xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บาทแข็งฉุดส่งออกทรุด เศรษฐกิจระส่ำ กองทุนใหม่ SSF ซ้ำ ทำตลาดหุ้นป่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังอยู่ในโหมดเศรษฐกิจขาลงกันทั้งโลกทั้งไทยจากหลายปัจจัยที่รุมเร้าโดยเฉพาะสงครามการค้าของสองบิ๊กเบิ้มสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกถ้วนหน้า ยิ่งมาเจอเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจากภาวะเกินดุลทางการค้าและเอกชนชะลอลงทุนอีกเด้ง บวกกับการคลอดกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาแทน LTF ทำเอาตลาดหุ้นปลายปีปั่นป่วน คาดการณ์เม็ดเงินลงทุนหดหาย

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ 3 สถาบันเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ตั้งวงถกทำข้อเสนอแนะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเตรียมหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เพื่อหาทางทางรับมือกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั้งในระยะสั้นและหวั่นว่าจะยาวไปถึงปีหน้า 2563

อันที่จริงนี่เป็นข้อห่วงกังวลตลอดปีนี้ก็ว่าได้ที่ทางสภาหอฯ และส.อ.ท.หารือกับทางแบงก์ชาติมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีการหารือเพื่อหาทางลดผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังทรงๆ

แม้ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาพร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี แต่ก็ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ตอนนี้ก็กลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง โดย 11 เดือนของปีนี้เฉลี่ยค่าเงินไทยยังคงแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อธิบายว่า ประเด็นสำคัญหนึ่งที่มีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาจากการที่ไทยอยู่ในภาวะเกินดุลทางการค้าซึ่งจะเห็นว่าแม้ส่งออก 10 เดือนแรกของปีนี้ไทยติดลบ 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า แต่การนำเข้าสินค้าทุนกลับไม่ขยายตัวเนื่องจากเอกชนชะลอการลงทุน ซึ่งรัฐบาลคงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลค่าเงิน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีหน้า 2563 จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0-ติดลบ2%

สถานการณ์ส่งออกน่าวิตกจริงดังที่ น.ส. กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สรท.) กล่าวว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ใหม่ คาดว่าจะติดลบ 2.5 - 3% อยู่บนสมมติฐานว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาท บวกลบ 0.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2563 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 0 - 1% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยกดดันการส่งออกหดตัว ประธาน สรท. ชี้ว่า เนื่องจากยังคงเผชิญกับสงครามการค้า, มาตรการ IMO Low Sulphur 2020 ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ประกาศให้วันที่ 1 ม.ค. 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นวันแรกเริ่มบังคับใช้มาตรการ IMO 2020 โดยกำหนดให้เรือทุกลำในโลกต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่ง สรท. ต้องการให้แบงก์ชาติบริหารจัดการค่าเงินบาทด้วยมาตรการที่เข้มข้นไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งมากไปกว่านี้

สำหรับวงประชุม กกร.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นั้น ในภาพรวม กกร.ยังคงมองว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2562 จะอยู่ที่ 2.7-3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มองเป็นบวกอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์จริง ขณะที่ตัวเลขส่งออกคาดว่าจะติดลบ 0-2%

ส่วนแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบสกุลเงินอื่น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

ภายใต้สถานการณ์ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน กกร.จึงมีข้อเรียกร้องว่ารัฐบาลควรทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองให้มากที่สุด อยากเห็นการเมืองนิ่ง พรรคร่วมรัฐบาลต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและหนุนเศรษฐกิจไทยเดินหน้า และขอให้บอร์ดค่าจ้างชะลอการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน หรือหากจะขึ้นควรปรับเพียงเล็กน้อยไม่ควรถึง 5-10 บาทต่อวัน

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในไตรมาส 4 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีหน้า 2563 กกร.มีข้อเสนอ ดังนี้ 1) มาตรการ ช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2)มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง 3)เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น

4)ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs 5)เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการ e-Payment และ 6)ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆ ของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย เป็นต้น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ส่วนแบงก์ชาติจะรับฟังหรือไม่และจะได้ผลประการใดหรือไม่ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็แทบจะเรียกได้ว่างัดวิชาก้นหีบกันออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งจนแทบจะไม่หลงเหลืออะไรให้งัดมาใช้อีกแล้ว ก็อย่างที่ประธาน ส.อ.ท. ว่าสาเหตุเงินบาทแข็งค่านั้นคาดว่าจะมาจากภาวะเกินดุลและเอกชนชะลอการลงทุน ถ้าจะแก้ให้ได้ก็ต้องทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและการเมืองไทย และกล้าหอบเงินเข้าลงทุนนั่นแหละถึงจะแก้ค่าบาทแข็งได้ตรงเป้าที่สุด

ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังทรงๆ ทรุดๆ ต้องออกมาตรการกระตุ้นกันไม่หยุดหย่อน ทางกระทรวงการคลัง ที่อยากสร้างวินัยการออมระยะยาวให้กับประชาชนคนไทย ก็ออก กองทุนเพื่อการออม (Super Saving Fund) หรือ กองทุน SSF มาทดแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

แต่เป้าหมายการออกกองทุนการออมระยะยาว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในภาวะที่คนไทยหนี้ครัวเรือนพุ่งติดอันดับ 11 ของโลก และเป็นรองแชมป์ของเอเชีย จะทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนหรือไม่ โดยบรรดาโบรกเกอร์สำนักต่างๆ คาดว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นในช่วงปลายปีที่นักลงทุนแห่ซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอาจจะหดหายไป

เกณฑ์กองทุนที่คลอดใหม่ดังกล่าวตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 มีมติเห็นชอบให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้นนั้น

หากจะกล่าวโดยสรุปสั้นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ นโยบายการลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม SSF มีดังนี้ 1)ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท 2) ถือไว้ 10 ปีปฎิทินจึงจะสามารถขายคืนได้ 3)ไม่กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซื้อปีไหนลดหย่อนปีนั้น 4)ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กบข. ฯลฯ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และ 5)กองทุน SSF มีอายุ 5 ปี (2563-2567) โดยปีสุดท้ายกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนนโยบายการลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retiremant Mutual Fund : RMF) ที่ปรับปรุงใหม่ มีดังนี้ 1)ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับ SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. ฯลฯ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 2)ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน ลงทุนต่อเนื่องทุกปีเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี 3)ต้องถือมากกว่า 5 ปี และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์เหมือนเดิม

นายอุตตม เสาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผลประเมินกรณีซื้อหน่วยลงทุนของ SSF และ RMF เต็มตามเพดานที่กำหนดแล้ว กลุ่มคนที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้น 180,000 บาทต่อปี และผู้ออมที่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินในระยะยาวเพิ่มขึ้น 360,000 บาทต่อปี แต่หากผู้ออมที่รายได้ 100,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินออมในระยะยาวเพิ่มขึ้น 500,000 บาทต่อปี

ส่วนยอดรวมผู้ใช้สิทธิการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากลงทุนในกองทุน LTF ในปี 2561 จะมีทั้งสิ้นราว 400,000 ราย โดยมียอดการขอคืนภาษีฯ ราวกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะยอดรวมผู้ใช้สิทธิการคืนภาษีฯ ราว 2 แสนราย คิดเป็นยอดรวมการขอคืนภาษีฯ กว่า 6,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นั้น นักลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้จะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลัง ได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ

หลังจากครม.อนุมัติกองทุนใหม่ SSF ออกมา แวดวงนักลงทุนต่างวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อด้อย ข้อดีแน่ๆ คือ ออมยาว, กระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้จากเดิมที่ต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลัก, เพดานซื้อ 30% ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น และไม่มีกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ

แต่ข้อด้อย คือ SSF ต้องถือยาว 10 ปี จากเดิม LTF เพียง 7 ปีปฏิทิน, ยอดเพดานสูงสุดที่สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้น้อยลง จาก 500,000 บาท ของ LTF เหลือเพียง 200,000 บาท ใน SSF และคำนวณการลดหย่อนภาษีสูงสุดรวมกัน ทั้ง SSF และ RMF ต่างจากเดิมคำนวณแยกกันระหว่าง LTF กับ RMF ทำให้วงเงินการลดหย่อนภาษีสูงสุดลดลงจาก 1,000,000 บาท เหลือเพียง 500,000 บาทเท่านั้น

การปรับเกณฑ์ใหม่คราวนี้ นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (บลจ.กสิกรไทย) ให้ความเห็นว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะให้มีการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้นจึงขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเดิมที่ 15% เป็น 30% และปรับให้การออมเพื่อการเกษียณมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่การที่ไม่มีการต่ออายุ LTF ซึ่งปัจจุบันมีขนาดกองทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกประมาณ 30,000 - 40,000 ล้านบาท แต่ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจาก SSF เข้ามาทดแทนประมาณ 20,000 -40,000 ล้านบาท

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ให้ข้อมูลผ่านสื่อว่า จากสถิติตัวเลขซื้อหุ้นของกองทุน LTF ในช่วง 4 ปีย้อนหลังอยู่ที่ประมาณปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่จากวงเงินที่ให้สิทธิซื้อกองทุน SSF เมื่อรวมกับ กองทุน RMF และกองทุนอื่นไม่เกิน 5 แสนบาท ลดลงจากเดิมที่ 1 ล้านบาท ทำให้คนที่มีฐานรายได้ เกิน 4 ล้านบาทต่อปี ซื้อได้น้อยลงเหลือไม่เกิน 2 แสนบาท และจากการทำผลสำรวจเบื้องต้นในกลุ่มคนที่ได้สิทธิซื้อวงเงินเพิ่มจาก 15% เป็น 30% นั้น พบว่าประมาณ 70-80 % จะไม่ใช้สิทธิซื้อเพิ่ม ดังนั้นประเมินว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนลดลงไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท เหลือประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้า

ทางด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อว่าหลักเกณฑ์ของกองทุนใหม่ SSF และ RMF ที่ออกมานั้น อาจจะทำให้เม็ดเงินที่เคยซื้อ LTF ปีละ 60,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิม เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อชนชั้นกลางทำให้เม็ดเงินของกลุ่มผู้มีเงินที่เคยซื้อ LTF และ RMF เต็มสิทธิ์หายไป

ส่วนนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่กองทุน SSF ต้องมีเวลาถือครอง 10 ปี ทำให้ความน่าสนใจไม่มาก แรงจูงใจที่จะทำให้คนซื้อสะสมน้อย ดังนั้น SSF อาจจะไม่ได้ดูดเงินใหม่มากนัก

ขณะเดียวกัน นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กองทุน SSF สามารถลงทุนได้หลากหลาย จึงประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นอาจลดลงมากกว่า 50% จากปกติเงินจากกองทุน LTF ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยปีละประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท หลังจากนี้เมื่อมีกองทุนใหม่ คือ SSF คาดว่าจะลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท เพราะแรงจูงใจในการซื้อน้อยลง อีกทั้งกองทุนนี้ต้องถืออย่างน้อย 10 ปี

ถึงจะเป็นกองทุนใหม่ที่ดีต่อการออมระยะยาวก็ต้องรอดูว่าจะจูงใจนักลงทุนทั้งหน้าใหม่หน้าเก่ามากน้อยแค่ไหน เพราะจริตคนไทยไม่ชอบออม แต่ชอบ ชิม ช้อป ใช้ มากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น