นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง คาดว่าเศรษฐกิจในปี 63 จะหดตัวน้อยกว่าที่กระทรวงการคลังเคยคาดว่าจะติดลบถึง -7.7% และในปี 64 เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวเติบโตได้ถึง 4% หลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 3/63 ที่หดตัว -6.4% ซึ่งดีขึ้นจากไตรมาส 2/63 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลเดินหน้าคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินได้ และทำให้เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/63
สำหรับ GDP ปี 63 นั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะมีการประเมินใหม่ โดยยอมรับว่าปีนี้ GDP ปีนี้ติดลบแน่นอน แต่เบื้องต้น หากมองจากปัจจัยบวกและเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ที่ดีขึ้น เป็นไปได้ว่าปีนี้จะติดลบน้อยกว่า -7.7% ส่วนปี 64 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ระดับ 4% โดยยังต้องจับตาภาคการท่องเที่ยว หากสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น
"สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือ การใช้จ่ายของประชาชนในไตรมาส 3/63 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 6.3% แต่ยังติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐเป็นบวกที่ 18% เป็นเครื่องยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี และช่วงที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการป้องกันไว้ก่อน เมื่อถึงจุดที่มั่นใจแล้วว่าไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศ รัฐบาลก็ทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์และใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังใช้ความพยายาม ใช้ความสามารถอย่างที่สุดในการดำเนินการ เพราะการใช้เงินกระตุ้นการใช้จ่ายตรงนี้จะทำให้เกิดผลทวีคูณกลับมา" นายอาคม กล่าว
สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท. ยืนยันว่ามีหลายมาตรการในการดูแล ส่วนเงินไหลเข้านั้นเป็นผลมาจากภาพรวมตลาดหุ้นของไทยที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยสนับสนุนในเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐฯ รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย
รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของการไหลเข้าของเงินทุนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องบริหารในหลายๆ ด้าน และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีสิ่งที่ต้องระวังตามมาคือการเก็งกำไร โดยทั้งหมดต้องช่วยกันทั้งมาตรการทางการเงินของ ธปท. และมาตรการทางการคลังของกระทรวงการคลัง
"การไหลเข้าของเงินทุนต้องไปดูในรายละเอียด เพราะมีมาจากหลายแหล่ง ตอนนี้เป็นเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้าก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรได้ ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของไทยยังไม่ถึงเวลาในการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงต่างๆ ที่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี จากที่ผ่านมามีเพียงการนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับสีเหลืองเท่านั้น โครงการต่างๆ จึงยังต้องใช้เวลา ดังนั้น อาจจะต้องมาดูในส่วนของเงินกู้ว่ามีส่วนไหนครบกำหนดเวลาชำระ จะได้จ่ายเงินดอลลาร์ออกไปก็จะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง" นายอาคม กล่าว