xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” หวั่นการเมืองเริ่มไม่นิ่งฉุดเชื่อมั่น แนะ 6 มาตรการชงรัฐคลอดกระตุ้น ศก.เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กกร.” มองโลกแง่ดีคงจีดีพีปีนี้โต 2.7-3% ส่งออกลบ 2-0% รับยังไร้แรงปัจจัยหนุน คาดปี 63 จะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้แต่จะรายงานตัวเลขทางการเดือน ม.ค. 63 อีกครั้ง จี้การเมืองอย่าวุ่นวาย หวังมีเสถียรภาพสร้างเชื่อมั่นนักลงทุน แนะชะลอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมเสนอ 6 มาตรการรัฐเพิ่มเติมดูแล ศก.ให้ยาวไปถึงปีหน้า

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย รายงานว่า กกร.ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโต 2.7-3.0% ส่งออกติดลบ 2% ถึง 0% เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2563 น่าจะเติบโตจากปีนี้มาจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ การเติบโตการท่องเที่ยว การลงทุนเอกชน เป็นต้น แต่ตัวเลขทั้งหมดจะมีการทบทวนและรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้งในการประชุม กกร.เดือน ม.ค. 63

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กกร.มีความกังวลในขณะนี้ถึงเสถียรภาพการเมืองจึงอยากเห็นการเมืองที่นิ่งไม่ใช่ตีกันเช่นนี้ โดยต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าไปข้างหน้า รวมไปถึงต้องการให้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่จะประชุม 6 ธ.ค.นี้ชะลอการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน หรือหากต้องขึ้นก็ขอให้ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่ควรจะถึง 10-15 บาทต่อวัน เพราะหากขึ้นมากจะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนมากขึ้น

นายกลินทร์กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ (ทั้ง 3 เฟส) มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร ฯลฯ แต่เห็นว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้าปรับตัวดีขึ้น ดังนี้ 1. มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง 3. เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local) 4. ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 5. เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น 6. ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆ ของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท ฯลฯ

“กรณีค่าเงินบาทนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs เพราะหากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องก็คงจะมีผลระยะยาว ซึ่งก็ยอมรับว่าค่าบาทคงอยู่ที่ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐคงไม่กลับไปเหมือนเดิมอีก ทุกส่วนต้องยอมรับและปรับตัวด้วย” นายกลินทร์กล่าว

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานและประธานคณะกรรมการสายแรงงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การหารือไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำก่อนหน้ามีการเสนอตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 10-15 บาทต่อวัน แต่ล่าสุดได้มีการทบทวนใหม่และเห็นว่าหากจำเป็นต้องปรับขึ้นควรจะขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-6 บาทต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพของแต่ละโรงงานนั้นตอบยาก บางรายอาจอยู่ในภาวะลำบากแม้ขึ้นเพียง 1 บาทต่อวันก็มีผลกระทบให้ตัดสินใจปิดโรงงานได้
กำลังโหลดความคิดเห็น