จับตาหุ้นสินเชื่อเช่าซื้อ คาดทั้งปีเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการใช้เงินของภาคประชาชน แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉุดทั้งตลาดหดตัว พบหลายบริษัทเตรียมทำสถิติใหม่ด้านผลประกอบการ ขณะที่กูรูประเมินเติบโตต่อเนื่องถึงปีหน้า พร้อมยก SAWAD, MTC, JMT และ ASK โดดเด่น จนยั่วใจกลุ่มทุนใหญ่สนใจลงตลาดเข้าร่วมแบ่งเค้ก
ช่วงที่ผ่านมา ความร้อนแรงและความผันผวนของตลาดหุ้นไทยหนีไม่พ้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์การเมืองในไทย จนส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์ขยับขึ้นมาถึง 1,346.47 จุด (วันที่ 13 พ.ย.) ซึ่งมาจากแรงคาดหวังว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับอานิสงส์จากการไหลกลับมาของเม็ดเงินลงทุนจากประเทศ ขณะที่สถานการณ์การเมือง แม้จะมีการชุมนุมแต่ความรุนแรงลดลงทำให้สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ยังแนะนำให้นักลงทุนติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากออกมาในทิศทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จะช่วยลดความร้อนแรง และลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยได้ในระดับที่ดี
สถานการณ์ความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นนำไปสู่กลยุทธ์การลงทุนที่ถูกแนะนำว่า อาจได้เห็นการพักฐานของดัชนีหลักทรัพย์ และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีเพื่อเข้าลงทุน หุ้นใหญ่เตรียมกลับมาในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลับมาน่าสนใจ นั่นคือหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและราคาที่ถูก รวมถึงกลุ่มลีสซิ่ง ไฟแนนซ์ โดยถูกให้เหตุผลว่าเป็นหุ้นที่ไม่น่ากังวลกับหนี้เสีย หรือ NPL และการตั้งสำรอง ขณะที่ลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถูกยกให้เป็นอันดับต้นๆ ที่จะได้รับผลกระทบไม่น้อยหน้ากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเมื่อรวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีก่อนหน้า รวมถึงยอดหนี้เสียในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความน่าสนใจเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ถูกลดทอนลงไปมาก
ขณะที่ กลุ่มลีสซิ่ง หรือผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แต่ดูเหมือนนักวิเคราะห์จะให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดในประเทศ ไม่เพียงเท่านี้การเติบโตของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อยังเกิดขึ้นอยู่บนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และทำให้ตลาดสินเชื่อโดยรวมหดตัวด้วยเช่นกัน
มีรายงานว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังมาตรการพักหนี้ 3 เดือน จะครบกำหนด และลูกค้าอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยมี 2 แนวทางคือ หนทางแรกพักชำระหนี้ให้ลูกค้าต่อในกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติ และปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของแต่ละราย จากปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 44 ราย ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรวม 2 ล้านล้านบาท ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีสัญญาณปรับเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของลูกค้าที่ลดลง โดยหลายบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อพบว่าตัวเลขดังกล่าวเติบโตขึ้นมาเกือบเท่าตัวจากก่อนหน้านั้น
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางรายเริ่มออกมายอมรับว่าตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ยอดสินเชื่อปล่อยรถยนต์ใหม่เริ่มลดลง ตามทิศทางอุตสาหกรรมที่ยอดขายปีนี้จะลดลง 30% หลังจากช่วงครึ่งปีแรกตลาดสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท หดตัวราว 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีหลังหลายฝ่ายหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวตามลำดับ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
แต่เมื่อแนวโน้มระยะยาวของธุรกิจสินเชื่อยังมีทิศทางเติบโตตามความต้องการของผู้บริโภค ก็ทำให้ธุรกิจนี้ยังเป็นที่สนใจของกลุ่มทุนรายใหม่ๆ ที่ต้องการเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งการตลาด และเม็ดเงินในระบบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ล่าสุด มีรายงานว่า บมจ.เครือไทย โฮลดิ้ง กลุ่มธุรกิจการเงิน-ประกันของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ และได้ดึง “ฐากร ปิยะพันธ์” อดีตผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในลาดสินเชื่อรายย่อยเข้ามาบริหาร
ทั้งนี้ โดยมองว่าภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อถือเป็นธุรกิจตลาดค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสพอสมควรในการเติบโตหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งธุรกิจในบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อภายใต้บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล แต่เป็นการดำเนินธุรกิจรถยนต์ให้เช่า เพื่อการดำเนินงานในองค์กร ซึ่งยังไม่ได้ขยายธุรกิจไปสู่ประเภทอื่น ทำให้บริษัทมีความสนใจได้เตรียมวางโครงสร้างพื้นฐานและแผนธุรกิจเพื่อการรองรับในการขยายธุรกิจเช่าซื้อไปสู่ตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจ รวมถึงธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ แม้ว่าการแข่งขันจะสูง แต่เป็นธุรกิจที่มองว่าเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปทำตลาดในอนาคตเพื่อต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งน่าจะมีแผนชัดเจนในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดเช่าซื้อ “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) แสดงความเห็นว่า ตลาดเช่าซื้อส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ โดยปัจจุบันประเมินว่ามีมูลค่าตลาดสูง 1.76 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เช่าซื้อรถใหม่กว่า 70% (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เช่าซื้อรถมือสองราว 20% (ราว 3.6 แสนล้านบาท) ที่เหลืออีก 8-9% เป็นสินเชื่อรถแลกเงิน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียน (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท)
โดยที่ผ่านมา ตลาดเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงรถกระบะ และรถตู้ ถูกครองตลาดโดยกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% ขณะที่กลุ่ม captive finance (ให้บริการสินเชื่อกับค่ายรถยนต์) และลีสซิ่งของค่ายรถจะอยู่ที่ประมาณ 26% ส่วนกลุ่ม Non-Bank มีแค่ 3% ถือว่ายังน้อย ทำให้หลายกลุ่มทุนให้ความสนใจในธุรกิจนี้
ส่วนปี 2563 ซึ่งมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สินเชื่อรถใหม่ชะลอตัวลง ทำให้กลุ่มธนาคารหันมาให้ความสำคัญกับสินเชื่อรถแลกเงิน หรือจำนำทะเบียนรถมากขึ้น เพราะพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากต้องการเงิน ต้องการสภาพคล่อง เมื่อมีรถยนต์อยู่ในความครอบครอง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ ไม่เพียงเท่านี้ กำไรขั้นต้น (Margin) ของตลาดดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่สูง แม้จะถูกกำกับดูแลโดย ธปท. ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก แต่ก็ถือว่าสูงกว่าปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นอย่าง สินเชื่อบ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ มีรายงานว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์กลับมาดีขึ้น จากเดิมที่หดตัวกว่า 50% ปัจจุบันหดตัวเหลือ 10% ดังนั้น จึงถูกยกให้เป็นตลาดน่าสนใจมาก โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่นำไปสู่การเปิดตัวเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ของตลาดมากขึ้น
ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสจำกัด แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งบวกกับกำไรไตรมาสที่ 3/2563 โดดเด่น ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีเงื่อนไขในการคัดกรองดังนี้ 1.เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรงวดไตรมาส 3 ทั้งจากไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.เป็นหุ้นที่แนะนำซื้อ 3.มี Upside มากกว่า 10% โดยคาดว่า บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จะประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 1,052 ล้านบาท เติบโต 7.1% จากไตรมาสก่อน และ 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากความต้องการใช้สินเชื่อมากขึ้น หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์แล้ว และเป็นช่วงเปิดเทอม หนุนความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นทำให้มีราคาเป้าหมาย 60 บาท
ถัดมาคือ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล MTC คาดว่าไตรมาส 3 จะมีกำไรสุทธิ 1,308 ล้านบาท เติบโต 3.3% จากไตรมาสก่อน และ 21.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแนวโน้มกำไรสุทธิจะขึ้นทำ New high จากแนวโน้มสินเชื่อสุทธิเติบโตต่อเนื่องหลังคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นช่วงเปิดเทอมและฤดูกาลเพาะปลูก หนุนความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดกำไรสุทธิและแนวโน้มสินเชื่อสุทธิปี 2563-2564 เติบโต 15.3% จากปีก่อน และ 20% จากปี 2562 ทำให้มีราคาเป้าหมาย 70 บาท
และ บมจ.เจ มาร์ท JMART คาดว่างวดไตรมาส 3 จะมีกำไรสุทธิ 201.6 ล้านบาท เติบโต 25.5% จากไตรมาสก่อน และ 61.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ธุรกิจค้าปลีก ยอดจำหน่ายมือถือ และรายได้จาก บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย หรือ SINGER จากธุรกิจขายสินค้าพร้อมให้สินเชื่อ และได้รับผลบวกการจับจ่ายใช้สอยคาดว่าจะมีปริมาณสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐ ราคาเป้าหมาย 17.9 บาท
นอกจากนี้ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ประเมินทิศทางธุรกิจของ บมจ.เอเชียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ว่าแนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 24 บาท หลังบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน สูงกว่าคาดที่ 216 ล้านบาท จากสินเชื่อเติบโตดีกว่าคาด 2.5% จากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับทิศทางของยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ASK มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อประมาณ 94% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท) ขณะที่ NIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ .3% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงไตรมาสแรกปี 63 จากสินเชื่อที่ฟื้นตัว รวมทั้งการกลับมาจ่ายหนี้ของลูกหนี้หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดอยู่ที่ 248 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีการ Write-off หนี้จำนวนมากในไตรมาส 3 (โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อที่มีการค้างชำระมานาน) ส่งผลให้ % NPL ลดลงมาเหลือเพียง 2.6% ซึ่งเป็นไปตามคาด โดยการ Write-off ทำให้บริษัทมีภาระในการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 135 ล้านบาท หรือ 73% เทียบไตรมาส และ 14% เทียบปีก่อน จึงยังคงมุมมองว่าการเติบโตของสินเชื่อของบริษัทจะยังสามารถทำได้ต่อเนื่องหากไม่มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยคาดสินเชื่อกลุ่มรถยนต์ รถบัสที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีหน้าหลังต่างประเทศมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะช่วยหนุนให้กำไรทำสถิติเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีราคาเหมาะสม 24.00 บาท
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 4.40 บาท/หุ้น สำหรับหุ้น บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) หลังบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3 ที่ 472 ล้านบาท (ทรงตัวจากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน สูงกว่าตลาด 12% โดยเป็นผลของค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง และต่ำกว่าคาด จากสินเชื่อที่ลดลง 5% จากปีก่อน และลดลง 1% จากไตรมาสก่อน ทำให้ระดับการตั้งสำรอง หรือ LLR/loan อยู่ระดับที่สูง ทั้งนี้ยังคงกำไรสุทธิปี 2563 ที่ระดับ 1,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และปีหน้า 1,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และมีโอกาสที่จะปรับกำไรสุทธิขึ้นจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง
จากก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น และ outperform SET เพิ่มขึ้น 45% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากยอดสินเชื่อใหม่ที่ผ่านจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น นอกจากนี้ประเมินว่าบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ในการขยายตัวในอนาคตที่สูง และราคาปัจจุบันยังมีความน่าสนใจ โดยเทรดต่ำเพียง 2021 P/BV ที่ 1.6x และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม
สุดท้าย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส จำกัด ประเมินแนวโน้มธุรกิจของ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ว่ากำไรสุทธิงวด 2Q63/64 (มิ.ย.-ส.ค.63) ออกมา 966 ล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อน และ 82% จากไตรมาสก่อน ดีกว่าที่คาดไว้ถึง 23% ปัจจัยที่ทำให้กำไรสูงกว่าคาด คือ การตั้งสำรองฯและค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ สำหรับกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 63/64 คิดเป็น 57% ของทั้งปีที่คาดการณ์ไว้ ส่วนสินเชื่อหดตัว 0.5% จากปีก่อน และลดลง 2.5% YTD แต่เติบโตได้ 1.0% จากปีก่อน เนื่องจากลูกค้าลดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงโควิด-19
ทำให้รายได้รวมลดลง 5% จากปีก่อน และ 5% จากไตรมาสก่อน เป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา และการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต (จาก 18% เป็น 16%) และสินเชื่อส่วนบุคคคล (จาก 28% เป็น 25%) มีผล 1 ส.ค.63 อย่างไรก็ตาม รายได้จากหนี้เสียกลับมาเป็นหนี้ดีเพิ่มขึ้น 26% จากปีก่อน และรายได้จากต่างประเทศเติบโต 28% จากปีก่อน ทำให้คงคำแนะนำซื้อในราคาพื้นฐาน 130 บาท