ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในการชุมนุมของ “ม็อบคณะราษฎร 2563” ที่กำลังเขม็งเกลียวมากขึ้นเป็นลำดับและยังไม่แน่ชัดว่าผลจะออกมาอย่างไรหลังยื่นคำขาดให้ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลาออกจากเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” พร้อมให้ปล่อยตัว “แกนนำ” ที่ถูกจับกุมคุมขัง มี 3 ปรากฏการณ์ที่ถือเป็น “กิมมิก” ที่น่าจับตาไม่แพ้การชุมนุมทางการเมืองของไทยครั้งไหนๆ
ปรากฏการณ์แรกก็คือ เกิดปรากฎการณ์ “ศัพท์ม็อบ” โดยมีการสร้างชุดคำศัพท์ไว้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม เป็นเล่ห์เหลี่ยมสับขาหลอกเจ้าหน้าที่ ถึงไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเท่า “รหัสลับดาวินซี” แต่รหัสลับใน “ม็อบคณะราษฎร” ก็สร้างสีสันให้กับการชุมนุมอยู่ไม่น้อย
ปรากฏการณ์ที่สองก็คือ ปรากฏการณ์ “พ่อค้าแม่ค้ารถเร่” ไม่ว่าจะเป็นร้านลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด ปลาหมึกย่าง ผลไม้สด ผลไม้ดอง ฯลฯ เข้าประชิดพื้นที่ชุมนุมอย่างรวดเร็ว จับจองทำเลทองรองรับชาวม็อบ โกยเงินเข้ากระเป๋าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
และปรากฏการณ์ที่สามที่อาจจะไม่คุ้นหูและมีชื่อว่า “แฟนด้อม”
เรียกได้ว่าหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน “ม็อบคณะราษฎร” แย่งซีนหมุดหมายข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่น้อย ขณะที่ “ม็อบราษฎร” ยังคงเดินหน้าแฟลชม็อบ “ดาวกระจาย” ยึดหลักการผู้ชุมนุม “ทุกคนคือแกนนำ” จัดการชุมนุมต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมไปถึงหลายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ
“ม็อบคณะราษฎร” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เลือกสื่อสารด้วยคำเฉพาะที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ในโซเชียลฯ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ รวมทั้งสร้างสรรค์ศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อเปรียบเทียบถึงบางสิ่งบางอย่าง หรือสื่อถึงเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง นัยว่าเป็นเล่ห์กลหลอกล่อ ปั่นหัวเจ้าหน้าที่ตำรวจอะไรเทือกนั้น
อย่างไรก็ดี ศัพท์ต่างๆ ในม็อบคณะราษฎร ไม่ได้เป็นความลับ แต่ละคำมีความหมายกำกับอย่างเปิดเผย และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการชุมนุมครั้งต่อๆ ไป ยกตัวอย่างศัพท์ม็อบ อาทิ 1. แครอท หมายถึง พระ 2.เบบี้แครอท หมายถึง เณร 3. บร็อคโคลี่ หมายถึง ทหาร 4. มอคค่า หมายถึง ตำรวจสีกากี 5. โอเลี้ยง หมายถึง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 6. มะเขือเทศ หมายถึงยมบาล 7. ข้าวโพดดิบ หมายถึง เสื้อเหลือง 8. มินเนี่ยน หมายถึง เสื้อเหลืองหัวเกรียน
9. ลูกชุบ หมายถึง ดาราที่อยากชุบตัวตามกระแส แต่ก่อนเป็น กปปส., สลิ่ม, เสื้อเหลือง) 10. เกียม หมายถึง เตรียม 11. โอยัวะ หมายถึง รถฉีดน้ำแรงดันสูงสีฟ้า 12. สเมิร์ฟ หมายถึง ผู้ชุมนุมเมื่อโดนน้ำที่ผสมสารเคมีสีฟ้า 13. โดนัล Dumb หมายถึง ลุงตู่ หรือ ลุงแถวบ้าน ที่มีลักษณะก้าวร้าว 14. มินเนี่ยน หมายถึง เสื้อเหลืองหัวเกรียน
15. จุ๊กเก่ง หมายถึง วางหมาก รู้ทางหนีทีไล่ สับขาหลอก 16. อโวคาโด้ หมายถึง รด. 17. นาตาชา โรมานอฟ หมายถึง ผู้แฝงตัวในพื้นที่เพื่อหาข้อมูล 18. แกง หมายถึง แกล้ง, สับขาหลอก 19. แกงเทโพ มาจาก 3 คำ คือ. แกง – แกล้ง, เท – ทิ้ง, โพ - โปลิซ (Police) ตำรวจ หมายถึง สับขาหลอกพื้นที่การชุมนุม
20. กลิ่นกะทิแรงมาก หมายถึง สลิ่ม 21. บังเกอร์ หมายถึง รอเก้อ 22. แก๊งบลูเบอร์รี่ หมายถึง ตชด. 23. CIA / หน่วยข่าวกรอง หมายถึง รถเข็นขายของ เช่น ลูกชิ้นทอด, ผลไม้, โตเกียว, หมึกย่าง ฯลฯ 24. โอเค! นัมเบอร์วัน! หมายถึง ตอบตกลง หรือ เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ในประเด็นนี้ ฟากฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ออกแอคชั่นว่าหน่วยข่าวตำรวจมีการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมโดยตลอด พร้อมบอกด้วยว่าการที่ชุมนุมเรียกว่าแทนตำรวจว่า “มอคค่า” ดีกว่าเรียกตำรวจ “แตงโม” เหมือนที่เคยเรียกกันในม็อบก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ “ม็อบคณะราษฎร” ยังมีการใช้ “ภาษามือในม็อบ” สัญลักษณ์สากลในการชุมนุมของคณะราษฎร เพื่อเป็นการสื่อสารประสานงานกันระหว่างมวลชน เรียกว่าเป็นการเรียนรู้หลักสูตรเร่งรัดภายในเวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้การชุมนุมดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยภาษามือมีต้นแบบมากจากจากการประท้วงในฮ่องกง รวมทั้งยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีเพียงมือเปล่า การที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาย่อมไม่ใช่ทางออก
สำหรับปรากฏการณ์ศัพท์ม็อบ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยวิเคราะห์เอาไว้ว่า คำศัพท์เหล่านี้เป็นชุดความคิดที่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและประสบการณ์ชีวิตในช่วงหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าตัวของภาษามีความดิ้นและมีชีวิตซึ่งสามารถมีการคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา อย่างเช่นคำบางคำที่ยุคสมัยหนึ่งอาจจะนิยมใช้กัน พอผ่านช่วงเวลาไปถ้าเกิดว่าคนอาจจะไม่นิยม ก็จะจางเลือนหายไป
แต่ประการสำคัญในทัศนะของ ดร.มานะอยู่ตรงที่ว่า การชุมนุมในครั้งนี้ที่มีตั้งแต่เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมาก การชุมนุมในครั้งนี้มีความหลายหลากช่วงวัยมากกว่าการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องตระหนักในฐานะผู้ใหญ่ไม่ว่าจะบทบาทไหนต้องรับฟัง และต้องถอดรหัสให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเด็กรุ่นนี้ต้องการอะไร มีปัญหาตรงจุดไหน เพื่อแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
ความจริงต้องบอกว่า ถ้าหากติดตามความเคลื่อนไหวของการชุมนุมครั้งนี้มาอย่างต่อเนื่องนับแต่แรกเริ่มก่อตัว ก็จะพบว่า พวกเขามี “ศัพท์แสง” ที่ใช้แตกต่างจากการชุมนุมที่ผ่านๆ มา มีการใช้ “คำ” และ “วลี” ต่างๆ ที่น่าสนใจ จนเกิดคำถามในหมู่ผู้ที่ติดตามการชุมนุมของคนรุ่นใหม่แอบถามตัวเองเบาๆ “คำนี้แปลว่าอะไร” เช่นคำว่า “ชั่ย/ชั่ยส์” ซึ่งก็คือคำว่า “ใช่” เพียงแต่สะกดแบบที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กันในแชทแอปหรือโซเชียลมีเดีย หรือคำว่า “ผนงรจตกม” ที่เกิดขึ้นในขบวนพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากเรื่อง “ภาษาม็อบ” แล้วอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ “แฟนด้อม” หรือคำเรียกแทนกลุ่มแฟนคลับศิลปินต่างๆ ซึ่งมักจะสนับสนุนศิลปินอันที่รักร่วมกัน “โดเนท” หรือบริจาคเงิน “เปย์” ทุ่มทุนสร้างโปรเจกต์ต่างๆ ให้ศิลปินประทับใจ ซึ่งเป็นการแสดงความรักอย่างหนึ่ง
น่าสนใจว่า การออกมาชุมนุมของ “ม็อบคณะราษฎร” ครั้งนี้ มีบรรดาแฟนด้อมต่างๆ ออกมา Call Out ยืนหยัดอยู่ในฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งแฟนด้อมนั้นประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายช่วงวัยตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยเกษียณ
บรรดาแฟนด้อมต่างร่วมกันบริจาคเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับม็อบคณะราษฎร ไม่ว่าจะด้อมใหญ่ด้อมเล็กควักเงินกันถ้วนหน้า อาทิ “แฟนด้อมเกาหลี” อย่าง SONE แฟนคลับวง Girls’ Generation 779,000 บาท, Army แฟนคลับวง BTS 173,000 บาท, EXO-L แฟนคลับวง EXO 301,000 บาท, IGOT7 แฟนคลับวง GOT7 166,000 บาท, Blink แฟนคลับวง BLACKPINK 126,000 บาท, ReVeluv แฟนคลับวง RED VELVET 30,000 บาท, WIZONE แฟนคลับวง IZONE 22,000 บาท, MOOMOO แฟนคลับวง Mamamoo 13,000 บาท ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี “แฟนด้อมจีน” อย่าง ป๋อจ้าน แฟนคลับหวังอี้ป๋อและเซียวจ้าน 314,000 บาท รวมถึง “แฟนด้อมไทย” อย่าง BNK48 281,548 บาท เป็นต้น รวมยอดเงินบริจาคของแฟนด้อมต่างๆ ประมาณ 2.763 ล้านบาท (ข้อมูลจาก CatDumb News ล่าสุด ณ วันที่ 17 ต.ค. 2563)
สุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ปรากฏการณ์ “พ่อค้าแม่ค้ารถเร่” อาทิ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด ผลไม้สด ขนมโตเกียว ปลาหมึกย่าง ฯลฯ สตรีทฟู้ดสไตล์ไทยๆ ที่ตามไปทุกหนทุกแห่งที่มีม็อบ แถมไปถึงจุดนัดชุมนุมก่อนชาวม็อบเสียอีก
สร้างความประหลาดใจสุดๆ เพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ สแตนบายทุกสถานการณ์แม้ม็อบคณะราษฎรจะปรับกลยุทธ์แบบดาวกระจาย เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปเรื่อยๆ ประกาศล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ไม่น่าเชื่อว่าร้านรถเร่ขายอาหารเหล่านี้ เข้ากระชับพื้นที่จับจองทำเลดีๆ ได้ก่อนใคร
จนถูกขนานนามว่าเป็น “หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” หรือ “CIA” โดยชาวม็อบชาวเน็ตแซวกันยกใหญ่ว่า พวกเขาและเธออาจเป็นสายลับแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ชุมชุมก็เป็นได้ กลายเป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจแทบกลบหมุดหมายการชุมนุมของคณะราษฎรมิดเลยทีเดียว
ถามว่าทำไมบรรดาพ่อค้าแม่ค่ารถเร่เหล่านี้ ถึงเข้าจับจองพื้นที่การชุมชุมรวดเร็วนัก?
ได้คำตอบว่า ติดตามความเคลื่อนไหวจากเฟซบุ๊กเพจ “เยาวชนปลดแอก-FreeYOUTH” เตรียมของเตรียมตัวพร้อมเดินทาง เห็นโอกาสนับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมในเดือน 1-2 เดือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ออกคำเตือนว่าการชุมนุม เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมชนยังตบเท้าเข้าร่วมม็อบคณะราษฎรอย่างต่อเนื่อง มองวิกฤตให้โอกาสกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ทำให้รถเร่ขายอาหารสตรีทฟู้ดแบบไทยๆ ตามไปทุกที่ที่ม็อบนัดชุมนุม
สำหรับธุรกิจรถเร่ขายอาหารในม็อบ ทำเงินขายดิบขายดีหมดเกลี้ยงแทบทุกร้าน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเป็นวันธรรมดาส่วนใหญ่ใช้เวลานานค่อนวันกว่าจะหมด ซ้ำร้ายวันไหนขายไม่ดีของเหลือก็เป็นต้องแบกรับภาระ พอมีชุมนุมมาขายในม็อบขายหมดก่อนเลิกชุมนุมเสียอีก ส่วนรายได้ก็ค่อนข้างดี เหนื่อยแต่ถือว่าคุ้มสุดๆ
ส่วนประเภทที่ถูก “แกง” หรือถูกหลอกบ้าง ก็พอมีปรากฏให้เห็นบ้างพอเป็นกระษัย
กล่าวเฉพาะ “รถลูกชิ้นหลังคาสีส้ม” ที่ขายอยู่ในม็อบของกลุ่มปลดแอก หรือม็อบคณะราษฎร 2563 ในครั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เป็นรถลูกชิ้นที่มาจากหมู่บ้านเดียวกัน มาปักหลักขายอยู่ในกรุงเทพฯ มาหลายปี เดิมพวกเขาเหล่านี้มาจากหมู่บ้านตะเคียน ตำบลตรมไพร ในอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีกลุ่มเครือข่าย ขายลูกชิ้น รถหลังคาสีส้มอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร
หนึ่งในเจ้าของรถขายลูกชิ้น รุ่นใหญ่ รหัส 700 บอกว่า “ด้วยเครือข่ายอันเหนียวแน่นทางการข่าวที่แม่นยำ ทำให้พวกเขามาถึงม็อบได้อย่างรวดเร็ว โดยเราไปมาแล้วทุกครั้งที่ม็อบคณะราษฎร มาชุมนุม และมาถึงก่อนผู้ชุมนุมเสียอีก โดยพวกเราไม่ได้เป็นหน่วยข่าวกรองอย่างที่ใครเข้าใจ แต่เครือข่ายของเราจะรู้ข่าวได้ก่อน ว่าวันนี้จะไปชุมนุมกันที่ไหน พอแจ้งข่าวมาก็รีบมากัน ช่วงนี้ อะไรที่พอจะหาเงินได้ ก็ต้องรีบกอบโกย เพราะเงินหายาก ซึ่งมาขายในกลุ่มม็อบ ขายดี กว่าขายทั่วไป”
ถึงตรงนี้ แม้ยังไม่รู้ว่าการชุมนุมของคณะราษฎรจะยุติเมื่อใด ขณะที่ภาครัฐไล่ต้อนเต็มกำลังโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ข่าวว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งเครื่องปิดเฟซบุ๊กเพจ “เยาวชนปลดแอก-FreeYOUTH” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ปิดกั้นสื่อช่องทางการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุม
ทำให้ชาวม็อบรวมกลุ่มใช้งานแอปฯ “เทเลแกรม” (Telegram) สำหรับส่งสื่อสารกันเป็นช่องทางสำรองในการติดต่อสื่อสารกันหากเพจหลักถูกปิด แต่ก็กระแสข่าวออกมาว่ามีหนังสือคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 11/2563 ให้ กสทช. ระงับการการใช้แอปฯ เทเลแกรม
บทสรุปสุดท้ายของ “คณะราษฎร” กับข้อเรียกร้องต่างๆ จะลงเอ่ยเช่นไร ยังคงต้องติดตาม...ห้ามกระพริบตา!