xs
xsm
sm
md
lg

การปรองดองจะสัมฤทธิผล เมื่อคู่ขัดแย้งคิด พูด และทำตรงกัน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



ในที่สุด การเปิดสภาวิสามัญได้ผ่านพ้นไปโดยที่คนไทยทั้งประเทศฟังแล้ว ยังมองไม่เห็นแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่ายุติความขัดแย้งได้ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ถ้ายึดถือหลักการแก้ปัญหาตามแนวทางแห่งคำสอนพุทธศาสนาที่ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางใจ และทั้งทางกายและทางใจ ล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุ ดังนั้น ถ้าจะแก้จะต้องแก้ที่เหตุ จะเห็นได้จากคำกล่าวของพระอัสสชิที่ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เยสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจ โย นิโรธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติฯ แปลโดยใจความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ตถาคต ตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้

2. แต่ถ้าฟังจากการอภิปรายในสภาฯ ในวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแล้ว แทบจะไม่ได้ยินว่าใครพูดถึงสาเหตุอันเป็นที่มาของความขัดแย้ง ตรงกันข้าม ยังมองข้ามสิ่งที่เป็นเหตุจะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า นายกฯ ผิดตรงไหน จึงจะต้องลาออก และคำพูดที่ว่า รัฐบาลมิใช่คู่ขัดแย้ง เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพูดที่ปฏิเสธเหตุ โดยเฉพาะเหตุที่ทำให้เกิดการต่อต้านเผด็จการ เพราะในความเป็นจริงที่ใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ก็ด้วยอาศัยอานิสงส์ทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งผลผลิตของระบอบเผด็จการหยิบยื่นให้

3. ถ้าพิจารณาจากข้อเรียกร้องของที่ชุมนุม 3 ข้อคือ

3.1 ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก

3.2 ให้แก้รัฐธรรมนูญ

3.3 ให้ปฏิรูปสถาบัน

ก็จะพบว่า ข้อที่ 1 และข้อที่ 2 เป็นปัญหาที่นักการเมือง และประชาชนคนทั่วไป ผู้ต้องการเห็นประเทศมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะเห็นด้วย

ส่วนข้อที่ 3 ถึงแม้จะมีคนส่วนหนึ่งเรียกร้องเพื่อสนองความต้องการของตนหรือบางกลุ่ม ซึ่งเป็นซ้ายสุดโต่ง แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้แน่นอน

ดังนั้น ถึงแม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งคิดจะแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คงจะแก้ไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงให้เสียเวลา

ด้วยเหตุนี้ จึงเหลือเพียงข้อเรียกร้องข้อ 1 และข้อ 2 ที่จะต้องนำมาหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อยุติในวันนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดาย สองวันที่พูดกันไม่ได้ข้อยุติที่มีเหตุผลมากพอที่จะนำไปแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในทันที จะมีก็เพียงการเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอให้มีการตั้งกรรมการปรองดอง ทั้งสองแนวทางต้องใช้เวลา และเมื่อถึงวันที่ดำเนินการจริง ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะเป็นไปตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องหรือไม่ และถ้าไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ก็อนุมานได้ว่าความขัดแย้งคงจะดำเนินต่อไป

อนึ่ง ระหว่างที่รอให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญดำเนินไปควบคู่กับการปรองดอง การชุมนุมจะยุติเพื่อรอผลการดำเนินงานของทั้งสองกระบวนการนี้หรือไม่ ถ้าไม่ การชุมนุมจะยกระดับรุนแรงขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์การชุมนุมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อนุมานได้ว่าระหว่างที่รอผลการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญ และการปรองดองพอจะคาดการณ์ได้ว่าโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในทันทีที่ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกรรมการปรองดองประกาศออกมา ทั้งทางฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมในกรรมการชุดนี้

ถ้าทั้งฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมไม่เข้าร่วมกรรมการปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และถ้ากรรมการชุดนี้มีเพียงฝ่ายรัฐบาล และบุคคลที่เป็นกลางดำเนินการประชุมกันจนได้ข้อยุติในการแก้ปัญหาทางฝ่ายค้าน และผู้ชุมนุมคงจะไม่ยอมรับแนวทางนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้

2. ในระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ และกระบวนการปรองดองดำเนินไป ถ้าการชุมนุมที่มีแกนนำจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงยังคงดำเนินต่อไป และรุนแรงขึ้น ทางฝ่ายปกป้องสถาบันคงจะไม่นิ่งเฉยปล่อยให้ฝ่ายจาบจ้วงกระทำไปโดยที่ฝ่ายปกป้องไม่ขัดขวางคงเป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือการกระทำด้วยความจงรักภักดี และมีความชอบธรรมที่จะปกป้องสิ่งที่พวกเขาเทิดทูน เมื่อเป็นเช่นนี้การปรองดองระหว่างคนสองกลุ่มคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก

ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าจะต้องมีปรากฏการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นจากความรุนแรง และปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำใจต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญ แต่มีเงื่อนไขว่า ส.ว.จะต้องงดออกเสียงหรือสนับสนุนผู้ที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม

ส่วนเมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้ว จะต้องดำเนินการจัดการภาระเร่งด่วนคือ แก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ภายใน 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี

นี่คือ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น