รมว.คลัง ลงนามสัญญากู้เงินร่วมกับ ADB เพิ่มอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ เล็งกู้ต่างประเทศต่อ หลังแบงก์ต่างประเทศเสนอแพกเกจช่วยเหลือโควิด-19 เข้ามาเพียบ ด้าน สบน. เผยกู้ ADB ดอกเบี้ย 0.5% อัปเดต พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กู้ไปเพียง 3.38 แสนล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ว่า การกู้เงินร่วมกับ ADB ในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาประเทศ
รวมทั้งช่วยเหลือ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีแผนการกู้เงิน วงเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนในระยะต่อไปจะมีการกู้เงินจากต่างประเทศอีกหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากมีสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งได้เสนอแพกเกจความช่วยเหลือด้านโควิด-19 เข้ามาเหมือนกัน
“เมื่อประสบปัญญาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ADB ได้กันวงเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ไว้ให้ประเทศไทยกู้เงินไปพัฒนานา และช่วยเหลือดูแลผลกระทบไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ไทยได้กู้เงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนงบประมาณในการดูแลโควิด-19 ซึ่งการกู้ผ่าน ADB เป็นการกระจายการกู้เงิน ไม่ให้กู้เฉพาะในประเทศทั้งหมด เพราะภาคเอกชนอาจจะได้รับผลกระทบ และเราก็เลือกกู้ต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำสุดด้วย”
สำหรับการกู้เงินดังกล่าวจะนำมาใช้ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์ ตามเงื่อนไข พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.ใช้เพื่อสนับสนุนการแพทย์และสาธารณสุข 2.ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบผ่านการเยียวยา 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น และ 3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ก็อยู่ระหว่างการทยอยเบิกจ่ายเงิน
ขณะที่การพิจารณาขยายกรอบการกู้เงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ยังมองว่ามีวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ ซึ่งยังไม่มีแนวคิดที่จะกู้เงินเพิ่ม ส่วนการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน จะพิจารณาว่าหน่วยงานใดขอใช้ผ่านโครงการส่วนใดบ้าง และจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำแหล่งเงินทุนมาจากส่วนใด
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินร่วมกับ ADB ในครั้งนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้น (BIBOR) 0.5% ส่วนการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุด มีการกู้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 34% ของแผนการกู้เงิน