xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยเผยคนไทย เงินพอใช้ไม่เกิน 6 เดือน “เห่อกินเที่ยว โซเชียลมาก่อน ออมทีหลัง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารทหารไทยเผยผลวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของคนไทย พบเงินออมพอใช้ยามหยุดทำงานไม่ถึง 6 เดือน 1 ใน 4 หมดไปกับ “หวย-สุรา-บุหรี่” อีกทั้งพฤติกรรมเปลี่ยนจากโซเชียลฯ เน้นชีวิตไลฟ์สไตล์กิน เที่ยว ชอป ซื้อเพื่ออินเทรนด์ หนำซ้ำหยิบเงินอนาคตมาใช้ ยอมจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงๆ

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิจัยลูกค้า TMB Analytics และ น.ส.นันทพร ตั้งเจริญศิริ หัวหน้าทีม Customer Experience & Insights ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของคนไทย โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมพอใช้จ่ายเมื่อหยุดทำงาน หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันไม่ถึง 6 เดือน แม้ส่วนใหญ่คิดว่าเงินเก็บที่มีอยู่ น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือน เพราะเป็นเงินจากประกันสังคมเมื่อถูกออกจากงาน 6 เดือน แต่จากการศึกษาโดยฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน พบว่ามีเงินออมไม่พอมากถึง 80%

“เรื่องเงินออมไม่ใช่เรื่องรวยหรือจน ไม่ว่าจะเป็นคนมีรายได้มากหรือน้อย ปัญหาการออมก็มีอยู่ทั้งคู่ จาก 35 ล้านคน รายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับคนมีรายได้มากกว่า 80% เงินออมไม่พอ 6 เดือนเหมือนกัน แต่คนที่มีรายได้เยอะ เงินออมไม่พอมีถึง 70% ส่วนวิถีชีวิตคนเมือง กับคนต่างจังหวัดก็ไม่เกี่ยวข้องเช่นกัน คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 80% มีเงินออมไม่พอ ส่วนคนต่างจังหวัด 79% ก็มีเงินออมไม่พอเช่นกัน ปัญหาการออมไปอยู่กับคนทุกกลุ่ม” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า เมื่อสำรวจไปถึงอาชีพ พบว่ากลุ่มพนักงานเอกชน ส่วนใหญ่ 89% รวมทั้งฟรีแลนซ์ 78% มีเงินออมไม่พอ 6 เดือน ส่วนพนักงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ แม้จะเข้าถึงการกู้ได้ง่าย แต่พบว่าทำได้ดีกว่า โดยพบว่ามีเงินออมพอ 35% เช่นเดียวกับเจ้าของกิจการ มีเงินออมพอ 37% ส่วนปัจจัยอายุพบว่าเงินออมไม่พอเริ่มมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยพบว่ากลุ่มเจนวาย (22-35 ปี) เงินออมไม่พอถึง 84% ส่วนกลุ่มเจนเอ็กซ์ (36-52 ปี) เงินออมไม่พอถึง 80% โดยสรุปก็คือ อาชีพมีผลในเรื่องปัญหาการออม


- 1 ใน 4 ของรายได้ หมดไปกับ “หวย บุหรี่ สุรา”

สำหรับสาเหตุที่คนไทยมีเงินออมไม่พอ จากการสำรวจพฤติกรรมการออมของคนไทยในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ใช้ก่อนออมในบัญชีเดียวกัน มากถึง 49% มีเพียง 38% ที่ออมก่อนใช้ โดยแยกบัญชีชัดเจน ส่วนอีก 13% พบว่าเงินที่มีไม่พอใช้ จึงไม่ได้คิดถึงเรื่องออม ซึ่งสาเหตุที่คนไทยมีเงินออมไม่พอใช้ มาจากวินัยทางการเงินเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงการใช้ก่อนออมเป็นเรื่องไม่ถูก ต้องเป็นออมก่อนใช้ แต่ก็พบว่า มีเพียง 35% ที่มีการออมเป็นจำนวนเท่ากันทุกเดือน ส่วนใหญ่พยายามออมทุกเดือน มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เป็นระเบียบ

“อีกส่วนหนึ่ง คือ ทัศนคติการวางแผนทางการเงินระยะยาว พบว่าคนไทยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวพอสมควร 21% ของคนไทยยังยอมรับว่าวันนี้ยังไม่เคยคิดเรื่องวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ ยิ่งตอกย้ำว่าเงินออมไม่พอแล้ว เรื่องวางแผนยิ่งไม่เอาเข้าไปใหญ่ แต่มีคน 40% ค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณ เพราะเริ่มออมบ้างแล้ว หลายๆ ครั้งเราเห็นพฤติกรรมจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย กับที่เราไปสอบถามเชิงทัศนคติ หลายครั้งมีความขัดแย้งพอสมควร คนไทยค่อนข้างมีความคิดบวกว่า อยู่ได้หลังเกษียณ น่าจะมีเงินออมให้พออยู่ได้ไม่ต้องใช้จ่ายให้ฟุ่มเฟือยมาก แต่สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นคนละเรื่องกัน” น.ส.นันทพร กล่าว

อีกสาเหตุหนึ่ง คือ พฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่าประชากร 35 ล้านคนใช้จ่ายเฉลี่ยมากถึง 76.2% ออมเงินเพียง 20.4% และป้องกันความเสี่ยง เช่น ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เพื่อครอบครัว เพียง 3.4% โดยพบว่าคนที่ออมเงินไม่พอ ใช้จ่ายมากถึง 82% เงินออมมีเพียงแค่ 14% และป้องกันความเสี่ยง 4% และพบว่าเงินฝากมีไว้เพื่อทำธุรกรรมค่าใช้จ่ายที่ต้องมี ส่วนการออมเพื่อสะสมความมั่งคั่ง มีความแตกต่างชัดเจน และพบว่า 1 ใน 4 ของรายได้ ใช้จ่ายเรื่องที่ไม่จำเป็นต่อเดือน เช่น หวย บุหรี่ สุรา

- เห่อกินเที่ยว โซเชียลฯ มาก่อน ออมทีหลัง

นายนริศอธิบายว่า ส่วนหนึ่งที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมีอยู่เยอะ คือ “โซเชียล ชิฟต์” (Social Shift) คือการเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป คนไทยเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี มีคนเล่นเฟซบุ๊กอันดับ 8 ของโลก อินสตาแกรมอันดับ 14 ของโลก คนที่ลงรูปในอินสตาแกรม เพิ่มขึ้นต่อปีมากกว่า 80% เน้นชีวิตไลฟ์สไตล์ รีวิวร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 34% รีวิวที่เที่ยว เช่น เที่ยวญี่ปุ่น เที่ยวทะเล เพิ่มขึ้นสูงถึง 14% และเมื่อสำรวจจากกูเกิลเทรนด์ พบว่าคนไทยค้นหารีวิวร้านอาหาร นั่งเล่น เที่ยว มีมากถึง 98% ต่อปี เมื่อเทียบกับออมเงิน ลงทุน ลดลงไป 0.5% เรียกว่า เห่อกินเที่ยว โซเชียลมาก่อน ออมที่หลัง

ส่วนพฤติกรรมการชอป พบว่านักช้อปที่ต้องตามให้ทันโซเชียลฯ เมื่อโซเชียลคอมเมิร์ชเติบโต มาพร้อมกับการช้อปปิ้งได้ตลอดเวลา เรียกว่า ซื้อก่อนเดี๋ยวก็ได้ใช้ พบว่า 65% เคยซื้อของตอนลดราคามาเก็บทิ้งไว้ โดยที่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ อีก 56% บอกว่า ขอตามเทรนด์ ต่อให้ไม่จำเป็นขอซื้อไว้ก่อน เพื่ออัปรูปลงโซเชียลหรืออินสตาแกรม ยังไงก็ต้องอินเทรนด์ อะไรที่ซื้อแล้วทำให้อินเทรนด์ ขอสักหน่อย ส่วน 31% ต่อจะเป็นคนประหยัด แต่ถ้าเห็นของลดราคาเป็นต้องจ่ายทุกที อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เห็นราคาไม่เป็นมิตร แต่ถ้าชอบก็ยอมซื้อ

“พฤติกรรมการซื้อของของคนไทยจะค่อนข้างตามกระแส ถ้าลดราคาเมื่อไหร่ก็ซื้อ จะใช้ไม่ใช้ก็อีกเรื่อง เงินออมไม่พอก็เอามาจากเงินอนาคต ที่น่าตกใจคือ คนที่มีบัตรเครดิตใช้จ่ายอยู่ทุกวัน มีมากกว่า 50% ไม่สามารถจ่ายได้เต็มจำนวนในทุกเดือน ยอมจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต (18% ต่อปี) ในทุกๆ เดือน อาจจะเกินกำลังตัวเอง นอกจากจะยอมจ่ายดอกเบี้ยรายเดือนแล้ว ก็จะมีกรณีที่ผ่อนสินค้ายอมเสียดอกเบี้ย แม้จะมีโปรแกรมผ่อน 0% 10 เดือน แต่บางครั้งต่อให้มีโปรแกรม บางคนก็ยังเกินกำลัง ไม่สามารถผ่อน 0% ได้ครบตามจำนวนโปรโมชัน แสดงให้เห็นว่าคนไทยนอกจากจะไม่ออมเป็นระบบแล้ว ค่อนข้างจะใช้จ่ายเกินกำลังพอสมควร” น.ส.นันทพรกล่าว

- พบยังออมผิดที่ ฝากประจำน้อย สินทรัพย์แค่เงินสดในมือ

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นเรื่องไม่จำเป็น เช่น หวย สุรา บุหรี่ พบว่าเฉลี่ยมีถึง 40% คนไทยเสียเงินเรื่องเหล้าเยอะมาก บริโภคสุราเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ส่วนอีก 40% นำเงินไปใช้เรื่องบันเทิง แต่คนที่มีเงินออมใช้จ่ายเรื่องไม่จำเป็นเพียงแค่ 20% เท่านั้น และเมื่อถามถึงเรื่องการเสี่ยงโชค พบว่า 54% เห็นว่า ขอเสี่ยงโชคกับหวย เพราะถ้าถูกรางวัลขึ้นมาก็คุ้ม เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนหลายร้อยเท่าตัว ส่วน 56% เห็นว่า ซื้อแต่ละครั้งมีสิทธิ์รวย เหมือนเป็นการมองโลกในแง่บวก ลงทุนก้อนเล็กเพื่อที่จะได้รวยเร็ว แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของการเสี่ยงโชคพอสมควร ซึ่งหากลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จะทำให้ทำอะไรที่ดีๆ กับครอบครัวและชีวิตตัวเอง เช่น สามารถส่งลูกเรียนหนังสือที่ดีกว่าเดิม

ส่วนเรื่องเงินออม พบว่าคนที่เงินออมไม่พอ มีสินทรัพย์เป็นรถยนต์มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินที่มีเพียงแค่ 3% ขณะที่คนที่มีเงินออมพอ พบว่าสินทรัพย์ทางการเงินมีมากกว่ารถยนต์ โดยพบว่าบัญชีเงินฝากส่วนมากเป็นคาซา (เงินฝากกระแสรายวัน Current Account หรือเงินฝากออมทรัพย์ Savings Account) ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากเพียงแค่ 0.5% แทบจะไม่ได้อะไรเลย และไม่ได้ใช้สอยมากมายขนาดนั้น คนที่ฝากประจำเพียงแค่ 30% และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พบว่าเงินฝากและเงินสดที่อยู่ในมือของคนไทยเป็น 80% ของสินทรัพย์ทางการเงิน เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ มีเพียงแค่ 14% พูดง่ายๆ คือคนไทยออมกระจุกอยู่ที่เงินสด กับเงินฝาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากที่ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่เงินฝากเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งควรตระหนักว่า เงินหรือสภาพคล่องของตัวเองที่วางอยู่ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเลย การป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะเงินออมพอหรือไม่พอ การป้องกันความเสี่ยงก็ยังน้อยอยู่

นายรูว์ ไฮซ์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานภายในของทีเอ็มบีที่จับมือทำงานร่วมกัน เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์มุมมองใหม่ๆ โดยมีหน่วยงานหลัก 2 ทีม คือ ทีม TMB Analytics ทำงานด้านองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ และ ทีม Customer Experience & Insights ทำงานด้านการวิจัยพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า โดยวางแผนว่าจะทำการเผยแพร่ออกมาปีละ 2 ครั้ง โดยนำข้อมูลจากภายในและเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์วิเคราะห์วิจัยจากต่างประเทศ เช่น ไอเอ็นจี ซึ่งหัวข้อ “คนไทยมีเงินเหลือใช้ไม่ถึง 6 เดือนเมื่อหยุดทำงาน” สะท้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงความคิดต่างๆ ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินของตัวเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น