ความขัดแย้งทางความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางบวกและในทางลบ ถ้าความขัดแย้งในทางบวก ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นความขัดแย้งในเชิงลบ ก็จะทำให้การเสื่อมถอย
ในเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งทางความคิด ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง และในส่วนที่เกี่ยวกับสังคม โดยเริ่มจากการที่นักเรียน นักศึกษาได้ออกมาชุมนุมทางการเมืองต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย
แต่ต่อมาได้มีผู้ใหญ่อาศัยการชุมนุมของเด็กเข้ามาสอดแทรกการชุมนุมของเด็ก และนำเสนอให้เด็กพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด และทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยการป้อนความคิดให้เด็กพูด และทำในสิ่งที่ตนเองต้องการจะพูด และต้องการจะทำ ทั้งนี้จะเห็นได้จากกระบวนการดังต่อไปนี้
ในการเริ่มต้นการชุมนุม ได้มีนักเรียน นักศึกษาออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการเรียกร้อง 3 ข้อคือ
● ให้หยุดคุกคามประชาชน
● ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
● ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
ต่อมาได้มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยวาจาที่หยาบคายไร้วัฒนธรรม และเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งถ้าอ่านโดยรวมแล้วเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงชัดเจน และท่านผู้อ่านบางท่านอ่านแล้วแปลความว่า เป็นกระบวนการล้มเจ้า
หลังจากที่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบัน 10 ข้อออกมาในที่ชุมนุมเกือบทุกครั้ง จะมีการพูดจาจาบจ้วงสถาบันด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไร้วัฒนธรรม และแกนนำหลายคนถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ก็มิได้ทำให้คนกลุ่มนี้เข็ดหลาบ ยังคงมีพฤติกรรมเยี่ยงเดิม และนี่เองคือเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มคนรักสถาบัน และคนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งได้กระจายไปทั่วประเทศ คู่ขนานไปกับม็อบที่จาบจ้วงสถาบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น จึงหวั่นวิตกกังวลว่าสองกลุ่มจะปะทะกัน
แต่ล่าสุดดูเหมือนว่า การจาบจ้วงสถาบันเบาบางลง จะเห็นได้จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งโจมตีการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
ถ้าที่ชุมนุมของนักเรียน นักศึกษามุ่งเน้นประเด็นการเมืองอย่างเดียว โดยไม่ไปข้องแวะกับสถาบันเบื้องสูง เชื่อว่า การปะทะกันระหว่างสองกลุ่มคนจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังนี้
1. ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพร้อมที่จะออกมาปกป้อง ในขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มิได้นิยมชมชอบรัฐบาล
ดังนั้น ถ้าม็อบนักเรียน นักศึกษา ไม่นำสถาบันเบื้องสูงมาโยงกับการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลอย่างมีเหตุผล และมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการประกอบ เชื่อได้ว่ากลุ่มปกป้องสถาบันก็ไม่มีเหตุผลใดๆ จะต้องออกมาชุมนุมควบคู่ไปกับนักเรียน นักศึกษา และบางทีคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจมาร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลด้วยก็เป็นไปได้
2. ถ้าข้อเรียกร้องที่ชุมนุมจำกัดอยู่แค่การเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงตามข้อ 1 เชื่อว่าปมปัญหาที่จะต้องแก้ต้นเหตุแห่งความขัดแย้งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยการสืบทอดอำนาจจากระบอบเผด็จการ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญซึ่งปูทางไว้ให้มีการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงอยู่ในอำนาจ ปัญหาคงต้องดำเนินต่อไปไม่รู้จบ
ด้วยเหตุนี้ จึงขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง หรือว่าจะเห็นแก่ประเทศโดยรวม