ถ้าย้อนไปดูการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาตั้งแต่เริ่มแรกจนมาถึงวันที่เขียนบทความนี้ (20 ต.ค.) ก็จะพบว่า การชุมนุมครั้งนี้มีความแตกต่างจากการชุมนุมในอดีต เช่น ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. เป็นต้น จะเห็นได้จากประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
การชุมนุมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของ พธม. หรือ กปปส.มีแกนนำแสดงตัวตนชัดเจน และเนื้อหาที่นำมาเป็นเหตุอ้างในการชุมนุมก็ชัดเจน ทั้งมีความคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า คนพูดกับคนที่คิดรวมไปถึงการวางแผนในการดำเนินการเป็นคนเดียวกัน หรือกลุ่มเดียวกัน พูดง่ายๆ ก็คือ คิดเอง และพูดเอง
แต่การชุมนุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการชุมนุม แกนนำได้แสดงออกด้วยการพูดจาค่อนข้างรุนแรง และก้าวร้าวเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง ทั้งๆ ที่พูดเอง ถ้าดูจากวัยของแต่ละคนแล้วไม่น่าจะมีส่วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 14 ตุลาฯ 16 หรือ 6 ตุลาฯ 19 จึงอนุมานได้ว่า พูดไปด้วยอารมณ์แห่งความเคียดแค้น และผิดหวังทางการเมืองในอดีต ซึ่งสืบทอดเจตนารมณ์จากคนบางคนหรือบางกลุ่มที่เคยได้รับผลกระทบทางการเมืองมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อแกนนำเหล่านี้ถูกจับกุม รูปแบบการชุมนุมและเนื้อหาที่ปราศรัยในการชุมนุมได้เปลี่ยนไป มุ่งเน้นประเด็นการเมืองมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงเบาบางลง และมีแนวโน้มจะหมดไปจากการชุมนุม ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ได้เกิดกระแสที่ต่อต้านการโจมตีสถาบันเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีพลังเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมกับการจาบจ้วงสถาบัน แต่การเปลี่ยนแปลงในทำนองนี้เป็นผลดีกับการชุมนุมที่ต้องการเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น และความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้
2. การโจมตีสถาบันด้วยพฤติกรรมที่รุนแรง และขาดความสำนึกในความเป็นไทย ซึ่งมีวัดและวังเป็นแกนกลางของชนชาติไทยมายาวนาน เปิดช่องให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการประกาศใช้มาตรการรุนแรงในการสลายการชุมนุม ดังที่ได้เกิดขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
จากเหตุปัจจัยสองประการข้างต้น ทำให้การชุมนุมเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาในการต่อสู้ทางการเมือง จะเห็นได้จากการที่การชุมนุมทุกแห่งมุ่งเน้นไปที่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ให้แก้รัฐธรรมนูญและยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
การชุมนุมดำเนินไปในทำนองนี้ต่อไป เชื่อได้ว่าอีกไม่นานจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นแน่นอน และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภาฯ จัดการเลือกตั้งใหม่
ดังนั้น จากนี้ไปพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเหลือทางเลือกทางการเมืองเพียงสองทางคือ
1. ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
2. ยุบสภาฯ และรักษาการไปจนกว่ามีการเลือกตั้ง
ส่วนทางเลือกที่จะอยู่ต่อไป และซื้อเวลาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1-2 ปีคงทำได้ยาก ถ้าดูจากการชุมนุมดาวกระจายไปทั่ว และจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นทุกวัน