเงินกับทัวร์จีนที่มีมาอยู่ตลอด เมื่อทัวร์จีนกลับมาได้เมื่อไหร่ นักลงทุนจีนก็จะกลับตามมาเมื่อนั้น” ณัฐวุฒิ ตรีทิพย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท บ๊อกซ์ แอสเซ็ท ผู้ให้คำปรึกษาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์กับชาวต่างชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ
ที่ประชุม ศบศ.ยังรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 โดยนับเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 12.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองของปี 2563 ร้อยละ 6.5 รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางภายในประเทศ
ทั้งนี้ สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2564 ที่ 3.5-4.5% จากปัจจัยการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ การเปิดสเปเชียลทัวริสต์วีซ่า และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ที่น่าห่วงคือ ไตรมาส 3/2563 พบผู้ว่างงาน 740,000 คน โดยแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น ตัวเลขผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 488,000 คน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตันภาคบังคับที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.5%
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า เศรษฐกิจในปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่กระทรวงการคลัง เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบถึง 7.7% และในปี 2564 เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวเติบโตได้ถึง 4% สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลเดินหน้าคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้ และทำให้เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/63
อย่างไรก็ตาม นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น โดยประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาดแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุดโดย กนง.คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีก่อนที่กิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง รายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้
โค้งสุดท้ายปลายปี ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้นจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อคลายล็อกเปิดประเทศอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อท่องเที่ยวและลงทุน แถมจูงใจด้วยการให้ work permit หากลงทุนยาว 5 ปี จากนี้ต้องถือว่ามีลุ้นโอกาสรอด แต่ต้องไม่ลืมปัจจัยสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงเป็นตัวแปรสำคัญ