ในขณะที่เขียนบทความนี้ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว หลังจากที่ได้กำหนดให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางแก้ปัญหาการชุมนุมของบรรดานักเรียน นักศึกษา ซึ่งได้ชุมนุมเรียกร้องครั้งล่าสุดที่ใกล้ทำเนียบฯ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกภายใน 3 วัน และให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข
ดังนั้น ถ้าอนุมานจากข้อเรียกร้องครั้งล่าสุด จะมีอยู่เพียง 2 ประการคือ ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และให้ปล่อยแกนนำ เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26-27 ต.ค. ก็จะต้องนำข้อเรียกร้องทั้ง 2 ประการนี้เข้าไปหารือในสภาฯ ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร จึงจะตรงประเด็นการประชุม
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากข่าวที่ปรากฏ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาคือการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอานิสงส์ทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ปูทางไว้) จะพูดถึงการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การขัดขวางขบวนเสด็จฯ และการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ถ้ามีการทำเช่นนี้จริง ก็เท่ากับหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นปัญหา และไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และในขณะเดียวกัน ได้แสดงความเห็นแย้งว่าไม่ตรงกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
จากการมองต่างมุมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลกับฝ่ายค้านในฐานะที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวแล้ว จึงอนุมานได้ว่า การประชุมสภาฯ ในวันที่ 26-27 ต.ค. คงจะไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ลดลง ตรงกันข้าม จะยิ่งกลับทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ จะปราศรัยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนในฐานะที่ตนเองสังกัดพรรค ซึ่งเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และในฐานะที่ตนเองได้ผลประโยชน์ทางการเมืองจากพรรคพลังประชารัฐ
2. ส.ส.ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดก็ว่าได้คงจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ทุกคนได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองจากการที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ว.และที่สำคัญที่สุด จะต้องเห็นแย้งกับฝ่ายค้านที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาและอำนาจในการเลือกนายกฯ เพราะถ้าเห็นด้วยก็เท่ากับทำลายสิ่งที่ตนเองเป็น และสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในขณะนี้
3. ส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย คงจะดูท่าทีไม่แสดงออกชัดเจน ทั้งในการหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และโต้แย้งฝ่ายค้านในประเด็นที่ทางฝ่ายนี้เสนอขึ้นมา ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังนี้
ถ้ามีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ ตนเองจะได้รับความนิยมจากประชาชนน้อยลงหรือไม่ ถ้าหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในขณะเดียวกัน ถ้าไปขัดแย้งกับฝ่ายค้าน จะทำให้ตนเองประสบปัญหาหลังเลือกตั้ง เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีที่พรรคของตนเองได้เสียงข้างมาก และในการร่วมรัฐบาล ในกรณีที่ได้เสียงน้อยกว่าพรรคอื่น
จากเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น การประชุมรัฐสภาในวันที่ 26-27 ต.ค.คงจะไม่ช่วยแก้ปัญหาการชุมนุม ในทางตรงกันข้าม อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ถ้าเห็นแก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมแล้ว ควรจะได้ลดละความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แล้วมองไปข้างหน้าแล้วทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม โดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ประเทศไทยยังคงดำรงอยู่ควบคู่กับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดไปตราบนานเท่านาน