"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีนี้
ปรากฏว่า ดีเกินคาด แม้ว่า จีดีพีไตรมาส 3 ยังติดลบอยู่ แต่ติดลบน้อยลงกว่าไตรมาส 2 มาก และติดลบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ทำนายไว้ โดยสำนักต่างๆ รวมทั้งไอเอ็มเอฟ
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 12.1ในไตรมาส 2 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2563 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2563 ร้อยละ 6.5 รวม 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7
การที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 หดตัวน้อยลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ภายหลังผ่านช่วงล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดจากไวรัสโควิดมาแล้ว
ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน มีเวียดนามประเทศเดียวที่เศรษฐกิจยังเป็นบวก คือ 2.6% เพิ่มจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 0.4 % ส่วนประเทศอื่นๆ ยังติดลบอยู่ แต่ติดลบน้อยลง
สิงคโปร์ -7%, มาเลเซีย -2.7%, อินโดนีเซีย -3.5% ฟิลิปปินส์ -11.5%
สภาพัฒน์ ระบุสาเหตุที่เศรษฐกิจไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าไตรมาส 2 ว่า
การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยกว่าการลดลงในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกบริการลดลงต่อเนื่อง
การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.6 น้อยกว่าการลดลงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ และยกเลิกการจำกัดการเดินทางในประเทศ และการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวตามลำดับ
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงร้อยละ 7.5 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.8 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีแรงสนับสนุนจาก
(1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ
(2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
(3) แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และ
(4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.4 และร้อยละ 6.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ช่วงร้อยละ 0.7-1.7 และดุลบัญชี
การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 และปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ
(1) การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองในประเทศ
(2) การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ได้แก่ การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขา และพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว, การช่วยเหลือและดูแลแรงงาน, การรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น, การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุม และป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม และการดำเนินการด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
(3) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ ในเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 94.4 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 งบเหลื่อมปีให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70
(4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการลงทุนภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า, การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจถูกใช้ เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า, การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ, การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์
(5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ด้วยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง, การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต, การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ, การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทย และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
(6) การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง
(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ และ
(8) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ