xs
xsm
sm
md
lg

TMB ชี้ GEN Y มือเติบ ขยันก่อหนี้ แนะลดชอป “ของต้องมี” ลง 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยพบว่า กลุ่ม GEN Y (อายุ 23-38 ปี) มีการกู้ยืมเงิน 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของ GEN Y ทั้งหมดที่มีอยู่ 14.4 ล้านคน โดยมีภาระหนี้ต่อหัวที่ 4.23 แสนบาทต่อคน และที่สำคัญ 20.2% ของจำนวน GEN Y ที่เป็นหนี้หรือเท่ากับ 1.4 ล้านคน ผิดนัดชำระหนี้ คิดเป็นสัดส่วน 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เปิดเผยว่า จากตัวเลขดังกล่าวทีเอ็มบีจึงได้ร่วมกับบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำการให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลในประเทศไทย ในการวิเคราะห์เจาะลึกถึงพฤติกรรมบนโซเชียลของ GEN Y พบว่า ความหวัง "ของมันต้องมี" ก่อนอายุ 40 ปี คือ 48% อยากมีบ้าน 22% รถยนต์ และ 13% เงินออม-สินทรัพย์อื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ GEN Y เมื่่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ยอดใช้จ่ายถึง 69% เป็นกลุ่มสินค้าของต้องมี 12% เกี่ยวกับบ้าน 10% รถ และ 9% เงินออม-สินทรัพย์ ซึ่งต่างจากความหวังที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าในจำพวก "ของมันต้องมี" นั้น โดยหลักๆ ประกอบไปด้วย โทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา-เครื่องประดับ ซึ่งหากเจาะเป็นรายสินค้าจะพบว่า GEN Y มีรายจ่าย "ของมันต้องมี" ต่อปี ได้แก่ โทรศัพท์ 22% คิดเป็น 23,571 บาท เสื้อผ้า 11% คิดเป็น 13,719 บาท เครื่องสำอาง 8% คิดเป็น 11,934 บาท อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% คิดเป็น 16,486 บาท กระเป๋า 4% คิดเป็น 15,466 บาท และนาฬิกา-เครื่องประดับ 2% คิดเป็น 14,342 บาท รวมค่าใช้จ่าย#ของมันต้องมีต่อปีต่อคน 95,518 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปีที่ 377,694 บาท

และหากขยายภาพให้ชัดเจนขึ้นอีก ก็จะพบว่าทั้งกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ "ของมันต้องมี" ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูง เทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือคิดเป็น 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือคิดเป็น 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ GEN Y มีความต้องการใช้จ่ายสำหรับสินค้ากลุ่ม “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอาต์ 42% ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าเหตุผลที่มองว่าเป็นของจำเป็นที่ 37% อีกประการที่สำคัญคือ เงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่สัดส่วน 70% บอกว่า มีเงินไม่พอที่จะใช้ซื้อ แต่ใช้การกู้เงินจากธนาคาร โดยใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย และยิ่งไปกว่านั้นพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

ขณะที่พฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีการใช้จ่ายเพื่อซื้อ “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% ซึ่งแม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่มแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่

GEN Y จ่ายเยอะ ออมน้อย

นอกจากนี้ หากผ่าโครงสร้างทางการเงินของ GEN Y ที่มีการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” จะสามารถแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่ กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี” มักมีพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม โดยเมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง

ขณะที่กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้” ก็จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม กล่าวคือ กลุ่มนี้พอมีรายได้เข้ามาก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่ายหรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่นๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

นายนริศ กล่าวอีกว่า การผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย นั่นหมายถึงเป็นการจ่ายบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดขั้นต่ำหรือไม่ครบตามจำนวนที่เรียกเก็บ จึงต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิตที่ผ่อนชำระอยู่ที่ 18% และบัตรกดเงินอยู่ที่ 28% ขณะเดียวกัน ทางด้านการออมก็จะกระจุกตัวอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนนี้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ GEN Y มีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจาก GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่บอกจะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย

แนะลด “ของมันต้องมี” ลง 50%

ในท้ายที่สุด GEN Y จะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกที่แนะนำคือ ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% (เชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก) ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ ก็จะทำให้ GEN Y มีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปี ก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก

“จากตัวเลขผลการสำรวจที่ออกมานั้น ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะหากเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นก็จะลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เนื่องจากวัยนี้เป็นทำงาน เพิ่งเริ่มต้นสร้างตัว หากมีการผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ช่วงนี้ ต่อไปในอนาคตการเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินก็จะน้อยลงตามไปด้วย แล้วยังเป็นห่วงต่อไปถึงชีวิตในวัยเกษียณของคนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่มีการปรับตัวในตอนนี้”

Influencer มีผลต่อการตัดสินใจของ GEN Y

นายพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลจากการเก็บข้อมูลพบว่า คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล) 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้และมีผู้ใช้งานบน Facebook 56 ล้านบัญชี Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี และระยะเวลาที่ใช้คิดเป็น 3 ชั่วโมง 11 นาที เวลาเฉลี่ยใน 1 วัน และยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y (อายุ 28-38 ปี)

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ Data ของแคมเปญในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า Influencer มีอิทธิพลทางความคิดให้ผู้ติดตามได้คล้อยตามง่าย ดังนั้น เมื่อเหล่า Influencer ลุกขึ้นมาทำอะไร จะเกิดกระแส เกิด Social Voice ในการทำตาม ซึ่งแน่นอนว่าในการทำแคมเปญครั้งนี้ เมื่อได้จุดกระแสออกไปแล้ว เกิดการตั้งคำถามให้แก่กลุ่ม GEN Y ให้เกิดการฉุกคิดเกี่ยวกับเป้าหมายทางการเงินเพื่อนำไปสู่แนวทางในการวางแผนชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

ชวน GEN Yเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

นางกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีให้ความสำคัญของการเป็นธนาคารแบบยั่งยืน (Sustainable Banking) ที่มุ่งมั่นให้ความรู้ทางด้านการเงิน พร้อมทั้งมีการใช้เครื่องมือกระตุ้นให้คนมีพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบโดยได้เน้นถึงกลุ่มคนเป้าหมายที่เป็น GEN Y จึงเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่าง ทีเอ็มบี และพันธมิตรอย่าง ไวซ์ไซท์ในการสร้างสรรค์แคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคน GEN Y

โดยในเฟสแรกเราได้จุดกระแสด้วย Influencer อย่าง กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่กันต์กันตถาวร และกาละแมร์ พัชรศรี ที่เป็นดาราเซเลบ มีแง่มุมในด้านการใช้ชีวิต ตั้งเป้าหมายด้านหน้าที่การงาน การเงินอย่างชัดเจน รวมไปถึง มิ้นท์ บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยวจากเพจ I Roam Alone และช่า เจ้าของเพจบันทึกของตุ๊ด ที่เป็นไอดอลสร้างแรงบันดาลใจ มาร่วมแชร์เป้าหมายชีวิตให้คนที่ติดตามได้ฟังกัน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าหาก GEN Y ได้ตระหนักถึงเป้าหมายในชีวิตแล้ว จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนพฤติกรรมตรงตามความเชื่อของทีเอ็มบี Make THE Difference ที่ว่าคนเราสามารถเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จนสำเร็จ นอกจากนี้ กิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนธันวาคมนี้ จะมีขึ้นเพื่อชักชวนให้ GEN Y ได้ลุกขึ้นเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior) ทางการใช้จ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนตั้งเป้าหมายที่จะได้เริ่มต้นสิ่งดีๆ ในปีถัดไป












กำลังโหลดความคิดเห็น