ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถูกอกถูกใจได้ผลทั้งในเชิงจิตวิทยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจริงสำหรับโครงการร่วมจ่าย “คนละครึ่ง” ที่สร้างความคึกคักกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่ลงลึกถึงประชาชนรากฐาน พ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อยร่วมล้านร้านมีโอกาสทำรายได้ ทำให้ “ขุนคลัง” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จ่อชงเรื่องต่อเฟส 2 เป็นของขวัญปีใหม่ 2564 พร้อมกับแย้มตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจที่ติดลบเริ่มดีขึ้น
เมื่อกระแสม็อบที่ดึงความสนใจจากสังคมซาลงทำให้ประชาชนหันมาสนใจการทำมาหากิน และมองเห็นผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จับต้องได้อย่างโครงการร่วมจ่ายคนละครึ่งที่ได้รับส่วนลดกันเห็นๆ ถึง 50% หาบเร่แผงลอยก็เข้าร่วมโครงการได้ถ้วนหน้า ดูจากยอดขึ้นทะเบียนร้านค้าที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย ขณะที่การเปิดให้ลงทะเบียนเก็บตกรอบสองที่ให้สิทธิ์ร่วม 2 ล้านสิทธิ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แห่เข้าระบบกันพรึ่บเต็มภายในชั่วเวลาแค่ 3 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับช่วงที่เปิดโครงการครั้งแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 10 ล้านคน ใช้เวลาสิบกว่าวันถึงจะครบจำนวน
ผลในเชิงจิตวิทยาของโครงการดังกล่าว ทำให้ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปในช่วงปลายปีของทุกๆ ปีก็เป็นไฮซีซั่นของการใช้จ่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าปีนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัส-โควิด 19 บวกกับกระแสการเมืองนอกสภาที่ร้อนแรงมาฉุดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์บ้านเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ใครๆ ก็ไม่อยากควักตังค์ใช้จ่ายเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำมาหาได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาสุดขีดเช่นที่เกิดขึ้นในไตรมาสสองและสามที่ผ่านมาได้อย่างไร ไม่นับสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ เสถียรภาพรัฐบาลง่อนแง่น
มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประจวบในจังหวะพอดีกับข่าวคราวผลการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ผลดี และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ โจ ไบแดน จากพรรคเดโมแครต คว้าชัยชนะเหนือทรัมป์ แห่งรีพลับลิกัน ทำให้ทั้งโลกเกิดความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะนำพาแสงสว่างกลับคืนสู่เศรษฐกิจและการเมืองโลกอีกครั้ง
ตัวแปรสำคัญดังกล่าว หนุนส่งประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีความหวัง อย่างน้อยโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำเงินเข้าไทยมหาศาลก็มีโอกาสฟื้นเมื่อวัคซีนฯ ได้ผล ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวไปมาหาสู่กัน ทั้งยังมีความหวังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ทรัมป์ โหมกระพือมาตลอดช่วงสมัยของเขาจะสงบลง มีการชักฟืนออกจากไฟไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุน หุ้นทั่วโลกทะยานขานรับ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า เศรษฐกิจวันนี้เริ่มดีขึ้น โดยดัชนีเศรษฐกิจชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ราคายางพารา ฉะนั้นกำลังซื้อภาคเกษตรและชนบทดีขึ้นแน่ๆ จากนี้ต้องติดตามยอดขายรถปิกอัพในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นดัชนีสะท้อนสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“ขุนคลัง” อธิบายว่า เหตุที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเติมเงินจากภาครัฐอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ จึงออกมาตรการให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายด้วย จึงเกิดมาตรการต่างๆ เช่น ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน และร่วมจ่ายคนละครึ่ง สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะแรก นั้นได้ผลเป็นน่าพอใจ ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงต้นปี 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
นายอาคม บอกว่า เบื้องต้นโครงการคนละครึ่งเฟส 2 จะเริ่มต้นในปี 2564 ส่วนจะเพิ่มสิทธิมากกว่า 10 ล้านคนหรือเพิ่มวงเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาทหรือไม่ จะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ใช้ โดยจะข้อสรุปได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 จะใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูผลกระทบโควิด-19 จำนวน 400,000ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินที่นำมาใช้จ่ายได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนการใช้จ่ายจะต้องทำรายละเอียดเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พิจารณาเสียก่อน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับคนที่ลงทะเบียนในเฟสแรก จะต้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับจำนวน 3,000บาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนระยะ 2 กระทรวงการคลัง จะมีปุ่มหรือข้อความให้คนลงทะเบียนเฟสแรกยืนยันว่าจะเข้าร่วมมาตรการต่อหรือไม่ ซึ่งถ้าเข้าร่วมมาตรการต่อในปีหน้าก็จะได้รับเงินเพิ่มในส่วนของเฟส 2 ขณะที่ผู้ที่ลงทะเบียนคนละครึ่งในเฟส 2 นั้น จะไม่ได้รับเงิน 3,000 บาทในเฟสแรก แต่จะได้รับเงินตามสิทธิในเฟส 2 เท่านั้น
หลังจากรัฐบาลเปิดให้ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลจะช่วยจ่าย 50% แต่ไม่เกินวันละ 150 บาท สูงสุดต่อคนไม่เกิน 3,000 บาท หากนับเวลาการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเงินสะพัดในระบบแล้วกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง คาดว่ามาตรการดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนตลอดโครงการ 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีได้ราว 0.3%
สำหรับจีดีพี ปี 2563 กระทรวงการคลัง ประเมินว่า มีแนวโน้มหดตัวลงน้อยกว่าที่เคยคาดเอาไว้จากกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
“การฟื้นตัวที่ดีสะท้อนได้จากไอเอ็มเอฟปรับคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ดีขึ้น จาก -7.7% เหลือ -7.1% และกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับคาดการณ์จีดีพีปีนี้ดีขึ้นจาก -8.5% เหลือ -7.7% และคาดว่าสภาพัฒน์ที่จะรายงานตัวเลขในสัปดาห์หน้าจะปรับดีขึ้นด้วย” นายอาคม ให้ความเชื่อมั่น
แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 4 ตัว คือ การลงทุนของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ การส่งออก และการทองเที่ยว ยังทำงานได้ไม่ครบเครื่องทั้งหมด ยังขาดเครื่องยนต์ในส่วนการลงทุนจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นกลับคืนมา ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นหนุนเสริมผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้า
ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บภาษียังคงเป้า 2.08 ล้านล้านบาท ไม่ปรับลด แม้ว่ามีโอกาสที่การจัดเก็บภาษีจะต่ำเป้าจากมาตรการช่วยเหลือทางภาษีแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งราวๆ กลางปีหน้า ประมาณเดือนมิถุนายน กระทรวงการคลัง จะประเมินอีกครั้งว่าการจัดเก็บรายได้เป็นอย่างไร ต้องกู้เพิ่มหรือไม่ เพิ่มอีกเท่าไหร่ ค่อยมาดูกันอีกครั้ง
ขณะที่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานดินเนอร์ทอล์ก “Sharing our common future” ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน จัดโดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8% เพราะผลกระทบจากโควิด-18 กระทบกล่องดวงใจของเศรษฐกิจไทยคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่มีการจ้างงานถึง 20% แถมซ้ำด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงขึ้นไปอยู่ที่ 84% จาก 80% ก่อนหน้านี้ ขณะที่ตัวเลขคนตกงานและได้รับผลกระทบรวมแล้วถึง 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ดร.โสภี สงวนดีกุล ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ แถลงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4/2563 ว่า มีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจประเทศไทย โดยมีนโยบายการคลังและการเงินเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการ โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน นโยบายการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจและครัวเรือน นโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ และการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในต่างประเทศ ที่จะมีส่วนช่วยให้ได้รับอานิสงส์ผ่านการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือ ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ช้า จากโครงสร้างที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ส่งผลให้กำลังซื้อครัวเรือนยังอ่อนแอ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาอีก 2 ปี ถึงจะกลับคืนสู่สภาพก่อนโควิด-19 ระบาด
“ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูง สอดคล้องต่อการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ด้านอุปสงค์ต่างประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว และการผลิตในบางหมวดสินค้าปรับดีขึ้น” ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ ให้ภาพรวม