“ประยุทธ์” ประชุมผู้นำอาเซียน ย้ำไทยมุ่งสานต่ออาเซียน-อินเดีย สนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาค ร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และยั่งยืน
วันนี้ (12 พ.ย.) เวลา 17.50 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 17 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมด้วยนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่า เป็นการทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดีย ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคตให้พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนว่า เป็นศูนย์กลางของนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย และพร้อมจะร่วมกับอาเซียนเพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ รวมทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยย้ำความร่วมมือกันรับมือกับโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของยา การป้องกัน การรักษา ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระบบสาธารณสุข และการวิจัย อินเดียยินดีส่งเสริมการพัฒนากับประเทศอาเซียน และสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล เพื่อเป็นส่วนสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย รวมทั้งประสงค์เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน ตลอดจนยินดีที่จะมีการทบทวนกลไก และความร่วมมือภายหลังโควิด-19 เพื่อเพิ่มความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาจขยายไปสู่ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และความร่วมมืออื่นๆ ที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ว่าอาเซียนยินดีกับการมีส่วนร่วมของอินเดียในภูมิภาคตามแนวนโยบายมุ่งตะวันออก และเห็นว่าความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างกันจะช่วยเสริมสร้างสันติสุข เสถียรภาพ และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนเพิ่มพูนความเข้าใจของประชาชนทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบของโรคโควิด-19 และเร่งให้เศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าอินเดียจะให้การสนับสนุนอาเซียนในทุกโครงการด้านสาธารณสุข โดยอาเซียนคำนึงถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะความร่วมมือในการวิจัย พัฒนา ผลิต กระจายยาและวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือภายใต้กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ
นอกจากนี้ ไทยย้ำถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจว่า อาเซียนคำนึงถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการค้าร่วมกันจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยอาเซียนจะยึดมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และขอย้ำว่า อาเซียนยังคงรอต้อนรับอินเดียในการเข้าร่วมความตกลง RCEPและพร้อมสนับสนุนสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือในการการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ SMEs ผู้ประกอบการสตรี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตลอดจนอาเซียนสนับสนุนให้อินเดียมีบทบาทส่งเสริมการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 (MPAC 2025) สอดคล้องกับแนวคิด “การเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ” ของอาเซียน โดยจะผลักดันโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-พม่า-ไทย และส่วนขยายไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามให้ดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมยินดีที่อินเดียสนใจจะขยายความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมได้ภายใต้หลักการของ AOIP และ IPOI รวมทั้งชื่นชมบทบาทของอินเดียในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมไอทีในกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม รวมทั้งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่า อาเซียนมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียให้ก้าวหน้าอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียนตามแนวทางภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ ค.ศ. 2021-2025 เพื่อให้ภูมิภาคเติบโตอย่างเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับโอกาสและความท้าทายต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต