MINT เผยไตรมาส 3/63 ผลงานฟื้นตัว ขาดทุนลดลงเหลือ 5.6 พันล้านบาท จากไตรมาส 2 ที่ขาดทุนกว่า 8 พันล้านบาท ท่ามกลางผลกระทบโควิด-19 ส่วน 9 เดือน มีผลขาดทุน 1.5 หมื่นล้านบาท มุ่งเดินหน้าหาโอกาสเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด และติดตามฐานะการเงินและกระแสเงินสดใกล้ชิด แต่คาดไตรมาส 4 มีกระแสเงินสดรับ-กำไรกลับมาเป็นได้ หลังมองแนวโน้มทางธุรกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ได้พยายามลดและควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส และด้วยโอกาสความเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน
วันนี้ (12 พ.ย.) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุน 5,595.23 ล้านบาท ลดลง 222% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,560.33 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนพลิกขาดทุน 15,816.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,929.48 ล้านบาท
MINT รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/63 มีผลขาดทุน 5.6 พันล้านบาท ฟื้นตัวจากผลขาดทุนสุทธิที่มากที่สุดในประวัติการณ์ จำนวน 8.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2/63 ท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานบนพื้นฐานการรายงานเดียวกัน (จากการดำเนินงานและไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 4.4 พันล้านบาท
ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 MINT มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16 จำนวน 1.41 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นได้อย่างเหมาะสมเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19
ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้ MINT ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการลดค่าเช่าของเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป ลดการใช้จ่ายในการลงทุน และติดตามฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด
ย้ำผลงานโค้ง 3 ฟื้นตัว หลังธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการ
นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/63 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า MINT มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ จึงได้เริ่มเห็นการฟื้นตัวในแต่ละธุรกิจและภูมิภาคในอัตราที่ช้าเร็วต่างกันไป โดยทุกกลุ่มธุรกิจร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด มีผลการดำเนินงานที่พลิกฟื้น และสามารถสร้างผลกำไรในระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนมีผลกำไรที่สูงที่สุด
ส่วนไมเนอร์ โฮเทลส์ มีการฟื้นตัวที่ดีในธุรกิจโรงแรมในประเทศออสเตรเลีย และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งทั้ง 2 ธุรกิจดังกล่าวมี EBITDA ที่เป็นบวก (ไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) ส่วนในทวีปยุโรป แม้ว่าการฟื้นตัวจะช้ากว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ จากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น แต่เอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุด
มั่นใจเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก ได้ธุรกิจอาหารหนุน
ทั้งการฟื้นตัวของรายได้ EBITDA และกำไรสุทธิ ทั้งนี้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการที่ผลการดำเนินงานจะกลับมาสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรม แต่เราได้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความน่าจะเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจร้านอาหารสามารถช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ
ผลการดำเนินงานของไมเนอร์ ฟู้ด พลิกฟื้นกลับมามีกำไรสุทธิ จำนวน 208 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 จากผลขาดทุนสุทธิใน 2/63 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 โดยการฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีน ซึ่งมียอดขายต่อร้านเดิมกลับมาเติบโตเป็นบวกในอัตรา 3% และยอดขายโดยรวมทุกสาขาเติบโต 8.1%
นอกจากนี้ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหารและซื้อกลับบ้านที่แข็งแกร่งในประเทศไทย การรวมการดำเนินงานของแบรนด์บอนชอน รวมถึงมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายเชิงรุกในทุกภูมิภาค ซึ่งบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 ส่งผลให้ไมเนอร์ ฟู้ด มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นในไตรมาส 3/63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สิ้นไตรมาส 3 โรงแรมเปิดแล้วกว่า 80% อัตราเข้าพักเพิ่มเป็น 32%
ไมเนอร์ โฮเทลส์ ได้เปิดให้บริการโรงแรมแล้วกว่า 80% ของโรงแรมทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 3/63 ส่งผลให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของของโรงแรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากเพียง 9% ในไตรมาส 2/63 เป็น 32% ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนฟื้นตัว โดยติดลบลดลงจาก 91% ในไตรมาส 2/63 เป็น 63% โรงแรมในประเทศออสเตรเลียมีการฟื้นตัวที่เร็วที่สุด ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนที่ลดลงเพีย' 32%
ส่งผลให้ผลการดำเนินงานผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว และมี EBITDA ที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสดังกล่าว ส่วนโรงแรมในมัลดีฟส์มีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่เปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้งเมื่อปลายเดือน ก.ย.63 อีกทั้งเอ็นเอช โฮเทล กรุ๊ป มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้น โดยกลับมามีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานเป็นบวก
โค้ง 3 เปิดตัวโรงแรมใหม่ 12 แห่ง ผลงานดีต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ไมเนอร์ โฮเทลส์ ยังคงขยายเครือโรงแรมอย่างระมัดระวัง ด้วยการเปิดตัวโรงแรมใหม่ 12 แห่งในช่วงไตรมาส 3/63 ซึ่งรวมถึง Anantara Maia Seychelles สุดหรู และโรงแรมระดับบน 7 แห่งในทวีปยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในนามกลุ่มโรงแรม Boscolo อันทรงเกียรติ อีกทั้งมีแผนจะเปิดตัว “รักษ” ซึ่งเป็นศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมแห่งแรกในกรุงเทพฯ ในไตรมาส 4/63
อีกทั้งยอดขายโครงการที่อยู่อาศัย และการฟื้นตัวของอนันตรา เวเคชั่น คลับ ส่งผลให้ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมมี EBITDA ที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสดังกล่าว และเป็นส่วนช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของไมเนอร์ โฮเทลส์ โดยผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจดังกล่าวช่วยลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อธุรกิจอื่นๆ ของบริษัท ซึ่งได้แก่ โรงแรมในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทั้งนี้ ด้วยมาตรการการลดค่าใช้จ่ายเชิงรุก ควบคู่กับการลดค่าเช่า ซึ่งไมเนอร์ โฮเทลส์ สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมลง 40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 ส่งผลให้ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน (ไม่นับรวมผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS16) ลดลงจาก 6.4 พันล้านบาท เป็น 4.5 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/63
โดยภาพรวม ผลการดำเนินงานของ MINT ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน จากผลขาดทุนสูงสุดที่จำนวน 2.7 พันล้านบาทในเดือนเมษายน เป็น 1.4 ล้านบาทในเดือน ก.ย. และด้วยการดำเนินมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้เงินสดของ MINT ในแต่ละเดือน ซึ่งคำนวณจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินชำระคืนหนี้สินตามสัญญาเช่า และเงินจ่ายสำหรับการลงทุน ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากเฉลี่ย 2.9 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาส 2/63 เป็น 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน ในไตรมาส 3/63
สิ้น ต.ค.มีเงินสดในมือ 3 หมื่นลบ. เพียงพอทำธุรกิจในอนาคต
ณ สิ้นเดือน ต.ค.63 MINT มีเงินสดในมือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานในอนาคต นอกจากนี้ แผนการระดมทุนแบบเบ็ดเสร็จของ MINT ซึ่งประกอบไปด้วยการออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ การออกหุ้นเพิ่มทุน และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ ประสบความสำเร็จด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ฐานส่วนของผู้ถือหุ้นของ MINT เพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/63
นอกจากนี้ MINT มีแนวโน้มที่จะได้รับเงินทุนเพิ่มอีกจำนวน 5 พันล้านบาทจากการที่ผู้ถือสิทธิใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยแผนการดังกล่าวนี้ช่วยลดผลกระทบจากสภาวะตลาดที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องในไตรมาสนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของ MINT เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1.63 เท่า เป็น 1.67 เท่า
คาดโค้งสุดท้ายของปีจะมีผลงานพลิกกำไร หลังแนวโน้มธุรกิจดี
สำหรับไตรมาส 4/63 MINT ได้มองไปถึงปี 64 และเริ่มวางแผนรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คาดว่าแนวโน้มทางธุรกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ได้พยายามลดและควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส และด้วยโอกาสความเป็นไปได้ในการค้นพบวัคซีน
แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนและผันผวนมาก ด้วยเหตุนี้ MINT จึงยังคงดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้อย่างระมัดระวัง โดยยังคงเพิ่มและแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดการลงทุนอย่างเข้มงวดในทั้ง 3 ธุรกิจ และทุกภูมิภาค และติดตามฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะมีกระแสเงินสดรับและผลกำไรที่เป็นบวกในปี 64 ด้วยความเป็นไปได้ของวัคซีนและแผนกลยุทธ์การหมุนเวียนสินทรัพย์ของบริษัท