xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมรัฐสภาแก้ม็อบ ทางออกหรือทางตัน?

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



วันนี้และพรุ่งนี้ (26-27 ตุลาคม) มีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำขอของรัฐบาล เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม “ปลดแอก” ทั้งหลาย

เป็นอีกหนึ่งความพยายามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการ “ดึงฟืนออกจากกองไฟ” ลดความร้อนแรงของสถานการณ์ โดยดึงรัฐสภาเข้ามาเป็นเวทีในการพูดคุย แต่จะได้ประโยชน์ตามที่มุ่งหวังหรือไม่ เชื่อแน่ว่า คนส่วนใหญ่ที่ติดตามการเมืองในช่วง 10-20 ปีมานี้ คงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

ในอดีตอันใกล้ การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของที่ประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. ถูกใช้เป็นหนึ่งในทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง

สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขับไล่นายสมัคร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการยึดทำเนียบรัฐบาล ในช่วงกลางปี 2551 คณะรัฐมนตรีในตอนนั้น มีมติให้เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตอนนั้น เสนอให้นายสมัคร ลาออกหรือยุบสภาเพื่อแก้ไขวิกฤต

นายสมัคร อภิปรายตอบโต้ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่แนะนำให้ยุบสภา หรือลาออกเพื่อเป็นทางออกของวิกฤตบ้านเมือง และยืนยันว่า ต้องการทำหน้าที่เพื่อรักษาระบบการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

“ผมจะรักษาสถาบันนี้ไว้ ไม่ว่ายุบสภาหรือลาออกมันเป็นความพ่ายแพ้กับคนพวกหนึ่งที่ลุกขึ้นมาชี้หน้าให้ออกแล้วทำได้ เวลานี้มันเป็นภาระหน้าที่ไม่ใช่ความอยาก เป็นหน้าที่ที่ผมต้องประคับประคอง ผมเป็นคนถือหางเสือบ้านเมืองนี้ การตัดสินใจอยู่ที่ผม” นายสมัครกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา

หลังจากการประชุมรัฐสภาวันนั้น อีกไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ 9-0 ให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการไปเป็นพิธีกรจัดรายการ ชิมไปบ่นไป และรายการยกโขยง 6 โมงเช้า พรรคพลังประชาชนดันนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ทำเนียบรัฐบาลยังโดนกลุ่มพันธมิตรฯ ยึด จนในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 กรณีทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้นายสมชายพ้นจากตำแหน่ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงยุติการชุมนุม

การเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติเพื่อแก้ไขปัญหาการชุมนุมครั้งต่อมาเกิดขึ้นในรัฐบาลต่อมา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากการ “แปรพักตร์” ของนายเนวิน ชิดชอบ จนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อแดงในนาม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ในเดือนเมษายน 2552 และมีการล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา

การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2552 พรรคเพื่อไทยโจมตีการสลายการชุมนุมของรัฐบาล ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง การประชุมไม่มีผลสรุป นอกจากด่ากันไป ด่ากันมา ปีรุ่งขึ้น นปช.นัดชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกและยุบสภา แต่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นในการชุมนุม และนำไปสู่การสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553

การชุมนุมของ กปปส. หรือม็อบนกหวีดที่เริ่มต้นในวันที่ 31 ตุลาตม 2556 เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาฯ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาการชุมนุม เพราะสภาฯ ถูกยุบไปก่อนในวันที่ 6 ธันวาคม 2556 และการชุมนุมจบลงด้วยการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

สำหรับข้อเรียกร้องของม็อบคนรุ่นใหม่ในนาม สารพัดปลดแอก คือ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2. ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ให้มีการปฏิรูปสถาบัน ข้อแรกพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันสองครั้งแล้วว่า ไม่ออก และเรื่องการปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ยาก ทั้งยังถูกตั้งข้อสงสัยว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในกระบวนการของรัฐสภา ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันมากในเรื่องจะแก้อย่างไร แก้ตรงไหนบ้าง และแก้แค่ไหน

การประชุมร่วมของรัฐสภาในวันนี้ และวันพรุ่งนี้ คงไม่ต่างจากที่ผ่านๆ มา คือ เป็นเวทีที่พรรคฝ่ายค้านใช้โจมตีรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

ที่อาจจะไม่เหมือนเดิมคือ การก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งการอภิปราย และการ “ลักไก่” เสนอตั้งคณะกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูปสถาบันของพรรคก้าวไกล ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โยนหินถามทางมาแล้ว ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม คือ การเปลี่ยนแปลงบทบาทสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนคำตอบที่จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการชุมนุม บอกได้เลยว่า ยาก การเมืองนอกสภาฯ ต้องแก้ด้วยการเมืองนอกสภาฯ เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น