xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้ ศก.Q3 ชะลอน้อยกว่าคาด เก็ง กนง.คงดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 หดตัวดีกว่าที่ตลาดคาดที่ -8.0% YoY โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ฟื้นตัวดีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้าหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศรวมถึงไทย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่าจะยังหดตัวอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวไม่ต่ำกว่า -7.0%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ ได้แก่ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้นมากในสหรัฐฯ และยุโรป และนำมาสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบในหลายประเทศในยุโรป ในขณะที่การเข้าถึงวัคซีนในระดับประชากรโลกว่าจะเกิดขึ้นไม่เร็วไปกว่าช่วงปลายปี 2564 2.เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงสูง โดยการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศของสหรัฐฯ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตโควิด-19 ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรครีพลับลิกันจะยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาไว้ได้ ซึ่งทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะทำได้ยาก

และ 3.ความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญไม่ได้ลดลง ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่ยังควบคุมไม่ได้ และอาจจะมีผลกระทบต่อแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยงต่างชาติของไทยในปีหน้าให้อยู่ในวงจำกัดมากกว่าที่วางแผนไว้ ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออก ซึ่งปัจจัยที่มากระทบรายได้จากต่างประเทศดังกล่าวจะมีผลกลับมายังการจ้างงานในประเทศที่ลดลง และกระทบการใช้จ่ายครัวเรือน รวมไปถึงคุณภาพของสินเชื่อในระบบการเงิน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องไปยังปีหน้า

ส่วนในการประชุม กนง. วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิมเนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่คณะกรรมการน่าจะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ และช่วยเสริมกลไกการทำงานของมาตรการกระตุ้นด้านการคลังได้ รวมถึงการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมองว่า มาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยน่าจะช่วยดูแลประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทได้ตรงจุดกว่า ทั้งนี้ สัญญาณจากงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด (14 ต.ค.) สะท้อนว่า ธปท. ตระหนักถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยง และอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้แก่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น