กูเกิลควงเทมาเส็กและเบน แอนด์ คอมพานี เปิดเผยรายงานการสำรวจตลาดอินเทอร์เน็ตฉบับใหม่ล่าสุด ระบุสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัด 7 แนวทาง โดยแนวทางที่มีผลหรืออิมแพคมากที่สุดคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้น 40 ล้านคนจากปี 2562 ทำให้ปัจจุบันทั่วทั้งภูมิภาคนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 400 ล้านคน แปลว่า 70% ของประชากรทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่โลกออนไลน์แล้ว เบื้องต้นประเมินเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ก่อนจะเติบโตทะลุ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 68 สำหรับประเทศไทย คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเพิ่มเป็น 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 25% ในปี 2568
แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่าบทสรุปที่มีอิมแพคมากที่สุดจากทั้งหมด 7 ประเด็นที่บริษัทรวบรวมได้จากการสำรวจวงการออนไลน์อาเซียนครั้งล่าสุด คือยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 6 ชาติอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย) ที่ขยายตัวแตะ 400 ล้านรายในปีนี้ โดยผู้ใช้งานใหม่จำนวนมากมาจากพื้นที่นอกเขตเมืองในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากจำนวนผู้ออนไลน์ที่คิดเป็น 70% ของประชากรอาเซียนถือเป็นไมล์สโตนที่ค่อนข้างสำคัญ โดยคนกลุ่มนี้ไม่เพียงเล่นอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีการใช้บริการดิจิทัลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
“ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเรื่องการย้ายสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ใช้เปิดใจใช้งานบริการดิจิทัลใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และการใช้งานนี้จะยังอยู่ต่อไปในช่วงที่ไม่มีการระบาดของโควิด - 19 แล้ว”
7 สาระสำคัญที่กูเกิล เทมาเส็ก และเบน แอนด์ คอมพานี สรุปจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) ได้แก่ 1. อาเซียนกำลังย้ายสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะการใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในประเทศไทยที่มีผู้ลองใช้บริการดิจิทัลใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด - 19 2. ชาวอาเซียนออนไลน์อย่างมีความหมาย เห็นได้จากผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาโดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันบนอินเทอร์เน็ตในช่วงล็อกดาวน์ ในขณะที่คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 และมองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็น
3. ชาวอาเซียนกำลังปรับตัวในช่วงวิกฤต โดยอีคอมเมิร์ซได้ขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศไทยอย่างมากถึง 81% การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วนี้ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์เป็นอย่างมาก 4. การให้เงินทุนกับธุรกิจระดับยูนิคอร์นในภาคธุรกิจที่เริ่มอิ่มตัวกำลังชะลอตัวลงนับตั้งแต่จุดเฟื่องฟูในปี 2561 ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ หันกลับมาให้ความสําคัญกับธุรกิจหลักของตนเพื่อมุ่งเน้นการสร้างผลกําไรเป็นอันดับแรก 5. เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) มีบทบาทสำคัญมากในช่วงของการระบาด โดยมีอัตราการนำไปใช้ (Adoption Rate) ที่โดดเด่น ทำใฟ้ 2 ธุรกิจนี้เป็นดาวเด่นน่าจับตาในฐานะธุรกิจมาแรงช่วงหลังจากนี้
6. นักลงทุนกำลังตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบในการซื้อขายที่น้อยลงแต่ด้วยมูลค่า (valuation) ที่น่าดึงดูดมากขึ้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว สุดท้ายคือ 7. ผลการวิจัยในปีนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นการพัฒนาข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
อาเซียนผงาด
กูเกิลระบุในบล็อกโพสต์ว่าตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2563 (e-Conomy SEA 2020) พบว่าปี 2563 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด เห็นชัดจากเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และเติบโตทะลุ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
ในรายงานฯ ยังระบุว่าในช่วงล็อกดาวน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดย 36% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือผู้ใช้รายใหม่ สำหรับประเทศไทยพบว่าผู้ใช้จํานวนมากเริ่มลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ โดย 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดคือผู้ใช้รายใหม่ และ 95% ของพวกเขาเหล่านี้ตั้งใจที่จะใช้ต่อไปหลังช่วงระบาด ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้บริการดิจิทัลรายใหม่เหล่านี้เป็นผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัด
“เรื่องทาเลนต์ หรือคน (บุคคลากร) จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเติบโตที่เร็วหรือช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โควิด-19 ไม่ได้มีอิมแพคให้การเติบโตลดหรือช้าลง เพราะเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีที่แล้ว ตัวเลขคาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยถูกประเมินไว้ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 5.3 หมื่นล้าน คิดเป็นอัตราเติบโตที่ 7%”
ไทยเติบโตรองอิเหนา
สำหรับประเทศไทย คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเพิ่มเป็น 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 25% ในปี 2568 แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปีนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย ผลการวิจัยระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 นับเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์ ปีนี้ถือเป็นปีทองของอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในที่ผ่านมา เป็น 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และคาดว่าจะแตะ 1.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการวิดีโอออนดีมานด์ และบริการเพลงออนดีมานด์) ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเติบโตขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 3.7 ชั่วโมง (ใช้งานส่วนตัว) ในช่วงก่อนโควิด และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ผู้ใช้จาก 8 ใน 10 ราย เห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงโควิด-19 จึงทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกต่อไป
สำหรับการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทยมีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 12% แม้ว่าจะมีการเติบโตของบริการส่งอาหารออนไลน์ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 45% ในปี 2568
ท่องเที่ยวออนไลน์หงอยระยะสั้น
การท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี 2563 อยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 47% แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวและมีมูลค่าแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 การท่องเที่ยวออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะกลับมาเติบโตจนมีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568
2 ภาคส่วนใหม่ที่ได้ทำการวิจัยขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) การสำรวจพบว่าในช่วงพีคของการระบาด แอปด้านสุขภาพชั้นนำถูกใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากช่วงก่อนการระบาด ในขณะที่การติดตั้งแอปประเภทเทคโนโลยีด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น 3 เท่า
นอกจากนี้รายงานฯ ยังได้ให้ข้อมูลอัปเดตในส่วนของบริการทางการเงินดิจิทัล (การชำระเงิน การโอนเงิน การให้กู้ยืม ประกันภัย และการลงทุน) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยระบุว่าผู้บริโภคและธุรกิจเอสเอ็มอีได้หันมาใช้บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกเหนือจากบริการให้กู้ยืมแล้ว มูลค่าธุรกรรมรวมการชำระเงินดิจิทัล (GTV) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2563 อยู่ที่ 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่ารวมที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568.