xs
xsm
sm
md
lg

มโนบรรเจิด! “ปวิน” ฟันฉับ “อานันท์” เอาต์แล้ว “หมอวรงค์” ถาม ท่านได้ยินเสียงม็อบด่าพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายอานันท์ ปันยารชุน เมื่อครั้งไปฟังบรรยายของ นายธนาธร ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จากทวิตเตอร์อดีตพรรคอนาคตใหม่
ฝันบรรเจิดแค่ไหน ก็ต้องตื่น “ปวิน” ปลุกสาวกเลิกมโน “ฝ่ายอำมาตย์แตกกัน” ฟันฉับ “อานันท์” เอาต์แล้ว “หมอวรงค์” ถามตรงเป้า ท่านได้ยินเสียงม็อบด่าพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่? “แรมโบ้อีสาน” เหน็บเจ็บ หวัง “นายกฯ” หล่นทับเหมือนอดีต

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 ต.ค. 63) เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และผู้ลี้ภัยในประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในศาสดาที่สาวก “ล้มเจ้า” ในไทยเชื่อถือศรัทธา ถึงกับนำรูปภาพมาชูเทิดทูนในม็อบเยาวชนปลดแอก โพสต์ข้อความ กรณี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี พูดทำนองให้ “บิ๊กตู่” ฟังเสียงม็อบนักเรียน นิสิตนักศึกษา เรียกร้อง

ภาพ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากแฟ้ม
ระบุว่า “ขำ ทั้งฝ่ายเราฝ่ายเค้า พอได้ยิน อานันท์ ปันยารชุน ออกมาพูดด่ารัฐบาล โอ้ย มโนว่า ลมเปลี่ยนทิศ มโนว่าฝ่ายอำมาตย์แตกกันเองแล้ว ตื่นค่ะอีดอก นี่มันเวลาเข้างานแล้ว... คนอย่างอานันท์ แม้ยังมีพวกผู้ดีกรุงเทพฯนับถืออยู่บ้าง แต่ ณ เวลานี้ เอาต์ (out) แล้วค่ะ ไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลทางการเมืองเหลืออะไรทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจตรงนี้ และเมื่อตื่นแล้ว อีดอก อาบน้ำแต่งตัวไปทำงานได้แล้วค่ะ”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์หัวข้อ “#เห็นต่างจากท่านนายกอานันท์”

โดยระบุว่า “ท่านนายกฯอานันท์ เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรี ที่ผมให้ความเชื่อถือมาก แต่การได้อ่านคำพูดที่ท่านพูดในเวทีแห่งหนึ่ง และสื่อสรุปว่า “อานันท์ ถาม บิ๊กตู่ ได้ยินเสียงม็อบมั้ย แต่จะลาออกหรือไม่เป็นสิทธิ” โดยสาระที่ท่านพูดบนเวที ท่านพูดอยู่บริบทเดียว นั่นคือ เด็กมองว่า นายกฯเป็นตัวปัญหา เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

ผมเลยไม่มั่นใจว่า เสียงม็อบที่เรียกร้องให้นายกฯลาออก ท่านได้ยิน แต่ท่านได้เห็นเสียงที่ม็อบพูดหรือกระทำเรื่องอื่นอีกหรือไม่ เช่น

ท่านได้ยินเสียงม็อบด่าพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่?
ท่านเห็นม็อบล้อมรถขบวนเสด็จของพระราชินีและพระองค์ทีหรือไม่?
ท่านเห็นม็อบชูนิ้วกลางใส่ขบวนเสด็จหรือไม่?
ท่านเห็นม็อบเชิญชวนไปคุกคามพระมหากษัตริย์ที่ธรรมศาสตร์หรือไม่?
ท่านเห็นม็อบกุเรื่องใส่ร้ายพระเจ้าอยู่ที่สถานทูตเยอรมันไหม?
ท่านเห็นม็อบโบกธงชาติอุยกูร์ ทิเบต ไต้หวัน และฮ่องกงไหม?

หรือแม้แต่เสียงม็อบให้นายกฯลาออก ให้เลือกนายกฯคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เอาสุดารัตน์ ท่านคิดอย่างไร?

ผมต้องขอโทษท่านด้วย และขออนุญาตเห็นต่างจากท่านครับ เพราะถ้าไม่นำเสนอ เกรงว่า จะมีผู้ไม่หวังดีนำเรื่องที่ท่านพูดไปขยายผล เพื่อหวังผลประโยชน์ หลังจากนั้น ก็จะรุกคืบเรื่องอื่นๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยากแก่การควบคุม

#ด้วยความเคารพท่านอานันท์ครับ”

ภาพ บรรยากาศการชุมนุมขณะขบวนเสด็จฯผ่าน จากแฟ้ม
นอกจากนี้ ถ้าฟังจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายอานันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในเวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” ที่กำลังเป็นกระแส ก็นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า

“ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุม จะพบว่า มีบางข้อเสนอที่ทะลุเพดาน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ที่ไม่สามารถกระทำให้ได้ โดยเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สูงกว่าเหนือกว่านายกฯ เรื่องนี้คนไทยทั้งประเทศรับทราบและรับรู้ ดังนั้น การลาออกของนายกฯ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะการชุมนุมเรียกร้องจะยังคงมีต่อไป เพราะยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย”

รวมทั้ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้อีสาน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า

“ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดนายอานันท์ถึงต้องออกมาพูดในลักษณะนี้ หรืออาจเป็นเพราะหวังว่า หากนายกฯ ลาออกจริง ตำแหน่งนายกฯจะหล่นใส่ท่านอานันท์เหมือนในอดีต ท่านยังหลงใหลอยากกลับมาสู่อำนาจแบบเดิมเช่นนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ คำแนะนำของท่านดูเหมือนจะเข้าทางท่านอานันท์เช่นในอดีตเลย แต่สถานการณ์อดีตกับปัจจุบันเหตุและผลต่างกันมากมาย...”

สำหรับ นายอานันท์ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย พบว่า เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย สมัยแรก ระหว่างวันที่ 2 มี.ค. 34 ถึง 22 มี.ค. 35 ภายหลังการรัฐประหาร ปี 34

จากการเสนอชื่อโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นกัน ทั้งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะ พ.ท.สุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และ นายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ภารกิจหลักของรัฐบาลนายอานันท์ในสมัยแรก คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอานันท์ ได้นำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภาพพจน์ที่ดี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

การบริหารประเทศของนายอานันท์ ภายใต้คำสั่งของคณะ รสช. ทำให้รัฐบาล รสช. ได้รับการสืบทอดอำนาจ

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 22 มี.ค. 35 ซึ่งพรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลัง นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และกล่าวในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

การดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.สุจินดา ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างรุนแรง มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงหลายแสนคน จนนำมาสู่การใช้กำลังปะทะ และปราบปรามในวันที่ 17 พ.ค. 35 หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออก ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่แล้ว นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับตัดสินใจในท้ายที่สุด เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็น พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ ซึ่งมีกระแสสังคมต่อต้าน

นายอานันท์ จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก

และพ้นตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 35 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 20...

เห็นได้ชัดว่า ชื่อของ นายอานันท์ มักถูกโฉลกกับวิกฤตการเมืองการปกครองของประเทศ และท่ามกลางม็อบเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เป็นอยู่ ท่ามกลางนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก นายอานันท์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคล้อยตามดังกล่าว

จึงถูกมอง ในสองด้านที่น่าสนใจ ด้านหนึ่ง เห็นว่า เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง หนึ่งในหลายคนที่ออกมา เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม และให้นายกฯลาออก แม้ว่าจะไม่พูดตรงๆ ก็ตาม ขณะที่อีกด้าน ถูกมองว่า ออกมานำเสนอปัญหาไม่รอบด้าน กรณีพูดถึงแต่มุมที่ต้องฟังเสียงเด็ก แต่ไม่ฟังว่า เด็กทำอะไร พูดอะไร ที่ทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริง กรณีจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ภาพลักษณ์ ของ นายอานันท์ ในพักหลัง มักมีความเชื่อมโยงกับ กลุ่ม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่น้อย

โดยเห็นได้ชัด จาก ทวิตเตอร์ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่ ทวีตภาพ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมระบุข้อความว่า

“วันนี้ คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้เดินทางมาด้วยตนเอง มาฟังบรรยายของ @Thanathorn_FWP ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย” (สยามรัฐ/ 3 ธ.ค. 62) จนเป็นข่าวดังทั่วโลก

และที่ต้องไม่ลืมก็คือ ข้อเรียกร้องให้ “นายกฯลาออก” เป็นข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ “ต้นตอของปัญหา” ก็เช่นกัน ซึ่งวิเคราะห์กันว่า ต้องการแย่งชิงอำนาจจากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นสำคัญ โดยละเว้นที่จะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อการปฏิรูปสถาบันฯ ว่า มีจุดยืนที่จะเอาด้วยหรือไม่

เหมือนเมื่อครั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” เคยบอกว่า “มือที่มองไม่เห็น” ล้วงลูกการเมือง สูงสุดอยู่แค่ “ป๋าเปรม” ทั้งที่แท้จริงแล้ว เป็นที่รู้กันว่า หมายถึงใคร

มาถึง นายอานันท์ ก็เช่นเดียวกัน เขาเลือกที่จะมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ปัญหาที่ม็อบราษฎร 63 เรียกร้องต้องการอย่างแท้จริง แต่ต้องการตัดตอนเอาแค่ “นายกฯลาออก” ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ช่วยไม่ได้ ที่จะถูกมองว่า หวังอะไรกับตำแหน่งที่เคยได้รับจากสถานการณ์วิกฤตหรือไม่

เพราะถ้ามองเห็น และได้ยินเรื่องราวทั้งหมดอย่างรอบด้านของ ม็อบราษฎร 63 นายอานันท์ ก็จะรู้ว่า ลำพังการแก้ปัญหาที่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่จบ

หรือไม่ สิ่งที่ นายอานันท์ ไม่พูดถึง ก็คือ จุดยืนที่เขาได้แสดงออกมาแล้ว และไม่กลัวที่จะถูกมองว่า อยู่ข้างไหนหรือไม่ ก็นับว่า มีความเป็นไปได้เช่นกัน หรือว่ามีเหตุผลอื่นอีก???


กำลังโหลดความคิดเห็น