ป้อมพระสุเมรุ
ปี่กลองบรรเลงอย่างเป็นทางการ
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น “สนามแรก” ที่ประเดิมเปิดหัวกันด้วยสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ. ที่นัดหมายให้มาสมัครกันช่วงวันที่ 2-6 พ.ย.63 และเปิดคูหาให้กาบัตรกันในวันที่ 20 ธ.ค.63 นี้
ภายหลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.อบจ. และ นายก อบจ. เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญให้มีการจัดเลือกตั้ง ส.อบจ. และ นายก อบจ. ภายใน 60 วัน โดยก่อนหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้ปักหมุดวันเลือกตั้งกันล่วงหน้าแล้วว่าในวันที่ 20 ธ.ค.63 นี้ หรือก่อนสิ้นปีปฏิทินตามที่ทางรัฐบาลได้เคยประกาศไว้
ดูผิวเผินค่อนข้างกระชั้นชิด แต่ก็เป็นห้วงเวลาที่พอรับกันได้ เพราะ “นักเลือกตั้ง” ต่างแต่งตั้งคอยกันมานานแล้ว
อย่าลืมว่าสนาม อบจ. รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ร้างราห่างจากคูหาเลือกตั้งมาเกินกว่าอายุของ “รัฐบาลประยุทธ์” เสียอีก เพราะมีการเลือกตั้งกันครั้งสุดท้ายก็ปี 2555 นู้น
นายก อบจ.ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ต่างหมดวาระกันแล้วทั้งสิ้น ที่เห็นๆยังทำหน้าที่กันอยู่ ก็เป็นอานิสงค์จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วก็เพิ่งพ้นหน้าที่หลังมีการประกาศกำหนดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนี่เอง
เป็นที่จับตามองว่า พรรคการเมืองที่มีบทบาทและอยู่ในกระแสช่วงนี้ว่า จะจัดทัพสู้ศึกการเลือกตั้งท้องถิ่นกันอย่างไร
ด้วย “บริบท” ของการต่อสู้ที่แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับ ส.ส. ที่ช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล และการขายนโยบายระดับ “มหภาค” ขณะที่ “สนามท้องถิ่น” ไม่ว่า อบจ.-เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น ความเป็นอยู่ และการพัฒนาในระดับ “จุลภาค” การพัฒนาในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ
แต่การเมือง “ระดับชาติ-ท้องถิ่น” นั้นเชื่อมโยงกันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในสายตาของ “ฝ่ายการเมือง - นักเลือกตั้ง” เพราะสนามท้องถิ่นเป็นการกุม “ฐานเสียง” ที่มีผลสำคัญต่อการเมืองระดับประเทศ
จึงเป็น “ไฟต์บังคับ” ที่ค่ายการเมืองต่างๆ ต้องเข้าไปมีบทบาทจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะใน “พื้นที่อิทธิพล” ของพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ, “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย, “คณะก้าว” พรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า, “ค่ายบุรีรัมย์” พรรคภูมิใจไทย และ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอาทิ
ที่ออกตัวแรงกว่าใครเพื่อนคงเป็น “คณะก้าว” ภายใต้การนำของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่แบ่งหน้าเล่นใช้ยี่ห้อ “ก้าวหน้า” สำหรับต่างจังหวัด ส่วนสนามเมืองกรุงนั้น คาดว่าจะใช้ชื่อ “พรรคก้าวไกล” ลุย
ในส่วนของผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ.นั้น คณะก้าวหน้า ได้ประกาศส่งผู้สมัครชิงชัยใน 34 จังหวัดด้วยกัน และมีการเปิดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้ง “ธนาธร”, “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้ง “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี กรณี “ธนาธร” ปล่อยเงินกู้ให้พรรค ก็อาศัย “ช่องโหว่” ทางกฎหมาย ประกาศสนับสนุนและตระเวนหาเสียงสนามท้องถิ่นเต็มสูบ
ยกกรณี “เสี่ยตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ก็ไปเป็น “ผู้ช่วยหาเสียง” ให้กับพรรคเพื่อชาติ ในการเลือกตั้งต้นปี 2562 ซึ่งทาง กกต.เคยเปิด “ไฟเขียว” ผ่านตลอดไว้แล้ว
อีกทั้ง “คณะก้าว” คงเล็งเห็น “หลุมพราง” บางประการ จึงหลีกเลี่ยงที่จะใช้แบรนด์ “ก้าวไกล” ในการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น
แล้วก็มาเฉลยจากท่าทีของ “ค่ายพลังประชารัฐ” ที่เพิ่งมีมติไม่ส่งผู้สมัครนายกฯ และสมาชิก อบจ.ในนามพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจาก “สุ่มเสี่ยง” การกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ที่ระบุในทำนองว่า ก้าม “ข้าราชการการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น ส.ส., ส.ว., ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำใดๆ โดยมิชอบ ด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด…”
เป็น “เงี่ยง” ทางกฎหมายที่ทำเอาพรรคการเมืองหลายพรรคต่าง “หวาดผวา” อาจ “ตายน้ำตื้น” ถูกยื่น “ยุบพรรค” กันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะพรรคภูมิต้านทานต่ำอย่าง “ค่ายก้าวหน้า” รวมถึงพรรคฝ่ายค้านทั้งหลาย
ขณะที่ “ค่ายพลังประชารัฐ” แม้จะมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าเพื่อน แต่ด้วยสรรพกำลัง การสนับสนุนต่างๆ พร้อมเต็มสูบมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ อีกทั้งยังให้น้ำหนักกับสนามท้องถิ่นไม่มาก เนื่องจากเห็นว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งและยึดครอง อบจ.ในพื้นที่ต่างๆเข้ามาได้ ก็สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งผ่านกลไกของ “กระทรวงมหาดไทย” อยู่ดี
อีกทั้งหลาย อบจ.ที่ล้วนแล้วแต่เป็น “คนเก่า” ที่เคยได้รับอานิสงค์อยู่รักษาการในตำแหน่งมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะไม่ได้สลับขั้วมาอยู่กับ “รัฐบาลลุงตู่” ชัดเจน แต่ก็ต้องซาบซึ้งใน “คุณูปการ” ของ “รัฐบาล คสช.” บ้างไม่มากก็น้อย
ในความพร้อมของ “ค่ายพลังประชารัฐ” ดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ ส.ส.หรือรัฐมนตรีลงไปทำพื้นที่เต็มตัว ให้สุ่มเสี่ยงเป็นข้อครหา และถูกยื่นยุบพรรคได้
แล้วยังเป็นการ “ทอนกำลัง” ของคู่แข่งที่สรรพกำลังไม่ได้พรั่งพร้อม และหวังให้ ส.ส.คอยลงไปช่วยปราศรัยหาเสียง
ด้วยรู้ว่าคู่แข่งก็ชะเง้อมองอยู่ว่า อันไหนที่พรรคพลังประชารัฐทำ ก็แปลว่า “ทำได้” ในอารมณ์ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง”
เมื่อพรรคพลังประชารัฐ “ชิ่ง” ก่อน ก็ทำเอาพรรคเพื่อไทย ที่คิดจะส่งผู้สมัครในนามพรรคราว 20 จังหวัด และพรรคภูมิใจไทย ที่หวังใช้ความแกร่งของ “ยี่ห้อ” เป็นจุดขาย และได้ทำหนังสือถาม กกต.เพื่อความชัดเจนไปแล้ว ก็มีชะงักเหมือนกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการแก้ไข “ปัญหาภายใน” ที่กลุ่ม-ก๊วนต่างๆในพรรคที่ “เห็นไม่ตรงกัน” ในการสนับสนุนผู้สมัครคนละคน
ด้วยความที่ “สนามเลือกตั้งท้องถิ่น” นั้นแตกต่างจากการเมืองระดับชาติพอสมควร ด้วยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเน้นในเรื่อง “ตัวบุคคล” มากกว่า “ต้นสังกัด” อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง หลายกรณีที่ ส.ส.จังหวัดเดียวกันพรรคเดียวกันถือหางผู้สมัครคนละคน
เห็นได้ชัดเจนจากสนามท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ ที่ “ค่ายสะตอ” เคยผูกขาด เวลามีเสือกตั้งท้องถิ่นก็มีปัญหาภายในให้เห็นมาโดยตลอด อย่างที่ “เมืองคอน” ก็ขับเคี่ยวกันระหว่างตระกูล “เสนพงษ์” และ “บุณยเกียรติ” ขณะที่ “สงขลา” ก็วัดพลังกันระหว่าง ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม กับ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
ในอดีตสมัย “ไทยรักไทยฟีเวอร์” ที่ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร สั่ง “ปล่อยฟรี” ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคแม้แต่จังหวัดเดียว จังหวัดในภาคเหนือ-อีสาน ที่มีหลายกลุ่มหลายก๊วนก็ปล่อยให้ฟาดฟันกันเองเต็มที่ แพ้ชนะอย่างไรก็ขึ้นตรงกับ “นายใหญ่” อยู่ดี
อย่างครั้งนี้ไม่ทันไรก็เกิดปัญหาภายใน “ค่ายลุงป้อม” เสียแล้ว อาทิ จ.กำแพงเพชร ก็เกิดรายการ “ปีนเกลียว” ระหว่าง “เสี่ยต๋อง” วราเทพ รัตนากร มือทำงานของพรรค กับ “เสี่ยไผ่” ไผ่ ลิกข์ ส.ส.กำแพงเพชร ที่ประกาศเปิดศึกช้างชนช้างกันแล้ว
หรือที่ จ.ราชบุรี “สาวเอ๋” น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ออกตัวแรงสนับสนุน นภินทร ศรีสรรพางค์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ซึ่งเป็นคน “ค่ายภูมิใจไทย” ขณะที่ ส.ส.คนอื่นๆ ได้แก่ “สาวแคมป์” กุลวลี นพอมรวดี และ “แม่ยิ่ง” บุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถือหาง “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. สามี “แม่บุญยิ่ง” และเป็นคนสนิทของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร โดยมี “เสี่ยมุ่ง” อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยเชียร์ด้วย
และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน หันมาจูบปากเป็นพันธมิตรกันชั่วคราว โดยมี “สัญญาใจ” ในการแบ่งเก้าอี้กันเป็นเทอม หรือแบ่งกันเป็นระดับรองนายก อบจ. หรือประธานสภา อบจ.
เป็นที่รู้กันว่า “สนามท้องถิ่น” จึงมีลักษณะยึดโยงกับ “พวกพรรค” มากกว่า “พรรคต้นสังกัด”
ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นเหตุให้ “ค่ายพลังประชารัฐ” ชิงประกาศไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค เพราะตามรูปการณ์ใน “พื้นที่เป้าหมาย” ก็ถือ “แต้มต่อ” ได้เปรียบเต็มประตูอยู่แล้ว.