ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตื่นตะลึงอึ้งกันไปพักใหญ่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความสถานะ “ธนาคารกรุงไทย” ออกมาว่าพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะปริวิตกกันว่า จะเป็นการแปรรูปให้กลายเป็นเอกชนแล้วนำสมบัติชาติออกไปเร่ขายกระทั่งมองข้ามช็อตโยงไปถึงการหมากกลการแปรสภาพซ่อนรูปผ่านการถือหุ้นของบริษัทลูกหลานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นที่อาจมีตามมา โดยยกกรณีของกระทรวงคมนาคม ที่เตรียมการชำแหละการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้วยการแตกบริษัทลูกออกเป็นบริษัทในเครือและกลายสภาพเป็นเอกชนในที่สุดหรือไม่
กระแสข่าวลามปามขยายความกันไปยกใหญ่ โยงกลับมาหาว่ากรุงไทยจะกลายเป็นเอกชนหรือไม่ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมายืนยันซ้ำ แบงก์กรุงไทย ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนฟื้นฟูฯ หน่วยงานของรัฐใต้สังกัดแบงก์ชาติ อย่าเข้าใจผิดว่าเอกชนจะเข้ามาควบคุม
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเผยว่า ครม. เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) เพื่อรองรับกรณีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทย หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หน่วยงานของรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทย
โดยร่างระเบียบดังกล่าว ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้หน่วยงานผู้เบิกเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อที่หน่วยงานผู้เบิกเงินสามารถใช้บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยได้ต่อไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน และทำให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันโครงการสำคัญของภาครัฐสามารถให้บริการกับหน่วยงานผู้เบิกต่อไปได้
ทั้งนี้ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ข้อ 20 (1) ที่ถือปฏิบัติแต่เดิมนั้น มีข้อกำหนดว่า การเบิกเงินจากคลังให้หน่วยงานผู้เบิกเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชีและเงินนอกงบประมาณหนึ่งบัญชี ซึ่งการกำหนดดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกิจการของรัฐ
ก่อนหน้าที่คลังจะนำเรื่องเข้าครม. ทางธนาคารกรุงไทย ได้ขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาให้หน่วยงานของรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทยต่อไปได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 เนื่องจากธนาคารยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ว่าด้วยการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือโดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ
กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าแบงก์กรุงไทย พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ แบงก์กรุงไทยก็ทำเรื่องถึงกระทรวงคลัง ขอให้หน่วยงานรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากกับแบงก์กรุงไทยต่อไป เพราะแบงก์ยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ หลังจากนั้น กระทรวงการคลัง ก็ยกร่างระเบียบโดยแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมที่ให้หน่วยงานรัฐฝากเงินกับ “ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ” ก็เพิ่มเป็น “หรือธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง” เสนอครม. ซึ่งครม.ก็อนุมัติตามนั้น
“ขุนคลัง” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลในการเสนอเรื่องเข้า ครม. เพื่อขอ เห็นชอบบทบาทของกรุงไทยว่ายังเป็นหน่วยงานของรัฐตามเดิมตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือว่าไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และแม้ว่าไม่ใช่รัฐวิสาหกิจภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณ แต่คำว่ารัฐวิสาหกิจอยู่ในหลายกฎหมาย ซึ่งกฎหมาย ธปท.ยังถือว่ากรุงไทยเป็นหน่วยงานรัฐ เนื่องจาก ธปท.ถือหุ้นใหญ่ในกรุงไทย ผ่านการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯ
ส่วนการฝากเงินของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สามารถทำได้เหมือนเดิม และแบงก์กรุงไทยยังเป็นกลไกดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, “คนละครึ่ง”, “เราเที่ยวด้วยกัน”, “ช้อปดีมีคืน” รวมทั้งการเปิดบัญชีของหน่วยงานรัฐที่เชื่อมโยงกับกรมบัญชีกลาง ก็ยังดำเนินการได้เหมือนเดิม
และด้วยว่า แบงก์กรุงไทย จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องแจ้งความเปลี่ยนแปลงสถานะของแบงก์ต่อผู้ถือหุ้น โดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ทำหนังสือรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ หรือ SET โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แจ้งให้ธนาคารทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งการเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารตามความเห็นข้างต้นอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ หากได้ความชัดเจนแล้วธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารจนได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518
สำหรับสวัสดิการที่เคยได้อยู่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น นายผยง กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยในปัจจุบันไม่ได้พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน เป็นเพียงเรื่องของการถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ไม่ว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่างๆ ก็ออกมาจากกิจกรรมของธนาคาร จึงเรียกว่าเราเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สำหรับสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 คือ คำนิยามของคำว่ารัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 หมายความว่า 1.องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ 2.บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ 3.บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
ตามข้อมูลจาก set.or.th ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของธนาคารกรุงไทย คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือหุ้นอยู่จำนวน 55.07% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยวินิจฉัยแล้วในปี 2543 ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 และมีการใช้พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยม “รัฐวิสาหกิจ” ใหม่
การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนิยามรัฐวิสาหกิจใหม่ดังกล่าว ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จึงทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ขอให้วินิจฉัยว่ากองทุนฟื้นฟูฯ มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของธนาคารกรุงไทย เนื่องจากคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” มีการนิยามในกฎหมายหลายฉบับและมีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงสถานะของแบงก์กรุงไทย สะเทือนมาถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของแบงก์ และผลต่อการถูกเลิกจ้าง อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดย นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของธนาคารกรุงไทย ต้องพ้นสภาพไปด้วย แต่สามารถจัดตั้งสหภาพฯ ได้ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ผอ.สคร. ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าว อาจส่งผลให้พนักงานถูกเลิกจ้างได้ง่ายกว่ากฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ส่วนการยื่นตีความสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของธนาคารกรุงไทย ไม่มีเจตนา นำไปสู่การลดจำนวนพนักงานปัจจุบัน แต่ผลเป็นสืบเนื่องจากการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งไม่ได้ระบุสถานะชัดเจน เหมือนกฎหมายแบงก์ชาติฉบับก่อนหน้า
ขณะที่นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เตรียมประชุมเตรียมนัดประชุมปัญหาดังกล่าว ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อติดตามปัญหาที่อาจกระทบพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 29,000 คนทั่วประเทศ
การเปลี่ยนแปลงสถานะของแบงก์กรุงไทย ที่ยังต้องทำความชัดเจนถึงผลที่จะตามมาอีกหลายส่วน ดังเช่นผลกระทบต่อพนักงาน และยังมีกระแสข้อห่วงกังวลว่าจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นเอกชนในที่สุดหรือไม่ ทำให้ นายนภดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกคำแถลงข้อวินิจฉัยถึงสถานะของแบงก์กรุงไทยซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าแบงก์กรุงไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของเอกชน ตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด
ก็เป็นอันว่า “จบข่าว” ณ เพียงเท่านี้