ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ของขวัญปีใหม่ 2563 ของคนเป็นหนี้คงไม่มีข่าวไหนดีไปกว่าเรื่องที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เตรียมออก โครงการรีไฟแนนซ์ ให้ลูกหนี้ชั้นดีที่กำลังจะออกอาการร่อแร่ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 7-12% เท่านั้น จากปกติขูดกันอยู่ระดับ 18-28% ใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิต-กดเงินสดแล้วช็อตจนต้องเดินเข้า “โครงการคลินิกแก้หนี้” เตรียมเฮกันได้
จากกระแสข่าวนี้แพลมๆ กันมาก่อนหน้า เวลานี้ได้รับการยืนยันจากแบงก์ชาติ โดย นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ชัดเจนแล้วว่าจะมีโครงการเข้ามาช่วยอุ้มลูกหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดจริง หลังจากที่เห็นสัญญาณไม่ดีของบรรดาลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนชำระดีแต่พักหลังเริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ โดยที่มียอดแจ้งผ่านโครงการโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มขึ้น
การมูฟของแบงก์ชาติที่ทำได้เร็วต่อสถานการณ์นั้น อาศัยฐานข้อมูลของคลินิกแก้หนี้ที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้แก้ไขปัญหาหนี้ของตัวเอง เช่น ลดภาระการจ่ายหนี้ลง และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ดังนั้นเมื่อตัวเลขแกว่งขึ้นแกว่งลงก็เห็นแนวโน้มชัดว่าจะไปในทิศทางไหน วิเคราะห์ได้ทันสถานการณ์ลูกหนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง
เรียกว่าจับสัญญาณได้ไว และรีบลงมือแก้ไข โดยแบงก์ชาติได้หารือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด ว่าจะช่วยดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือหลักการเบื้องต้น อีกสักระยะคาดว่าประมาณต้นปี 2563 จะมีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนออกไป
การมีโครงการคลีนิกแก้หนี้ที่ช่วยเหลือ “ลูกหนี้เอ็นพีแอล” แล้วขยับมาช่วยกลุ่ม “ลูกหนี้ชั้นดี” เพื่อลดภาระให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าลูกหนี้ทำตัวเป็นลูกหนี้ที่แย่ เบี้ยวหนี้ ขาดนัดชำระ ฯลฯ กลับได้รับความช่วยเหลืออาจจะมีการเจรจาตัดต้น ตัดดอก ยืดหนี้ แต่ลูกหนี้ชั้นดีกลับถูกโขกดอกเบี้ยโหด เกิดการเปรียบเทียบและสร้างแรงจูงใจในทางที่ผิดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ตามข่าว โครงการรีไฟแนนซ์ ที่ออกมาเวลานี้ก็คือ ลูกหนี้ชั้นดีที่ส่อแววว่ามีปัญหาที่จะเข้าโครงการนี้ จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 7-12% จากปกติอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 18-28% ซึ่งดูตัวเลขดอกเบี้ยที่ลดลงแล้วถือว่าจูงใจมาก แต่ก็ต้องรอเคาะอย่างเป็นทางการจากแบงก์ชาติอีกครั้ง
สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด มีข้อพิจารณาหลักๆ คือ ผู้เข้าร่วมต้องยกเลิกวงเงินเดิมเพื่อไม่ให้ภาระหนี้สูงขึ้น และต้องให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ตรวจสอบข้อมูลได้ทุกเดือน, ต้องเป็นลูกหนี้ที่มีวินัยการชำระเงินต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน, มีรายได้ประจำ, อายุไม่เกิน 70 ปี, อัตราดอกเบี้ยที่คิดจะอยู่ที่ 7-12 % ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาชีพ และระยะเวลาผ่อนชำระ
โดยจำแนกออกเป็นกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานและลูกจ้างองค์กรของรัฐ ที่มีรายได้ประจำ มีระดับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 5% จะได้รับการคิดดอกเบี้ย 7-10% ขึ้นกับระยะเวลาการผ่อนชำระ ส่วนประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า 8% จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ย 9-12% ขึ้นกับระยะเวลาผ่อนชำระ
ตามตัวเลขเบื้องต้น ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเข้าร่วมโครงการได้จะมี 3 ล้านบัญชี วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท บัตรกดเงินสด 1.7 ล้านบัญชี วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสองบัญชีมีจำนวนบัญชีที่เข้าข่ายทั้งหมด 4.7 ล้านบัญชี ยอดเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งหากช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ดีที่มีหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 7 % คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณแสนราย
ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลนั้น นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่ากำลังอยู่ระหว่างผ่อนเกณฑ์คลีนิกแก้หนี้ โดยจะขยายโอกาสให้ลูกหนี้เสียที่เป็นเอ็นพีแอลภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เข้าร่วมโครงการได้ด้วย จากเดิมที่จะให้แต่คนที่เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 เข้าร่วม และจะขยายเกณฑ์ให้ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาลเข้าโครงการได้ด้วย เพราะพบว่าคดีในศาลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปฏิกิริยาจากนโยบายของแบงก์ชาติที่จะมีโครงการรีไฟแนนซ์ฯ ดังกล่าวออกมา ทุบราคาหุ้น หุ้นกลุ่มธุรกิจบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ปรับตัวลดลงในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ที่มีข่าวคราวออกมา โดยราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงสุด คือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ลดลง 4.85% ปิดตลาดที่ 39.25 บาท, บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ลดลง 2.39% ปิดตลาดที่ 184 บาท ส่วนหุ้น บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ลดลง 1.27% มาปิดตลาดที่ 58.50 บาท และหุ้น บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD ) ลดลง 2.4% มาปิดตลาดที่ 61 บาท
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า โครงการรีไฟแนนซ์ฯ ของแบงก์ชาติ จะส่งผลกระทบต่อกำไร ของ KTC มากพอสมควร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงทุก 1% จะกระทบกำไรของ KTC 0.7 % เพราะ ธุรกิจหลักของ KTC มาจากให้สินเชื่อบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด กว่า 80 %
ด้านผู้บริหารสายงานธุรกิจบัตรเครดิตของสถาบันการเงิน ได้สะท้อนว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี ทำให้ลูกค้าชั้นดีมีทางเลือกมากขึ้น แต่ไม่แน่ว่าจะช่วยลดภาระหรือไม่ก่อหนี้เพิ่มหรือไม่
ตามความเห็นของ นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงาน ดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรมธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ แม้ยังไม่เห็นรายละเอียดโครงการ แต่หากดูจากการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและบัตรเงินสดให้ลูกค้าอยู่แล้ว ฟันธงเลยว่าส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้ามักนำหนี้เดิมมารีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ยเท่านั้น เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ไปเปิดบัญชีใหม่ โครงการรีไฟแนนซ์จึงไม่ช่วยลดภาระลงจริงและไม่ได้ผล
ถามว่าจะแก้ให้ตรงจุดได้อย่างไร นายฐากร เห็นว่า หากจะทำได้จริงลูกหนี้ที่เข้าโครงการต้องปิดบัญชีไปเลยและห้ามก่อหนี้ใหม่จนกว่าจะชำระหนี้เก่าครบตามกำหนด คนที่เข้าโครงการต้องมีลิสต์ขึ้นเครดิตบูโรให้แบงก์ทราบว่าลูกหนี้รายนั้นอยู่ระหว่างรีไฟแนนซ์เพื่อป้องกันการก่อหนี้ใหม่ ทำเช่นนี้ถึงจะแก้ปัญหาและลดภาระลูกหนี้ได้จริง และต้องให้ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดเข้าสู่ระบบทุกรายด้วย
ขณะที่ นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC มองว่า ทำให้ลูกหนี้มีทางเลือกมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดถือว่าต่ำมาก แต่ควรพิจารณาแก้ปัญหาให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ทั้งจำนวนมากกว่า เพราะแม้จะเป็นลูกหนี้ชั้นดีแต่มีโอกาสจะก่อหนี้เพิ่ม ปัจจุบันสินเชื่อบุคคล KTC มีจำนวน 13 ล้านบัญชี มูลหนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท
สัญญาณหนี้พุ่งทั้งระบบนั้น มีรายงานมาจากแบงก์ชาติอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสล่าสุดของปีนี้ก็เช่นกัน โดยนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในไตรมาส 3 ของปี 2562 ธปท.เริ่มเห็นความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพิ่มขึ้น โดยเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นมาที่ 3.01% จาก 2.95% ในไตรมาสก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% จาก 3.05% ในไตรมาสก่อน
ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค เอ็นพีแอล ปรับขึ้นเป็น 2.81% จาก 2.74% ในไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อที่กลายเป็นหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SM) หรือสินเชื่อที่เริ่มขาดส่ง และสินเชื่อที่กลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นที่น่าเป็นห่วง คือ สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีวงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท ในธุรกิจอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี รวมทั้งเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงขึ้น โดยเริ่มเห็นสินเชื่อที่ยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล กลายเป็นหนี้ SM และหนี้เอ็นพีแอล
ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกมาระบุว่า คนไทยติดกับดักหนี้ครัวเรือนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี จากการใช้จ่ายเกินความจำเป็นทำให้เป็นหนี้เร็ว นาน และมูลหนี้มาก
ขณะที่ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ของการเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพี และสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 78.7% ในไตรมาส 2/62 เท่ากับไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมา และยังพบว่าหนี้ครัวเรือนมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา (ในช่วงระหว่างไตรมาส 3/2561 ถึงไตรมาสที่ 2/2562) โดยหนี้ครัวเรือนเติบโตที่ระดับประมาณ 6.0% โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส ขณะที่จีดีพีของไทย มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อไตรมาสที่ประมาณ 4.5%
“สภาวะหนี้ที่เติบโตเร็วกว่าการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ประเด็นสำคัญของหนี้ครัวเรือนในเวลานี้ ก็คือความสามารถในการชำระคืนหนี้ ในยามที่ระดับรายได้ของครัวเรือนและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงชะลอตัว ....” บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับทบทวนกรอบประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้ ขึ้นมาที่ 78.5-79.5% (จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว
ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนของไทยจะพุ่งกระฉูด มีปัญหาการชำระหนี้ทั้งระบบดังกล่าวข้างต้น แต่การแข่งขันปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลในโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ของแบงก์พาณิชย์ ยังแข่งกันดุเดือดเหมือนเช่นที่ผ่านมา เช่น กสิกรไทย ที่ส่งเอสเอ็มเอส ถึงลูกค้าบัตรเครดิตเสนอบริการสินเชื่อ K-Smart Cash เพื่อให้เปลี่ยนวงเงินคงเหลือในบัตรเครดิตเป็นเงินสดเข้าบัญชี โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม 3% พร้อมให้ผ่อนสูงสุด 10 เดือน คิดดอกเบี้ย 0.84% ต่อเดือน
ส่วน ธนชาต เสนอบริการใหม่ให้ผู้ถือบัตรเครดิต หรือบัตรสินเชื่อบุคคลธนชาต FLASH Plus เปลี่ยนวงเงินคงเหลือในบัตร โอนเข้าบัญชีเป็นเงินสดออนไลน์ได้ วงเงินขั้นต่ำ 5,000-500,000 บาท ผ่อนชำระคืนรายเดือนสูงสุด 60 เดือน หรือผ่อนชำระแบบขั้นต่ำ เป็นต้น
แข่งกันดุเดือดมากและเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันโดยรีดดอกเบี้ยสูงทำยอดรายได้ปลายปี โอกาสที่จะกลายมาเป็นหนี้เสียก็มากตามมาหมุนวนเป็นวัฎจักรไม่จบ
ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไม่หยุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าให้รู้จักแยกแยะ อันไหนที่เป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นอันไหนจำเป็น ทุกคนบอกว่าจำเป็นหมด แต่เท่าที่ดูในโพลมา คนรุ่นใหม่ที่เรียนหนังสือจบมาต้องมีบ้าน มีรถ ต้องมีทันที นั่นล่ะ ขณะที่รายได้ยังไม่พอ ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องการศึกษา จบมามีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอกับภาระหนี้ที่จะสร้างขึ้นมาหรือไม่
“ลุงตู่” ยังลามไปเม้นท์รายการใช้จ่ายในเรื่องคุณภาพชีวิตแล้ว ยังไปว่าเรื่องความสวยงาม แต่งตัว ทำหน้าสวยๆ ทำจมูกไปด้วยอีกต่างหาก แบบไม่กลัวคนสวยมีเคือง แถมด้วยว่า “.... ผมไม่ได้ไปอะไรกับท่าน ก็ยินดีที่ทำแล้วมันสวยขึ้น ผมไม่ได้ว่าอะไร คนจะงาม งามน้ำใจใช่ใบหน้า ทำความดีไว้นะครับ มันสวยเอง”
อย่างว่า เรื่องความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ก็นำมาซึ่งหนี้ไม่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน