“ทัตเทพ” เผยเยาวชนปลดแอกขยายการชุมนุมดาวกระจายใน 18 จว.ทั่วประเทศ เป็นการผุดขึ้นจากพลังบริสุทธิ์ของเยาวชน การชุมนุมแบบ “ไร้แกนนำ” คือจุดแข็งที่รัฐบาลไม่สามารถตีม็อบให้แตกได้ ด้าน “ดร.ไชยณรงค์” ชี้ปัญหาความแร้นแค้นเป็นแรงขับให้ภาคอีสานเกิดการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” มากสุด เชื่อยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ ขณะที่ “ดร.พิชาย” ระบุหลายปัจจัยดึงคนลงถนนเพิ่มขึ้น เตือนรัฐบาลหากใช้ความรุนแรงจะนำไปสู่จุดแตกหัก!
ปรากฏการณ์การชุมนุมของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” หรือ Free YOUTH ซึ่งเริ่มจากการชุมนุมร่วมกับกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในโลกโซเชียล #เยาวชนปลดแอก ขึ้นแฮชแท็กยอดนิยม ติดอันดับ 1 ในเทรนด์ทวิตเตอร์โลก โดยมีผู้ทวิตข้อความกว่า 10.8 ล้านทวิต ทำลายสถิติเทรนด์ทวิตเตอร์โลกในปีนี้
อีกทั้งการชุมนุมยังได้ขยายวงออกไป เกิดเป็นการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในอีก 18 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ไม่น้อย ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่าหลังจากนี้ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนของกลุ่มเยาวชนปลดแอกจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ?
นายทัตเทพ เรืองประไพกิจ ประธานกลุ่มเยาวชนปลดแอก เปิดเผยถึงทิศทางในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ว่า หลังจากได้ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อให้รัฐบาลแล้วจะให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ ถ้ายังเพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ เราจะยกระดับการชุมนุม ส่วนจะยกระดับอย่างไรนั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งสิ่งที่เรากังวลมากที่สุดก็คือ เรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เนื่องจากในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวเยอะมากทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความวิตกและสับสน อีกทั้งยังมีการปฏิบัติการหลายอย่างของเจ้าหน้าที่ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น มีคนของตำรวจมาประจำการอยู่บนตึก มีคนเอาถุงดำมาคลุมกล้องซีซีทีวี มีชายชุดดำคุมตัวเยาวชนผู้ชุมนุมออกไปโดยบอกว่าจะพาไปสอบสวนแต่ไม่ยอมแสดงบัตรว่ามาจากหน่วยใด โชคดีที่ผู้ชุมนุมคนอื่นช่วยไว้ได้ ดังนั้น ในการชุมนุมครั้งต่อไปเราจำเป็นต้องวางมาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
“ยืนยันว่าเราไม่ได้มีความคิดที่จะจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน หรือต้องการล้มเจ้าอย่างที่บางฝ่ายกล่าวหา เจตนารมณ์ของเรามีเพียงข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เรียกร้องต่อรัฐบาลเท่านั้น คือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2560” ประธานกลุ่มเยาวชนปลดแอก กล่าว
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่กำลังจะจัดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศนั้น นายทัตเทพ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นจากเจตนารณ์ของนักศึกษาในแต่ละพื้นที่เอง ไม่ได้มีการนัดหมายกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในส่วนกลางแต่อย่างใด ก็มีบ้างที่หารือเข้ามาเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดการชุมนุม ซึ่งตนก็ได้ให้คำแนะนำไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมาในหลายจังหวัดนั้นเกิดจากความรู้สึกร่วมของนักศึกษาประชาชนที่ทนเห็นความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้
“ยุทธศาสตร์การชุมนุมครั้งนี้ต้องเรียกว่าเป็นออร์แกนิกดาวกระจาย เพราะเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นพร้อมกันจากพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาประชาชน เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่มีแกนนำ ผู้ที่ขึ้นมาปราศรัยก็จะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในยุคที่ผ่านๆ มา และตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของการชุมนุม เพราะไม่ว่าจะมีการจับกุมผู้ปราศรัยไปกี่คน การชุมนุมก็ยังคงอยู่” นายทัตเทพ ระบุ
ขณะที่มุมมองของนักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนักเรียนนักศึกษาซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศเมื่อเดือน ก.พ.2563 ที่ผ่านมา แต่ต้องหยุดชะงักลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อการแพร่ระบาดลดลงนักศีกษาจึงกลับมาชุมนุมกันใหม่
โดยการแสดงออกทางการเมืองในครั้งนี้มีความเข้มข้นมาก จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ใช้ในการชุมนุมนั้นขยับจากภายในสถานศึกษาซึ่งใช้ในการชุมนุมก่อนโควิด-19 มาเป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะซึ่งแสดงถึงวามมั่นใจในพลังของนักศึกษา ขณะที่ภาคประชาชนก็สนใจเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้นเพราะไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย มีการจัดซื้อเครื่องบินเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายทหารระดับสูงทั้งที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่และประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกมาก อีกทั้งยังมีการใช้อำนาจรัฐข่มขู่คุกคามประชาชนที่ออกมาคัดค้านโครงการของกลุ่มทุน เช่น กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ดังนั้น จึงเชื่อว่าการชุมนุมหลังจากนี้จะขยายวงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าภาคอีสานมีมหาวิทยาลัยประกาศเข้าร่วมการชุมนุมมากที่สุดนั้น ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ชี้ว่า เป็นเพราะภาคอีสานมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งปัญหาความยากจน ความแห้งแล้ง และการแย่งชิงทรัพยากร คนอีสานเติบโตมากับภาพการถูกผู้มีอำนาจข่มเหง เขาสัมผัสได้ถึงความลำบากของพ่อแม่ ตรงนี้จึงเป็นแรงผลักที่ทำให้เยาวชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซี่งชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้การชุมนุมครั้งนี้ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่ 1) ข้อเรียกร้องของเยาวชนที่ชุมนุมก่อนโควิด-19 ยังไม่ได้รับการแก้ไข 2) ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจข่มขู่คุกคามเยาวชนและประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จึงสะสมความไม่พอใจให้แก่นักศึกษา 3) การเมืองในปัจจุบันยังคงมีภาพของการแย่งชิงตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ มากกว่าที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เยาวชนซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้เพียงสื่อสารถึงความไม่พอใจอยู่ในโลกโซเชียลไหลมารวมกันบนท้องถนน และแสดงออกอย่างแข็งกร้าวโดยไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมปราศรัยที่หน้ากองทัพบกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่จะทำให้การชุมนุมนับจากนี้ขยายวงและยกระดับให้เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน การที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม การคุกคามหรือใช้กฎหมายเข้าจับกุมผู้ชุมนุม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก หากมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การชุนนุมขยายวงอย่างรวดเร็ว
“เชื่อว่ารัฐบาลจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะก่อนที่จะตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะกระแสสังคมที่พร้อมจะโดดลงมาร่วมชุมนุมด้วยหากไม่พอใจการดำเนินการของรัฐบาล ที่สำคัญต้องระวังการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับล่างซึ่งอาจใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติเกินคำสั่ง อย่าลืมว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ นำไปสู่จุดจบอย่างไร” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พิชาย มองว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการชุนุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ ต้องจับตาต่อไปว่าท่าทีและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุนุมในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.จะออกมาในรูปแบบใด
ขณะที่ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เชื่อว่า การชุมนุมจะยังไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ แต่เป็นการสะสมพลังเพื่อรอปัจจัยที่เหมาะสมอันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง