xs
xsm
sm
md
lg

โจ ไบเดน กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ผู้นำทั่วโลกต่างแสดงความยินดีกับเขา ถึงแม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีในอีกไม่กี่สัปดาห์ จะยังไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้ และพยายามจะสู้ด้วยการฟ้องต่อศาลว่า มีการโกงเลือกตั้ง แต่ในที่สุดแล้ว ก็ไม่อาจจะกลับดำเป็นขาว เปลี่ยนจากผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะได้ ทำได้ก็เพียงซื้อเวลาช่วงสั้นๆเท่านั้น

การที่สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อโจ ไบเดน แม้ว่าจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกกลับมาดีขึ้น เนื่องจากนโยบายของไบเดนมีความประนีประนอมมากกว่าของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกรณีดังกล่าวยังส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกด้วย แต่ทั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยมากนัก

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่า ถ้ายุคของไบเดนเหมือนกับยุคของบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 ซึ่งเป็นยุคที่ภาษีสูง การใช้จ่ายสูง การเติบโตลดลง เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวแย่ลงใน 3 ด้านคือ การส่งออกลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น แต่เงินบาทจะอ่อนค่าลงในยุคของไบเดน เมื่อเทียบกับยุคของทรัมป์

ด้านนโยบายการค้า เชื่อว่าผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากในยุคที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดี การขึ้นภาษีในสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยชะลอตัวลง แต่จะได้รับการชดเชยบางส่วนจากความแน่นอนมากขึ้นในนโยบายการค้าจากคณะทำงานของไบเดน เมื่อเทียบกับความไม่แน่นอนที่มีสาเหตุจากนโยบายการค้าที่สับสนวุ่นวายของทรัมป์

ส่วนการเจรจาการค้าระดับภูมิภาค ทาง SCBS ประเมินว่า เนื่องจากไทยไม่ใช่สมาชิกกลุ่มความร่วมมือที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และไทยไม่น่าจะเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว เพราะรัฐบาลไม่มั่นใจว่าผลประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP จะมีมากกว่าต้นทุนหรือไม่

SCBS เชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากความรุดหน้าของกลุ่ม CPTPP นอกจากนี้แนวโน้มที่จะมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นไทยจะไม่ได้ทั้งประโยชน์หรือสูญเสียประโยชน์มากนักจากการที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยบางอย่าง อาจจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของห่วงโซ่อุปทานจีน ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายมุ่งเน้นพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าของไบเดน

ในขณะที่บทวิเคราะห์ ‘ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส’ (Krungthai COMPASS) เห็นว่า หากโจ ไบเดน เข้ามาเป็นผู้นำสูงสุดแล้ว ไทยจะได้รับอานิสงส์ด้านการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะการกลับมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ถูกตัดสิทธิไปถึงสองครั้งในสมัยของทรัมป์ และยังมีโอกาสสูงที่สหรัฐฯ จะกลับมาสานต่อความตกลง CPTPP อีกครั้ง หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (เดิมคือข้อตกลง TPP) ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่ไทยยังไม่ได้มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น เม็กซิโก และแคนาดา เพราะเป็นแนวคิดหลักตั้งแต่สมัยที่ บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และโจ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดี ในการสร้างจุดยุทธศาสตร์การค้าในฝั่งเอเชียและเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับจีน โดยเฉพาะข้อตกลง RCEP (ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี) ที่มีจีนเป็นหัวหอกหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายเบื้องต้นของไบเดนจะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจและภาพรวมการค้าโลก แต่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้ในระยะข้างหน้า เนื่องจากสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะดึงซัปพลายเชนสำคัญของโลกออกจากจีน โดยการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการส่งเสริมพลังงานสะอาด ทำให้มูลค่าตลาดรถยนต์ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะลดบทบาทตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และแน่นอนว่าจะกระทบผู้ประกอบการไทยที่เป็นซัปพลายเชนที่สำคัญของโลกในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายใน

เช่นเดียวกับความตกลง CPTPP อาจเพิ่มอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมเกษตรของไทย หากไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘เวียดนาม’ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกมากขึ้น เช่น กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลงที่หลายประเทศส่งออกเป็นสินค้าเกษตรหลัก เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น