xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจฟื้นเกินคาด ฟันธงจีดีพีทั้งปีเหลือลบแค่ 6% แย้ม“คนละครึ่ง”เฟส3มาแน่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 3 หดตัวน้อยลงเหลือลบ 6.4% หลังคลายล็อกดาวน์ ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมปรับคาดการณ์จีดีพีทั้งปีใหม่ลบเหลือ 6% จากเดิมลบ 7.5% และพลิกเป็นบวก 3.5-4% ในปี 64 จับตาปัจจัยเสี่ยง อัตราว่างงาน โควิด-19 ระบาดรองสอบ หนี้ครัวเรือน “อาคม”ย้ำเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว คาดไตรมาส 4 ดีขึ้นอีก เซ็นสัญญากู้เงินเอดีบี 4.5 หมื่นล้าน ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มั่นใจไม่ต้องขยายวงเงินพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน พร้อมสั่ง สคร. เร่งรัดงบลงทุนโครงการ PPP และเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ แย้ม “คนละครึ่ง” เฟส 3 มาแน่ หลังตอบรับดี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 ติดลบ 6.4% เป็นการติดลบน้อยลงจากไตรมาส 2/2563 ที่ติดลบ 12.1% โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้กิจกรรมกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 ฟื้นตัวขึ้นหลังจากติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 2/2563 ทำให้ช่วง 9 เดือน เศรษฐกิจไทยติดลบเหลือเพียง 6.7%

ทั้งนี้ สศช.ยังได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดีขึ้น เป็นติดลบ 6% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วงเดือนส.ค.2563 ว่าจะติดลบ 7.5% และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2564 ที่ 3.5-4.5% จากปัจจัยการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ การเปิดสเปเชียลทัวริสต์วีซ่า และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก ขณะที่การเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70% ของเงินกู้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง สศช.ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพื่อหามาตรการรองรับ และสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ การระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในต่างประเทศที่ส่งผลให้มีการปิดเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมทั้งความเสี่ยงในเรื่องประสิทธิภาพและการขนส่งวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนใช้ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3/2564 และในไตรมาส 3/2563 ยังพบผู้ว่างงาน 740,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.90% ใกล้เคียงกับ 1.95% จากไตรมาส 2 โดยพบว่าแรงงานอายุน้อยและการศึกษาสูงมีปัญหาการว่างงานมากกว่าคนกลุ่มอื่น ขณะที่แรงงานในระบบมีการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 488,000 คน คิดเป็นอัตราผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตันภาคบังคับที่ 4.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 3.5%

ส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/63 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งชะลอลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/63 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางการเงินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบถึง 7.7% และในปี 2564 เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวเติบโตได้ถึง 4% แสดงว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลเดินหน้าคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้ และทำให้เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/63

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับการยืนยันว่าจะมีหลายมาตรการในการดูแล ส่วนเงินไหลเข้า เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดหุ้นของไทยที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐฯ รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

วันเดียวกันนี้ รมว.คลังได้ลงนามความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในวงเงินกู้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการภายใต้แผน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สำหรับแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

นายอาคมกล่าวว่า วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท ยังมีเพียงพอใช้ในการดูแลประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบการกู้เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่แน่นอน ส่วนการเลือกกู้เงินจากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเสียดอกเบี้ยไม่สูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน ระยะ 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่าง 0.50% ต่อปี ขณะเดียวกันภาครัฐยังต้องการเหลือสภาพคล่องในประเทศ เพื่อให้กับภาคเอกชนใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้สบน.ได้ทำการกู้เงินภายใต้กรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไปแล้ว 3.38 แสนล้านบาท เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนจะมีการกู้ต่างประเทศเพิ่มหรือไม่ ต้องดูความจำเป็นในการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการกู้ต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า ได้สั่งให้ สคร. เร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วมทุนกับภาคเอกชน (PPP) ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน โดยมีการอนุมัติโครงการ PPP ไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งบางโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็ให้เร่งมีการเบิกจ่าย ส่วนโครงการใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ให้เกิดความล่าช้า รวมถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท ได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ 95% ของงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติ

ขณะที่ปี 2563 รัฐวิสาหกิจได้อนุมัติงบลงทุน วงเงิน 3.7 แสนล้านบาท มีเป้าหมายการเบิกจ่าย 95% คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย เพราะในช่วงที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบประมาณได้ราว 80-82% ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ

นายอาคมกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงโครงการคนละครึ่งว่า โครงการได้รับการตอบสนองด้วยดี ซึ่งตนได้แจ้งไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงการต่ออายุมาตรการ ในระยะ 2 และจะมีในระยะ 3 เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ ในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ ยอมรับว่า ดีขึ้นเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ยังทำไม่ได้ 100%


กำลังโหลดความคิดเห็น