xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จับมือ 22 หน่วยงาน ปลุกกระแสเชื้อดื้อยา ในสัปดาห์สร้างความรู้และตระหนักต่อเรื่องยาต้านจุลชีพโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข จับมือ 22 หน่วยงานทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมปลุกกระแสเชื้อดื้อยาในสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก รณรงค์กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรคหวัด อุจจาระร่วงเฉียบพลัน เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา เผย 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น 600 แห่ง

วันนี้ (16 พ.ย.) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิส คอนเวนชั่น นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และ ดร.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงาน “สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่อง ยาต้านจุลชีพโลก” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข และ 22 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ สัตวแพทย์ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป

นายอนุทิน กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้ร่วมกับผู้นำจากทุกประเทศทั่วโลกรับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2559 ในฐานะเป็นประธานกลุ่มประเทศ G-77 และผู้นำประเทศไทย คงเน้นย้ำความสำคัญการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนต่อเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพ เนื่องจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศ ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 700,000 คน สำหรับประเทศไทยจากการศึกษาที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 คน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากการติดตามในฐานะประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ได้ทราบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยามากขึ้น มีอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะลดลงในกลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาทิ หวัด และโรคท้องร่วงเฉียบพลันลดลง โดยมีการสั่งจ่าย ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 20 ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้นประมาณ 600 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น และโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ในคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี จำนวน 54 ล้านคน พบว่า มีผู้ที่รู้และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพในระดับที่ดีพอ ประมาณ 13 ล้านคน

“สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนอีกกว่า 41 ล้านคนที่เหลือ มีความรู้เรื่องนี้มากขึ้น เช่น รู้ว่ายาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบไม่ใช่ตัวเดียวกัน รู้ว่าโรคหวัดและท้องเสียเกือบทั้งหมดหายเองได้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ รู้ว่าปัญหาเชื้อดื้อยานั้นส่งผลกระทบเกี่ยวพันทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม และทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนความรู้เหล่านี้ ให้เป็นพฤติกรรมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วนได้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่หน่วยงานต่างๆ ได้มาร่วมกันดำเนินงานภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมงาน World Antimicrobial Awareness Week ซึ่งจัดในช่วงเวลาเดียวกันในหลายประเทศทั่วโลก จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ อาทิ WHO FAO OIE USAID Fleming fund/UK Aid ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยามา โดยตลอด

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งชุดกิจกรรมย่อยแบ่งเป็น 3 แพลตฟอร์ม (Platform) โดยจัดระหว่างวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2563 โดย Platform ที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นและเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย Platform ที่ 2 และ 3 โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาร่วมกับภาคีเครือข่าย


















กำลังโหลดความคิดเห็น