ธุรกิจโรงแรมแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากบาดแผลทางเศรษฐกิจเพราะพิษโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ส่งผลให้ Q3 โรงแรมยักษ์ใหญ่ขาดทุนอ่วม ยอมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหายกระทบรายได้ทรุด ขณะประสานเสียงเริ่มเห็นแสงสว่าง ผลจากการคลายล็อกดาวน์บวกกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว และเปิดให้ต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศ เชื่อไตรมาส 4 น่าจะพอยิ้มได้ เพราะการค้นพบวัคซีนป้องกันใกล้ความจริง อาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศพลิกกลับสู่ภาวะปกติ อีกทั้งการหดตัวทางเศรษฐกิจ Q3 ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดเล็กน้อย
จากสถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศไทย ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 อัตราเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวเมื่อเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 77.97% จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดหนักอย่างหนักเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลงเหลือ 58.39% และลดวูบเหลือ 20.82% ในเดือนมีนาคม ก่อนปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.26% หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้า และยังต้องใช้เวลารอให้สถานการณ์แพร่ระบาดในไทยดีขึ้นเป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือน ทำให้อัตราเข้าพักในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 3.83% ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 13.48% หลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์การเดินทางในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น หัวหิน ชะอำ พัทยา และกาญจนบุรี
ขณะที่กระแสการผ่อนคลายดังกล่าว ส่งผลให้อัตราเข้าพักฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25.41% และขยับอีกนิดในเดือนสิงหาคมเป็น 26.93% และเดือนกันยายนอยู่ที่ 27.98% เห็นได้ว่าอัตราการฟื้นตัวเริ่มนิ่ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานรัฐด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องเร่งหาวิธีแก้ไข เพื่อให้อัตราเข้าพักพ้นจากจุดวิกฤตซึ่งอยู่ที่ 28% สอดคล้องกับการรายงานอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ GDP เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ที่สรุปผลประเมินออกมาว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยหดตัวน้อยลงที่ -6.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ เทียบกับ -12.1% ของปีก่อนในไตรมาส 2/2563 สะท้อนเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดหลังมีมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง รวมถึงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน
ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานต่ำในปีผ่านมา การจัดทำงบประมาณล่าช้า และการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนเอกชนและภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการหดตัวที่ -6.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 นับเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่สำนักวิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งประเมินไว้ ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่เคยคาดไว้เล็กน้อย โดยเฉพาะการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน จึงทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้มีโอกาสหดตัวน้อยกว่าที่คาดที่ -7.8% สำหรับในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) แต่การค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะพลิกฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวสูงกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 3.5%
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ประธานสมาคมโรงแรมไทย เผยมุมมองภาพรวมกิจการโรงแรมหลังวิกฤตโควิด-19 และผลกระทบ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแง่ของการสูญเสียจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการที่กระทรวงการท่องเที่ยวรายงานตัวเลขผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าที่เกือบจะเป็นศูนย์มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาพรวมอุดสาหกรรมอย่างมาก โดยรายได้กลุ่มการท่องเที่ยวในปี 2562 อยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท ประกอบด้วย 2 พันล้านบาท จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 1.1 พันล้านบาท จากนักท่องเที่ยวในประเทศ ขณะเดียวกัน จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ประเมินว่าโรงแรมในประเทศจะปลดพนักงานไม่น้อยกว่า 35-50% เพราะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการชดเชยต่างๆ ช่วงเวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวซึ่งกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดของกลุ่มโรงแรมราวๆ 24% ต่อรายได้รวม
"คาดว่ากลุ่มโรงแรมจะไม่เพิ่มจำนวนพนักงานกลับสู่ระดับในปี 2562 แม้สถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ เพราะมีทางเลือกในการจ้างบุคคลภายนอกและพนักงาน part-time แม้ว่าโรงแรมที่จดทะเบียนจะกลับมาเปิดให้บริการเกืบทุกสาขาแล้ว แต่มีเพียง 10-20% ของโรงแรมทั้งหมดในแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต หรือสมุย ที่กลับมาเปิดให้บริการได้ ขณะที่รายอื่นๆ ยังปิดให้บริการอยู่"
อย่างไรก็ตาม มองว่าในอนาคตกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคาดว่าหลังจากกรุ๊ปทัวร์แล้วจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่กลับมาเป็นกลุ่มแรกๆ และมองว่ากลุ่ม MICE จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายที่จะกลับเข้ามา ขณะสำนักข่าวญี่ปุ่น ได้เผยมุมมองต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไทยขณะนี้ว่า จากสถานการณ์โรงแรมในภูเก็ตที่ผู้ประกอบการกังวลว่าหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือมาตรการที่จะโฟกัสไปยังกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเฉพาะในภูเก็ตด้วยแล้ว ผู้ประกอบการโรงแรมอาจจะต้องปิดกิจการเพิ่ม และอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างคนงานที่มีอยู่ในสถานประกอบการมากกว่าแสนชีวิต เพราะเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตต่างจากที่อื่น เพราะมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยพิจารณาจาก GDP ที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 94%
“ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก และขนาดย่อม อาจจะต้องปิดกิจการไปก่อนเพราะสายป่านสั้น ตามด้วยรายใหญ่ก็คงไม่รอดง่ายๆ เพราะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แม้จะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนไทย การใช้จ่ายของคนไทยไม่สามารถชดเชยส่วนต่างได้ โดยจากการไปลงพื้นที่ที่จังหวัดภูเก็ตโรงแรมขนาดใหญ่ มีห้องกว่า 100 ห้อง กลับมีนักท่องเที่ยวเช็กอินแค่ 2-3 ห้อง โดยพนักงานของโรงแรมต้องสลับกันมาทำงาน และรับเงินเดือนไม่เต็มเดือน อีกทั้งยังไม่มี service charge และต้องปรับกลยุทธ์การบริการ เป็นร้านอาหารแบบเดลิเวอรี และทำข้าวกล่องขาย เพื่อให้โรงแรมอยู่ได้และพนักงานมีงานทำ”
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรมและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุดจากผลประกอบการที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งล่าสุด MINT แจ้งงบผลงานไตรมาส 3 ขาดทุน 5,595.23 ล้านบาท ลดลง 222% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,560.33 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนขาดทุน 15,816.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,929.48 ล้านบาท
ขณะที่ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 MINT มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16 จำนวน 1.41 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นได้อย่างหมาะสมเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อเทียบผลการดำเนินงานบนพื้นฐานการรายงานเดียวกัน (จากการดำเนินงานและไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 4.4 พันล้านบาท
นายเอ็มมานูเอล จู๊ด ดิลิปรัจ ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ไมเนอร์ โฮเทลส์ ได้กลับมาเปิดให้บริการโรงแรมแล้วจำนวนกว่า 80% ของโรงแรมทั้งหมด ส่งผลให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของของโรงแรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากเพียง 9% ในไตรมาส 2/63 เป็น 32% ขณะที่ส่วนของรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนฟื้นตัว โดยติดลบลดลงจาก 91% ในไตรมาส 2/63 เป็น 63% ส่วนกิจการต่างประเทศเช่น โรงแรมในประเทศออสเตรเลีย มีการฟื้นตัวที่เร็วที่สุด ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนที่ลดลงเพียง 32% โดยปัจจุบันรายได้รวมทั้งหมดของ MINT มาจากธุรกิจโรงแรมคิดเป็น 86% ของรายได้รวม ซึ่งบริษัทยังเดินหน้าขยายโรงแรมต่อเนื่อง จากปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมกระจาย 57 ประเทศ และ 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงแรมเป็น 88% ของรายได้รวม โดยมีโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็น 750 แห่ง จากปี 2562 มี 535 แห่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทจะมีรายได้ที่ปรับตัวลดลงจากการปิดให้บริการของโรงแรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดประเทศ ทำให้รายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขาดหายไป แต่ จากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลที่ยังมีความยืดหยุ่น ทำให้ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆในเครือยังสามารถเปิดให้บริการในแบบซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ หรือผ่านฟูด เดลิเวอรีแบรนด์ต่างๆ ทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 ส่งผลให้ไมเนอร์ ฟู้ด มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นในไตรมาส 3/63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งช่วยชดเชยรายได้จากส่วนของธุรกิจโรงแรมที่ขาดหายไป
ทั้งนี้ ประเมินว่าในไตรมาส 4/63 แนวโน้มทางธุรกิจโดยรวมจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ได้พยายามลดและควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส และด้วยโอกาสความเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนและผันผวนมาก ด้วยเหตุนี้ MINT จึงแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ในช่องทางใหม่ๆ ควบคู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดการลงทุนอย่างเข้มงวดในทั้ง 3 ธุรกิจ และทุกภูมิภาค และติดตามฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะมีกระแสเงินสดรับและผลกำไรกลับมาเป็นบวกในปี 64 จากความคาดหวังของความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและแผนกลยุทธ์การหมุนเวียนสินทรัพย์ของบริษัท
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC แจ้งผลงานไตรมาส 3/2563 (ก.ค.-ก.ย.) ปรับตัวดีขึ้น 29.3% จากไตรมาส 2/2563 โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 3/2563 ที่ 1,225 ล้านบาท หรือลดลง 61.9% จาก 3,213 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดทุนงวดนี้ 620.43 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนกำไร 185.79 ล้านบาท ด้วยผลกระทบต่อเนื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าในปัจจุบันได้มีประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ยังไม่สามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้บริษัทกลับมาเปิดดำเนินงานโรงแรมเกือบทั้งหมดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ยกเว้นโรงแรม เชอราตัน สมุย รีสอร์ทเพียงแห่งเดียว) และตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม โรงแรม 2 แห่งของบริษัท ได้แก่ โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ และโรงแรม ดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมการเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ)
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอัตราการเข้าพักของโรงแรมทั้งหมดของบริษัท (Occupancy rate) โดยเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน แม้ว่าบริษัทยังคงได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้และยังมีการลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าบางรายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า (Retail) เพื่อให้คู่ค้าสามารถผ่านวิกฤตไปพร้อมกับบริษัท
AWC หวัง Q4 ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้น
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เผยว่า ยังคงเชื่อมั่นในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่ากลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ของบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากภาพรวมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัท อย่างไรก็ตาม AWC ได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น Thai Holidays Lifestyle, Gift of Hapiness จาก 16 โรงแรมภายใต้ AWC ขานรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อีกทั้ง Bangkok Holidays Lifestyle, Gift of Happiness เพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยยอดจองโรงแรมต่างๆ เช่น โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่ได้ยอดจองกว่า 5,000 คืน นอกจากนี้ยังได้ออกแพกเกจคะแนน Infinite Point สำหรับใช้เข้าพักหรือแลกเพื่อใช้บริการที่หลากหลายในโรงแรมและรีสอร์ตใดก็ได้ในเครือ AWC ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งตอบรับนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้โรงแรมต่างๆ ภายใต้ AWC มี RGI Index ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยโรงแรมในกรุงเทพฯ เช่น โรงแรม เลอ เมอริเดียน และโรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มี RGI Index เดือนกันยายนสูงถึง 268.2 และ 252.9 ตามลำดับ และโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง โรงแรม ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา, ในยางบีช และโรงแรม หัวหิน แมริออท รีสอร์ท และสปา มี RGI Index ในไตรมาสที่ 3/2563 สูงถึง 387.0 และ 146.3 ตามลำดับ ทำให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 126 ล้านบาทในไตรมาส 2/2563 เป็น 450 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 257.1%
บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC รายงานผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2563 กว่า 343 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 73 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการลดลงของรายได้จากการขายและการให้บริการจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2563 โรงแรมในเครือได้ทยอยกลับมาให้บริการหลังจากต้องหยุดการให้บริการเป็นการชั่วคราว ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการศึกษาและธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ปี 2563 โดย DTC ได้ปรับแผนธุรกิจตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้วยการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และมีมาตรการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ทำให้ดค่าใช้จ่ายได้ 31% ในไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 878 ล้านบาทเทียบกับกำไรสุทธิ 51 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
“แม้ว่าผลการดำเนินงานของบริษัทใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทเริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวในไตรมาส 3 ปี 2563 โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ 424 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 โดยธุรกิจโรงแรมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทยอยกลับมาเปิดโรงแรมและการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพักและรายได้เฉลี่ยต่อห้อง”
นอกจากนี้ EBITDA ของบริษัทมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นโดยติดลบน้อยลงในไตรมาส 3 ปี 2563 (-53 ล้านบาท) เช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 (-207 ล้านบาท) จากการลดลงของค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนและการปรับแผนธุรกิจและโครงสร้างองค์กรในไตรมาส 1/2563
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม DTC มองว่าแนวโน้มไตรมาส 4/2563 โดยรวมคาดว่าอุตสาหกรรมโรงแรมจะทยอยฟื้นตัวเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ซึ่ง DTC ได้ออกกลยุทธ์การขายและการตลาดใหม่ๆ ที่ให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และมีแผนที่จะเปิดโรงแรมใหม่ที่ประเทศสิงคโปร์ภายใต้สัญญารับจ้างบริหาร ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงแรมที่เปิดในปีนี้ครบ 5 แห่งตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันได้เปิดไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตดีทู ซัลวา โดฮา ประเทศกาตาร์ (เดือนมีนาคม) โรงแรมดุสิต รีสอร์ท กวม ประเทศสหรัฐอเมริกา (เดือนมิถุนายน) โรงแรมดุสิตธานี เวลเนส รีสอร์ท ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน (เดือนกรกฎาคม) และโรงแรม อาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ (เดือนกันยายน)
โบรกฯ มอง Q4 หุ้นโรงแรมดีขึ้นเล็กน้อย
บล.กรุงศรี มองว่าในแง่ผลประกอบการระยะสั้นในหุ้นกลุ่มโรงแรมนั้น “ยังคงดูเหนื่อยอยู่” ถึงแม้จะมีมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากทางภาครัฐไม่ว่าจะเป็นมาตรการคลายล็อกดาวน์นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและคืนภาษี หรือแม้กระทั่งวันหยุดยาวเพิ่มเติมในไตรมาส 4 ซึ่งเหตุผลเพราะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 30-40% ของอุตสหกรรมท่องเที่ยวไทย ในขณะเดียวกัน มีการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึงระดับ 60-70% และถ้าหากไปดูรายได้ของหุ้นกลุ่มโรงแรมของบริษัทจดทะเบียนจะมีสัดส่วนรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในธุรกิจโรงแรมในประเทศ สูงถึง 80-90%
ฉะนั้นแล้ว เราจึงมีความเห็นว่า “ผลประกอบการจะยังคงไม่ฟื้นตัวหากประเทศไทยยังไม่มีเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยในส่วนนี้เรามองว่าทางรัฐบาลอาจจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่มีการกักตัวได้ในช่วงต้นปีหน้าหรืออย่างเร็วคือช่วงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์โดยคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปี 2564 ที่ 13.7 ล้านคน และ 2565 ที่ 40 ล้านคน”
ในส่วนของราคาหุ้นที่ขึ้นมารับข่าวการพัฒนาวัคซีนในช่วงที่ผ่านมานั้นค่อนข้างร้อนแรง และค่อนข้างสะท้อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปเยอะมากแล้ว
ขณะที่ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากการที่สมาคมโรงแรมไทย ได้มีการประชุมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางสมาคมโรงแรมไทยคาดการณ์ถึงแนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 64 สอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวของที่ บล.กสิกรประเมินไว้ โดยประธานสมาคมฯ คาดว่ากลุ่มโรงแรมจะไม่เพิ่มพนักงานกลับสู่ระดับปี 2562 แม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ มองว่าจะจ้างบุคคลภายนอกหรือ part-time มากกว่า
ทั้งนี้ บล.กสิกรประเมินว่าทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งปี 2564 ที่ประมาณ 11 ล้านคน เราคาดว่าเดาว่าเงินในโครงการกระตุ้นภาครัฐที่เหลืออยู่จากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว จะถูกนำมาใช้ในปี 2563 ขณะที่คาดว่าโครงการ Travel Bubble จะสร้าง upside risk ต่อประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2564
"เราไม่คิดว่าการที่รัฐบาลอนุญาตให้กลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาวเดินทางเข้าประเทศในช่วงเดือนก่อนจะส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อจำนวนนักท่องเที่ยวรวม โดยเรายังคงมุมมองเชิง "บวก" ต่อกลุ่มการท่องเที่ยวโดยรวม และคาดว่าจะมีการประกาศผลการทดสอบวัคซีด้านโควิด-19 ในช่วงเดือน พ.ย.2563 ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้นที่สำคัญต่อกลุ่ม ทั้งนี้ เราเลือก CENTEL และ MINT เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มนี้"
ด้าน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงมุมมองของหุ้นกลุ่มโรงแรมว่า หากพิจารณาภาพรวมผลประกอบการหุ้นกลุ่มโรงแรมในไตรมาส 3/63 แม่ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังขาดทุนจำนวนมากใน 3/63 เนื่องจากผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการโรงแรมได้รับแรงขับเคลื่อนจากความต้องการเดินทางภายในประเทศหลังจากปลดล็อกดาวน์ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2563 จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2564 เนื่องจากตามสถิติที่ผ่านมาตลาดท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ดังนั้น การเดินทางภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ทั้งหมด
ขณะที่ประมาณการอัตราการเข้าพักโรงแรมในไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 12-28% เพิ่มขึ้นจากระดับที่แย่ที่สุดในไตรมาส 2/63 ที่ 1-6% แต่ลดลงอย่างมากจาก 74-75% ในไตรมาส 3/62 ซึ่งจะกดดันให้ RevPar (รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก) ปรับตัวลดลง 70-83% YoY ในไตรมาส 3/ 63 แต่ยังดีกว่าที่หดตัวลง 95-99% YOY ในไตรมาส 2/63 ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการโรงแรมจะมีผลขาดทุนจำนวนมากและต่อเนื่องในไตรมาส 3/63 ที่ 5.4 พันล้านบาท สำหรับ MINT, 575 ล้านบาท สำหรับ AWC, 489 ล้านบาทสำหรับ ERW และ 346 ล้านบาทสำหรับ CENTEL
“ยังไม่น่าจะเห็นการฟื้นตัวจนกว่าจะถึงครึ่งหลังของปี 2564 ประเทศไทยเริ่มใช้แนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างระดระวังด้วยการออกวีซ่า "Special Tourist VISA" (STV) ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอนุญาตให้บุคคลต่างด้าวกลุ่มพรีเมียมที่ประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยว หรือพำนักระยะยาว (ท่องเที่ยวแบบลองสเตย์) เดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยต้องกักตัวนาน 14 วัน โดยล่าสุดรัฐบาลกำลังพิจารณาลดระยะเวลาการกักตัวลงเหลือ 10 วัน เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว แต่ยังคงความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและสังคมด้วย”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าประเทศไทยจะกลับมาเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสถานกาณ์การแพระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีความแน่นอน โดยในยุโรป จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก และหลายๆ ประเทศก็กลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ แต่มีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่นำมาใช้ในไตรมาส 2/63 ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สเปนได้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินรอใหม่และสั่งเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 28 ต.ค. เยอรมนีและฝรั่งเศสได้ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศนาน 4 สัปดาห์ โดยสั่งปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็น เช่น ร้านอาหาร และบาร์ โดยยังคงมุมมองที่ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะยังเปิดไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจนถึงครึ่งแรกของปี 2564 และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนได้ในครึ่งหลังของปี 2564 โดยใช้สมมติฐานว่าประเทศต่างๆ จะกลับมาเปิดประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง และเรียกความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนให้กลับคืนมาได้หลังจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนา และประชาชนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสนี้
"ความไม่แน่นอนในระยะสั้นจะสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง" โดยในไตรมาส 4/63 คาดว่าผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการโรงแรมจะปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่มากนัก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาซึ่งส่งสัญญาณว่าผลการดำเนินงานอาจจะมีความเสี่ยง downside ราคาหุ้นกลุ่มโรงแรมปรับตัวลดลง 12-27% เทียบกับ SET ที่ลดลง 4% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่คิดว่าตอนนี้เป็นจุดเข้าซื้อที่เหมาะสมเนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังไม่มีความแน่นอน และผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการโรงแรมจะสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าปัจจัยกระตุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจะเกิดจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น การยกเลิกการกักตัว หรือจัดทำ travel bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ปัจจัยเสี่ยง คือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าโดยมีสาเหตุมาจากความผันผวนของวิวัฒนาการของโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของผู้ประกอบการโรงแรม
MINT : เราคาดการณ์ขาดทุนปกติที่ 5,400 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 (ดีขึ้นจากขาดทุนปกติ 7,200 ล้านบาท ในไตรมาส 2/63 แต่แย่กว่ากำไรปกติ 1,400 ล้นบาท ในไตรมาส 3/62) เมื่อดูที่ NH Hotel Group (NHH, MINT ถือหุ้น 94% และคิดเป็นสัดส่วน ~50% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ของ MINT) เราคาดว่าจะมีขาดทุนปกติ 112 ล้านยูโร ในไตรมาส 3/63 (หรือประมาณ ~3,800 ล้านบาท) ดีกว่าขาดทุนปกติ 144 ล้นยูโร ในไตรมาส 2/63 แต่แย่กว่ากำไรปกติ 23 ล้านยูโรในไตรมาส 2/62 เราใช้สมมติฐานว่า Revpar สำหรับโรงแรมของบริษัทเองและโรงแรมภายใต้สัญญาเช่า (85% ของรายได้จากธุรกิจโรงแรม) ลดลง 70% YOY ดีขึ้นจากที่ลดลง 95% YOY ในไตรมาส 2/63 โดยได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นในยุโรป ซึ่งจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคาดว่า RevPar จะลดลง 60% YY ขณะที่คาดว่า RevPar ของโรงแรมในประเทศไทยจะลดลง 80% YoY เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปเริ่มต้นผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางเกี่ยวกับโควิด-19 เร็วกว่าประเทศไทย โดยอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวหรือมีข้อจำกัดเมื่อกลางเดือน มิ.ย. เราคาดการณ์ SSS ของธุรกิจอาหารที่ -12% ในไตรมาส 3/63 ดีกว่า -23% ในไตรมาส 2/63 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นในประเทศไทยและจีน
AWC : คาดการณ์ขาดทุนปกติที่ 575 ล้านบาท ในไตรมาส 3/63 (เทียบกับขาดทุนปกติ 877 ล้านบาท ในไตรมาส 2/63 ไม่มีการเปรียบเทียบ YoY เนื่องจาก AWC ปรับปรุงงบการเงินปี 2562 ย้อนหลัง) เพราะถูกฉุดรั้งโดย RevPar ที่ลดลง 83% YOY (เทียบกับที่ลดลง 95% YoY ในไตรมาส 2/63) เนื่องจากธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ของ AWC สำหรับธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก (18% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19) AWC กล่าวว่าจำนวนผู้มาใช้บริการและอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/63 แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ บริษัทก็ให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าน้อยลงด้วย โครงการหลักของบริษัท เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟอร์นท์ ยังไม่ได้กลับมาเปิดดำเนินการในไตรมาส 3/63 (เพิ่งกลับมาเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ต.ค.) ขณะที่ประเมินว่าธุรกิจอาคารสำนักงาน (22% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19) จะแข็งแกร่งต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมกิจนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19