xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด Q2/61 สินเชื่อปรับตัวดีขึ้นตามแรงส่ง ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด Q2/61 สินเชื่อปรับตัวดีขึ้นตามแรงส่ง ศก. เริ่มเห็นสัญญาณระดมเงินฝากระยะยาวรองรับ ดบ.ขาขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์สินเชื่อในไตรมาสที่ 2/2561 มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลักในภาคการส่งออกที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และนำไปสู่การปรับเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อการคาดการณ์จีดีพีปีนี้ ประกอบกับการประกาศ พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่จะมีส่วนหนุนความต้องการของสินเชื่อภาคธุรกิจให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นสินเชื่อหลักที่นำการเติบโตมาโดยตลอดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยด้านผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน คลี่คลายลง เช่น สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถที่พ้นแรงกดดันจากการชำระคืนหนี้ในโครงการรถคันแรก ทำให้ยอดสินเชื่อใหม่เริ่มแสดงการขยายตัวเป็นบวก ประกอบกับความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งที่สร้างเสร็จใหม่พร้อมโอน และการรุกขยายตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ หลังจากที่ปล่อยตลาดนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารขนาดกลาง และเล็ก นอกจากนี้ ตลาดสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับฯ) ธนาคารขนาดใหญ่เริ่มกลับมาจัดแคมเปญแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งด้วยการหาลูกค้ารายใหม่ และการกระตุ้นลูกค้ารายเดิมให้นำวงเงินเครดิตที่มีอยู่ไปใช้เพิ่มขึ้น ภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารที่มีโอกาสโตได้สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยด้านฐานที่สูงในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา ประกอบกับยังต้องติดตามแรงกดดันด้านราคาน้ำมันที่สูงขึ้นว่าจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศเพียงใด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงเป้าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ที่ 4.8% ณ ขณะนี้

สำหรับสถานการณ์เงินรับฝากของธนาคารในไตรมาส 2/2561 เริ่มมีสัญญาณการออกแคมเปญเงินฝากประจำอัตราดอกเบี้ยพิเศษในระยะที่ยาวขึ้น จากเดิมที่นิยมออกแคมเปญระยะไม่เกิน 12 เดือน เป็นระยะ 14 เดือน และ 15 เดือน เพื่อรองรับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ

นอกจากนี้ สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากของธนาคาร ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหลังหักภาษีมีส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่มาก ทั้งนี้ ธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนควบคู่กับการดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคองรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยได้ท่ามกลางแรงกดดันต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ในไตรมาสนี้

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อสุทธิ ในเดือน เม.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.78 หมื่นล้านบาท เป็น 11.14 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.61% MoM ทำให้อัตราเพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทยอยไต่ระดับขึ้นเป็น 4.81%YoY และ 0.68%YTD ซึ่งสอดคล้องกับที่คาดไว้ว่าแรงส่งสินเชื่อจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในเดือนนี้ค่อนข้างกระจายตัวไปแทบทุกธนาคาร ส่วนใหญ่เพิ่มจากสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเงินฝากเดือน เม.ย. 2561 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนแรกปีนี้ แต่เป็นผลของธุรกรรม CASA

ด้านภาพรวมเงินฝากเดือน เม.ย. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.21 แสนล้านบาท หรือ 0.99% MoM เป็น 12.36 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน และสิ้นปีก่อน 6.28% และ 2.17% ตามลำดับ โดยหลักมาจากธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกรรมในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์ (CASA) ตามปกติ และบางส่วนมาจากการออกเงินฝากพิเศษ เพื่อระดมทุนระยะกลาง (ไม่ถึง 12 เดือน)

สภาพคล่องเดือน เม.ย. 2561 ผ่อนคลายลง ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลง สะท้อนจากสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ผ่อนคลายลงมาที่ระดับ 85.51% จากระดับ 85.77% ในเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 22.45% จาก 22.25% ในเดือนก่อนหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น