xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเจมาร์ทผลงานสดใสยาว MSCI ดึงหุ้น JMART เข้าคำนวณดัชนี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาหุ้นกลุ่ม “เจ มาร์ท” วิ่งในแดนบวกถ้วนหน้า หลังแจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 พบผลงานทุกบริษัทในกลุ่มกำไรโต โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจซบเซา ทำให้มีหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อ JMT เพราะการบริหารพอร์ตหนี้เสียปรับตัวดีขึ้น มีทิศทางเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในครึ่งปีหลังยาวไปถึงปี 64 ล่าสุด MSCI ดึงหุ้น JMART เข้าคำนวณดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP INDEX เริ่ม 30 พ.ย.2563 นี้ โบรกฯ มองหุ้นในกลุ่มเจมาร์ท สดใสไปถึงปี 64

แม้เกิดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐออกมาตรการสกัดเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหสถานหลายเดือน กระทั่งสุดท้ายเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่ม และการรักษาที่มีระบบ ระเบียบ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อและติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีที่สุด เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย รัฐก็ปลดล็อกมาตรการ รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนหลังจากนิ่งมานาน ดังนั้น เมื่อทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามปกติพร้อมกับการป้องกัน ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยและพบปะกันตามปกติ ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมเริ่มยิ้มออก

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ผลงานครึ่งแรกปี 63 แทบทุกบริษัทและทุกอุตสาหกรรมติดลบ บางแห่งปิดตัวไป หลายแห่งทรุดหนัก ขณะที่บางธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับผลดีจากการล็อกดาวน์ตามมาตรการของรัฐ กระนั้น เมื่อปลดล็อกหลายบริษัทก็ฟื้นตัว ผลประกอบการกลับมาสดใส เพราะผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งก็เช่นกันเพราะการมีหลากหลายธุรกิจ ดังนั้น ผลการดำเนินงานจึงมีทั้งบวกและลบปนเปไปตามอุตสาหกรรมการผลิตและการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ

กลุ่มเจ มาร์ท หรือ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART คือบริษัทโฮลดิ้งที่มีบริษัทในเครือทำหลากหลายธุรกิจ ทำให้ผลประกอบการไม่อิงกับเพียงธุรกิจเดียว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะอย่างน้อยเมื่อเกิดผลกระทบใดๆ จะไม่ทำให้พังพาบไปทั้งยวง JMART จึงเป็นบริษัทหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจเพราะผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาก ธุรกิจในเครือที่หลากหลาย ทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินงานนัก ขณะที่ราคาหุ้นแม้ว่าช่วงต้นปี JMART จะเทรดต่ำกว่า 10 บาท แต่พอพ้นไตรมาส 2 เดือนมิถุนายนราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาเทรดเหนือ 10 บาท และมาเทรดระดับ 14 บาทนับจากเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา รวมถึงหุ้นในกลุ่มของบริษัทก็เขียวตามกัน ล่าสุด MSCI (Morgan Stanley Capital International) ประกาศรายชื่อ บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART ได้เข้าคำนวณดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP INDEX รอบล่าสุด ซึ่งจะมีผลวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นี้ ส่งผลดีต่อการเพิ่มน้ำหนักลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนผลงานและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นหนึ่งในหุ้นขวัญใจนักลงทุนที่มีสภาพคล่องสูงและให้ผลตอบแทนที่ดี

JMART ผลงานดีมีกำไรต่อเนื่อง

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า ภาพรวม JMART มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยงวดไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 261 ล้านบาท เติบโต 110% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 124.59 ล้านบาท และกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ 527 ล้านบาท เติบโต 39% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่

ทำได้ 379.91 ล้านบาท และใกล้เคียงกับกำไรทั้งปีของปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทย่อย และบริษัทร่วมที่ลงทุนมีผลประกอบการที่ดี มีความสามารถในการทำกำไรในทุกบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจบริหารหนี้ของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ที่โดดเด่นทำนิวไฮใหม่ได้ต่อเนื่องในทุกไตรมาส ผนวกกับผลประกอบการบริษัทย่อยในธุรกิจค้าปลีก และบริษัทร่วม บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER มีผลประกอบการที่ดี โดยเชื่อมั่นว่า กลุ่มเจมาร์ทจะสามารถสร้างพลัง Synergy ต่อไป ด้วยเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

จากผลกำไรที่เติบโตเพราะ JMART มีรายได้รวมในไตรมาสนี้ 2,889.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา 8.1% และสำหรับ 9 เดือนแรก บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,880 ล้านบาท ลดลง 2.4% เนื่องจากยอดขายที่ลดลงในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ภายหลังจากที่รัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นในทุกๆ ธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ตัวเลขกำไรในงวดนี้ถือเป็นฐานกำไรใหม่ของบริษัท เพราะธุรกิจทั้งสายการเงิน และค้าปลีกเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นผลจากการบริหารจัดการความเสี่ยง และบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีทำให้มั่นใจว่าไตรมาส 4 บริษัทในกลุ่มจะมีศักยภาพการเติบโตเนื่อง เพราะ ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจค้าปลีก ทั้งโทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งสินค้าเทคโนโลยีที่เปิดตัวใหม่ อีกทั้งนโยบายจากภาครัฐที่ออกมาตรการมากระตุ้นอย่างช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง ตลอดจนเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น และธุรกิจการเงิน ด้านสินเชื่อยังโตตามแผน ส่วนธุรกิจบริหารหนี้มีแนวโน้มซื้อหนี้เข้ามาบริหารและจัดเก็บที่เพิ่มขึ้น

"เรายังอยู่ระหว่างมองหาโอกาสในการขยายการลงทุน ล่าสุด JMART ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเสนอเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนแบบ General Mandate พร้อมกับหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เป็นการเตรียมพร้อมไว้เท่านั้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้ JMART เติบโตอย่างแข็งแกร่ง" นายอดิศักดิ์ กล่าว

บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า หุ้น JMART ซึ่งเป็นผู้ขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ น่าจะเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" ของภาครัฐ

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์จากผลกำไรไตรมาส 3 ไว้ประมาณ 200 ล้านบาท เติบโต 20.4% จากไตรมาสก่อน และ 77% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 4 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปิด Upside กำไรปกติที่ฝ่ายวิจัยประเมินปี 2563 ราว 625 ล้านบาท และคาด JMART ได้ปัจจัยบวกจากการเปิดตัว iPhone ตัวใหม่ และมาตรการ “ช้อปดีมืคืน” รวมถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยี 5G ต่อเนื่อง ที่มีการเปิดแพกเกจ 5G ของ ADVANC ละ TRUE อีกทั้งมีการเปิดตัวมือรองรับ 5G ในกลุ่มผู้ผลิตจีน ซึ่งเป็นบวกต่อกลุ่มผู้จำหน่ายสินค้ามือถือในตลาด และเชื่อว่า JMART ได้รับประโยชน์สูงเป็นลำดับต้นๆ เพราะ JMART เป็นบริษัทเดียวที่เน้นจำหน่ายสินค้าโทรศัพท์มือถือเป็นหลักและครอบคลุมทุกแบรนด์ มีช่องทางขายในเครือหลากหลาย ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันแม้ปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ซื้อขายกันที่ PER64F ราว 18 เท่า ถือเป็นโอกาส "ซื้อสะสม" ราคาเหมาะสม 18 บาท

JMT กำไรงวดนี้โต 49% บริหารสินทรัพย์เพิ่มสูง

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT แจ้งผลงานไตรมาส 3 ว่ามีกำไรสุทธิ 283 ล้านบาท เติบโต 49.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้งวด 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 716.9 ล้านบาท เติบโต 48.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่ากำไรสุทธิทั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 681.4 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรสุทธิเติบโตขึ้น 36% สำหรับรายได้งวดนี้ทำได้ 783.5 ล้านบาท เติบโต 13.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือนแรก ปีนี้อยู่ที่ 2,310.4 ล้านบาท เติบโต 25.8% เนื่องจากรายได้จากธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้เพิ่มขึ้น และความโดดเด่นในธุรกิจซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร โดย JMT มียอดจัดเก็บหนี้ที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ไตรมาส 3 นี้ JMT มียอดจัดเก็บกระแสเงินสด 985 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 5%

ขณะเดียวกัน JMT ก็มีพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพที่ตัดมูลค่าเงินลงทุนครบเต็มจำนวน เพิ่มช่วงปลายไตรมาส 2 ทำให้บริษัทรับรู้รายได้ได้เต็มที่ และกองหนี้ของ JMT ในปัจจุบันที่ตัดต้นทุนทั้งหมดรวม43,000 ล้านบาท ซึ่งยังจัดเก็บหนี้ดังกล่าวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแล้ว 2,524 ล้านบาท ทำให้มีพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพรวม 195,545 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกัน

"ความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพของ JMT ทำให้กำไรงวด 9 เดือนแรกปีนี้เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาทั้งปีแล้ว ถือเป็นการเติบโตในระดับสูงอย่างโดดเด่นในกลุ่มบริษัทบริหาร (AMC)" นายสุทธิรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าหนี้ด้อยคุณภาพในส่วนของหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของผู้บริโภคปรับตัวสูงไปอยู่ที่ระดับ 152,000 ล้านบาท ในช่วงปลายไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยบริษัทมองว่ามีโอกาสอีกมากที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงิน และช่วยอุตสาหกรรมการเงินของประเทศในการปรับโครงสรัางหนี้ เพื่อคืนลูกค้าที่มีศักยภาพทางด้านการเงิน มีเครดิตที่ดี จึงตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนสำหรับใช้ซื้อหนี้ในปีนี้เป็น 5,000-6,000 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้ในระบบที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง JMT มีฐานทุนที่แข็งแกร่งและมองว่า ไตรมาส 4 จะเป็นอีกไตรมาสที่ดีของบริษัทฯ

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ "ซื้อ" หุ้น JMT ให้ราคาเป้าหมาย 40 บาท อิงวิธี DCF ด้วยแนวโน้มกำไรที่คาดว่าจะดีต่อเนื่อง บวกกับการปรับราคาเป้าหมายทำให้กลับมามี Upside หลังจากJMT ประกาศกำไร 3 ออกมาพบว่ามีกำไรสุทธิ 283 ล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อนและ 49% จากปีก่อน สูงกว่าคาดไว้ก่อนหน้า โดยรายได้จาก NPL จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมูลหนี้ของ NPL ที่ซื้อมาในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งในไตรมาส 2 ยังมีหนี้บางกองที่ตัดต้นทุนหมดก่อนกำหนด ทำให้ไตรมาส 3 เริ่มรับรู้รายได้ 100%

นอกจากนี้ ด้วยการเปิดเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ยอดจัดเก็บปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11 ด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ (ECL) อยู่ที่ 39 ล้านบาท ลดลงจาก 60 ล้านบาทในไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองสำหรับหนี้ที่ซื้อเข้ามาในช่วงปลายปี ขณะที่ไตรมาสนี้มีกระแสเงินสดในหนี้ดังกล่าวเข้ามาทำให้มีการกลับสำรองบางส่วน ด้านค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยลดลงค่อนข้างมากถึง 41% เทียบไตรมาสก่อน และ 61% เทียบปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการเพื่อลด Loss Ratio สำหรับประกันภัยที่รับเข้ามาใหม่ บวกกับมีการกลับสำรองบางส่วนสำหรับประกัน COVID-19 ที่ตั้งไว้สูงช่วงต้นปี

ดังนั้น บล.ทรีนีตี้ ปรับประมาณการกำไรปี 63-64 ขึ้น 6% และ 5% จากประมาณการก่อนหน้ามาอยู่ที่ 996 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน และ 1,251 ล้านบาท หรือ 26% จากปีก่อน โดย ปรับประมาณการเนื่องจากแนวโน้มยอดจัดเก็บในไตรมาส 3 ที่ 985 ล้านบาท ดีขึ้นจากครึ่งปีแรกมาก เป็นผลจากฐานมูลหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อหนี้ในช่วงต้นปี และคาดว่าในช่วงปลายปีจะมีโอกาสในการซื้อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีก ทำให้คาดว่ากระแสเงินสดและกำไรในไตรมาส 4 จะยังดีต่อเนื่อง และมีโอกาสที่ในปี 64 ยอดจัดเก็บจะทะลุ 1 พันล้านบาทต่อไตรมาสได้

J รายได้ค่าเช่าทะยาน เล็งเปิดแห่งใหม่เพิ่ม

บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J งวดไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 26.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 260.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และงวด 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 47.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 240.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 240.6% จากการรับรู้กำไรจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และการบริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทได้ดี โดยเฉพาะธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน The Jas และคอนโด Newera มีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่มีรายได้ 122.4 ล้านบาท ลดลง 11.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีรายได้งวด 9 เดือนแรกปี 2563ที่ 383.2 ล้านบาท ลดลง 13.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการลดลงของดจำนวนสาขาของ IT Junction ที่มีผลประกอบการขาดทุน ทำให้บริษัทบริหารพื้นที่เช่าได้ดียิ่งขึ้น ตามกลยุทธ์การมุ่งเน้นการเติบโตของกำไรเป็นหลัก

นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร J เผยว่า ภาพรวมธุรกิจปลายปีนี้จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดศูนย์การค้า JAS Village อมตะ ชลบุรี อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่ง J ได้รับการตอบรับที่ดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และลูกค้าพื้นที่เช่า เพราะอัตราการเช่าพื้นที่เกือบเต็ม 100% อีกทั้งกำลังพัฒนาศูนย์การค้าชุมชนที่ JAS Village คู้บอน ศูนย์การค้าซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว แห่งใหม่ ใจกลางชุมชนคู้บอนมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 80% ขนาดพื้นที่เช่า 15,000 ตร.ม. โดยโครงการนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ล่าสุดมียอดจองเข้ามาแล้วกว่า 65% คาดโครงการนี้จะเริ่มทยอยเปิดและรับรู้รายได้ช่วงปลายไตรมาส 4 นี้ เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดให้บริการอีกศูนย์การค้าภายในปี 64 ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชนภายใต้การบริหาร 4 โครงการ ทั้งรูปแบบคอนโด 1 โครงการ และพื้นที่เช่าศูนย์ไอทีครบวงจร IT Junction อีก 33 สาขาสะท้อนการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และพลัง Synergy ในกลุ่มเจมาร์ทที่เตรียมจะเสริมความแข็งแกร่งด้วยการอัดโปรโมชันและแคมเปญการตลาด กระตุ้นกำลังซื้อปลายปีให้คึกคัก

สำหรับทั้งปี 63 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมโต 5-10% จากปีก่อน พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายธุรกิจช่วง 3 ปีข้างหน้า (64-66) กำไรจะเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี ภายใต้แผนขยาย "ธุรกิจ Community Mall" 1 แห่ง/ปี มองโอกาสขยาย "ธุรกิจอสังหาฯ" แห่งใหม่ และการขยายไลน์ธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง

SINGER กำไร Q3 พุ่ง พอร์ตรถกระโดด

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้ ทำสถิติรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 265.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 32 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 605 ล้านบาท เพราะยอดขายในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน "รถทำเงิน" เติบโตสูงมาก จากการขยายเครือข่ายทีมขาย รวมทั้งการอนุมัติและติดตามที่รวดเร็ว จากการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 44.6 % อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 21.8% ทำได้ในระดับที่ดีต่อเนื่อง และภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 5.1% ลดลงจากไตรมาส 2 และ 1 ที่ระดับ 6.49% และ 8.1% ตามลำดับ สะท้อนการบริหารจัดการที่ดี และการขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินซึ่งมีระดับ NPL ต่ำไม่ถึง 1%

ดังนั้น จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 124 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,889 ล้านบาท

"เราเติบโตได้ตามแผนงานที่วางไว้ และไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเรามีทีมขายที่แข็งแกร่งทั่วไทย และสาขาแฟรนไชส์เพิ่ม ปัจจุบันมีตัวแทนขายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย มีสาขาผ่านแฟรนไชส์ 1,700 แห่ง ถือเป็นจุดแข็งสำคัญในการขยายตลาดและให้บริการลูกค้าที่อยู่ในต่างจังหวัดให้เข้าถึงสินค้าและบริการด้านสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและครอบคลุมที่สุด รวมถึงแผนการตลาดและจัดทำโปรโมชันร่วมกับกลุ่มเจมาร์ท ทำให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายังเติบโต รวมถึง การขยายพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินก็ประสบความสำเร็จ" นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SINGER กล่าว

โดย SINGER วางเป้าหมายสิ้นปีนี้ คาดจะมีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ราว 3,400 ล้านบาท เติบโตเท่าตัวจากสิ้นปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และสนับสนุนพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้ให้โตแตะ 5,800 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนมีพอร์ตรวมอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หรือโตกว่า 61% ตามเป้าที่วางไว้

บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเมินหุ้น SINGER ที่ร่วมมือกับ ธ.ออมสินไม่ได้กระทบต่อเป้าหมายการเติบโตของบริษัทแม้แต่น้อย SINGER นั้นมีความพร้อมที่จะทำธุรกิจจำนำทะเบียน (C4C) ด้วยตนเองอยู่แล้วทั้งในแง่กองทัพนักขาย เงินทุนพิสูจน์ได้จากพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตมาทุกไตรมาสตั้งแต่ 3 ปี 62 ขณะที่การเติบโตของกำไรไตรมาส 3 และ 4 ปี 63 ยังเดินหน้าได้สนับสนุนโมเมนตัมราคา ปัจจุบันเทรดเพียง P/E 15X ถูกกว่ากลุ่ม non-bank ที่เฉลี่ย 18-20X คงคำแนะนำ  “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 17.70 บาท

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART


กำลังโหลดความคิดเห็น