โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกรัฐมนตรีย้ำเวทีอาเซียน-ออสเตรเลีย หนุนความร่วมมือ ศก.ดิจิทัล-ชีวภาพฟื้นฟูหลังโควิด-19
วันนี้ (14 พ.ย.) เวลา 10.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี และเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศจาก เวียดนาม ลาว ไทย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และผู้แทนจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และ มาเลเซีย และ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปผลการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวเปิดการประชุมว่า เป็นการหารือเพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในการประสานงานระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย ภายใต้แนวคิดการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟู (A Strong Partnership for Recovery) ผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งขอบคุณในการสนับสนุนความช่วยเหลือผ่านกองทุนฟื้นฟูต่างๆ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อตอบรับความท้าทายและส่งเสริมศักยภาพในภูมิภาคร่วมกัน
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชื่นชมในการรับมือโควิด-19 ของอาเซียน ที่ใช้ความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหา เเละออสเตรเลียจะเป็นหุ้นส่วนในการฟื้นฟูหลังโควิด-19 กับอาเซียน เพราะเป็นความมั่นคงร่วมกัน โดยทางออสเตรเลียได้ร่วมสนับสนุนกองทุนต่างๆ เช่น การสนับสนุนความมั่นคงทางทะเล ความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือลุ่มเเม่น้ำโขง เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ย้ำถึงความสมดุลและความเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกัน
นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า ไทยยินดีที่อาเซียนและออสเตรเลียรักษาพลวัตของปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลอดระยะเวลา 46 ปี ความสัมพันธ์ของอาเซียน-ออสเตรเลีย เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพที่ครอบคลุมทุกมิติและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขวิกฤตและฟื้นฟูสังคมให้พัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ รวมทั้งคำนึงการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้
นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการวางรากฐานสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอ 2 สาขาความร่วมมือ ได้แก่
1. ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผ่านข้อริเริ่มมาตรฐานการค้าดิจิทัลอาเซียน-ออสเตรเลีย รวมทั้งพัฒนาเมืองเพื่อรองรับยุคดิจิทัลผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน
2. ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่อาเซียนมีศักยภาพและมีต้นทุน อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ ไทยมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ซี่งใช้ในการส่งเสริมความร่วมมือผ่านการศึกษาและวิจัย โดยดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรมระหว่างสมาชิกและภาคีภายนอก รวมทั้งได้เสนอให้ออสเตรเลียพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือด้าน BCG กับศูนย์อาเซียนฯ ต่อไป
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันว่า อาเซียน-ออสเตรเลีย เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ ออสเตรเลียยืนยันที่จะมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอกับอาเซียน และพร้อมเคียงข้างเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกับอาเซียน รวมถึงการขยายไปยังช่องทางใหม่ๆ ให้มากขึ้น ตลอดจนย้ำที่จะร่วมกับอาเซียนในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ใช้วัคซีนตามมาตรฐานโลก โดยออสเตรเลียยินดีที่จะแบ่งปันในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาคมโลก