“ส.อ.ท.” เตรียมถกร่วม ธปท.และแบงก์พาณิชย์อีกระลอก 4 ธ.ค.นี้ร่วมหาแนวทางและมาตรการดูแลผู้ส่งออกรับมือค่าเงินบาทหลังเริ่มกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง หวั่นกดดันส่งออกลากยาวถึงปี 63 หวังมาตรการดูแลต้องเข้มข้นขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธ.ค.นี้จะมีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ และตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท.เพื่อหามาตรการหรือแนวทางที่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกของไทยในระยะสั้นและระยะยาวที่จะมีผลต่อการส่งออกไปถึงปี 2563
“ ก่อนหน้านี้ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และส.อ.ท.ได้หารือกับตัวแทนธปท.มาแล้วโดยในส่วนของส.อ.ท.นั้นได้มีการหารือร่วมกันใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบสูงได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และวันที่ 4 ธ.ค.จะมาหารือลงลึกอีกรอบ”นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปีและมีมาตการดูแลค่าเงินบาทเมื่อ 8 พ.ย.62 แต่ก็ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงในระยะสั้นซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทยังคงกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องโดยพบว่า 11 เดือนเฉลี่ยค่าเงินบาทไทยยังคงแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคเอเชียซึ่งคาดว่าประเด็นสำคัญหนึ่งที่มีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาจากการที่ไทยอยู่ในภาวะเกินดุลทางการค้าซึ่งจะเห็นว่าแม้ส่งออก 10 เดือนแรกของปีนี้ไทยติดลบ 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมาจากผลกระทบสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่าแต่ในการนำเข้าสินค้าทุนกลับไม่ขยายตัวซึ่งมาจากการที่เอกชนชะลอการลงทุน
“จะเห็นว่าล่าสุดรัฐบาลเองพยายามเรียกร้องให้เอกชนมีการลงทุนในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นในช่วงที่บาทแข็งค่าเพื่อที่จะมีส่วนในการผ่อนคลายการแข็งค่าของค่าเงินซึ่งส.อ.ท.เองก็เห็นด้วยว่ารัฐควรจะเร่งส่งเสริมฯขณะเดียวกันก็คงจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลค่าเงินเพราะอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกในปี 2563 ได้จากที่ปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0-ติดลบ2% ”นายเกรียงไกรกล่าว