นายไพศาล ลิ้มสถิตย์*
กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายเสนอยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็นแนวคิดที่ควรสนับสนุน แต่กลับพบว่าสำนักงาน ป.ป.ส.ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมที่อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมอย่างมาก ทำให้พืชกระท่อมมีสถานะไม่แตกต่างจากยาเสพติด
ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติกะท่อม พ.ศ. 2486 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีเหตุผลเบื้องหลังคือ พืชกระท่อมเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจฝิ่นของรัฐบาลที่สร้างรายได้มหาศาลในขณะนั้น ต่อมามีการออก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดประเภท 5 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความเข้มงวดมากที่สุดในโลก กล่าวคือไม่อนุญาตให้มีปลูกพืชกระท่อม ห้ามนำพืชกระท่อมมาใช้ในตำรับยาแผนไทยที่มีมานานนับร้อยปี เช่น ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในขณะที่ประเทศมาเลเซียที่มีกฎหมายยาเสพติดเข้มงวด กลับอนุญาตให้มีการปลูกกระท่อม มิได้ดำเนินคดีแก่ผู้บริโภคใบกระท่อมทางการแพทย์หรือใช้ตามวิถีชีวิต
ผู้เขียนมีโอกาสทราบข้อมูลจากนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปราชญ์ชาวบ้าน หมอพื้นบ้านหลายท่าน ทำให้ทราบว่า พืชกระท่อมมีคุณประโยชน์หลายประการ เช่น รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการอักเสบ อาการไอ และ อาการท้องร่วงท้องเดิน ตำรับแพทย์พื้นบ้านที่ใช้ใบกระท่อมรักษาโรคเบาหวาน คนไทยในภาคใต้และมาเลเซียบางคนในรูปแบบน้ำดื่มหรือเคี้ยวใบสด เพื่อให้สามารถทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น และอีกทั้งมีการศึกษาวิจัยพบว่าใบกระท่อมมีสรรพคุณที่สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากการเสพสารเสพติดได้จริงในสัตว์ทดลอง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะประยุกต์ใช้พืชกระท่อมเพื่อการบำบัดการเสพติด เช่น ยาบ้า เฮโรอีน รวมถึงโรคติดสุราเรื้อรัง
กฎหมายยาเสพติดบัญญัติโทษอาญาที่เกินความจำเป็น สร้างตราบาปให้แก่ประชาชน รวมถึงปัญหาการรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ทำให้ตลาดมืดเฟื่องฟู กฎหมายยาเสพติดห้ามนำใบกระท่อมมาใช้ทำตำรับยาหรือใช้บริโภคตามวิถีชาวบ้านได้เป็นเวลานานกว่า 40 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดในปี 2562 จึงอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ได้ ช่วงเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส.ได้เสนอ“ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” เพื่อให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และให้ยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม โดยมีเหตุผลคือ พืชกระท่อมส่งผลต่อร่างกายเพียงเล็กน้อย และไม่ถือเป็นยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ จึงสมควรที่จะยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ
สำนักงาน ป.ป.ส.มีโครงการศึกษาวิจัย “น้ำพุโมเดล” ที่อำเภอนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นตัวอย่างของการจัดการของชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ ช่วยลดปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชน ปัญหาการใช้ 4*100 นับว่าเป็นต้นแบบของการจัดการยาเสพติดโดยชุมชนที่น่าสนใจ ทำให้มีแผนกำหนดพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 135 หมู่บ้าน
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติหลักการ “ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ....” ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเสนอ จากการศึกษาเนื้อหาพบว่า ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม มีเนื้อหาที่ล้าสมัย มีการกำหนดโทษอาญาเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นในหลายกรณี มีการคัดลอกกฎหมายฉบับอื่นมาใช้อย่างขาดมีความรู้ ความเข้าใจ ทำให้พืชกระท่อมกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไม่แตกต่างจากยาเสพติดประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ อีกทั้งยังมิได้ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน
หาก ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมของกระทรวงยุติธรรม ผ่านการพิจารณาเป็นกฎหมาย อาจส่งผลกระทบเชิงลบหลายประการคือ
1. เป็นอุปสรรคในการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของประชาชน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากพืชกระท่อมมีสถานะไม่ต่างจากยาเสพติด
2. สร้างภาระแก่ประชาชนและกระบวนการยุติธรรม โดยจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน บัญญัติโทษอาญาที่เกินความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า
3. เป็นช่องทางการทุจริต รีดไถเงินของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน สร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชน
4. ทำให้เกิดระบบการผูกขาดของกลุ่มทุน และส่งเสริมการค้าใบกระท่อมผิดกฎหมายให้คงอยู่ต่อไป
5. สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติดโดยชุมชน
รัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงควรทบทวนเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมนี้เสียใหม่ โดยใช้แนวทางของ “ร่างพระราชบัญญัติพืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นการส่งเสริมและกำกับติดตามการพัฒนาพืชสมุนไพรกลุ่มนี้ ที่เสนอโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และเครือข่ายนักวิชาการ โดยส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรม และให้สิทธิชุมชนในการจัดการพืชกระท่อม มีมาตรการอื่นป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม นอกเหนือจากโทษอาญา
พืชกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และมิได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ หากมีการใช้อย่างถูกต้อง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่เป็นกฎหมายควบคุมที่เข้มงวด จนสร้างผลกระทบต่อประชาชนในทางสังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ การอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนที่แท้จริงคือ การไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชนและสังคมโดยรวม จึงไม่ควรเสนอร่างกฎหมายพืชกระท่อม ฉบับถอยหลังเข้าคลอง
*กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์