xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส 23 ศัพท์ฮิต “ม็อบชู 3 นิ้ว”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะปรากฏการณ์ 23 ศัพท์ฮิต “ม็อบชู 3 นิ้ว” สร้างคำศัพท์ประจำม็อบเล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อเจ้าหน้าที่ สะท้อนสีสันการเคลื่อนไหว นักวิชาการด้านสื่อมองกฎการณ์ด้านภาษา สะท้อนชุดความคิด แก้ปัญหาร่วมกัน




ปรากฏการณ์ 23 ศัพท์ฮิตประจำม็อบ

เจาะปรากฏการณ์ ศัพท์ฮิต “ม็อบชู 3 นิ้ว” อีกหนึ่งสีสันที่สำคัญในการชุมนุมของ “คณะราษฎร” และกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก”ที่ได้เห็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ที่ถูกตั้งมาเพื่อเปรียบเทียบหรือสื่อถึงเหตุการณ์

ซึ่งจะไม่เป็นการพูดไปโดยตรง แต่จะเป็นการนำคำศัพท์โดยเฉพาะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้เพื่อสื่อสารกันในโลกโซเชียลฯ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามีการสร้างสรรค์ศัพท์ใหม่ๆ มาใช้กันตลอดเวลา เพื่อเป็นเล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะกลัวว่าจะมีการเข้าไปสลายการชุมนุม

ทีมข่าว MGR Live จึงรวบรวมศัพท์ภาษาม็อบได้ทั้งหมด 23 ศัพท์ฮิต พร้อมความหมาย ที่ได้เห็นและได้ยินกลุ่มวันรุ่น หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้กันบ่อยในช่วงนี้


1. แครอท หมายถึง พระ 2.เบบี้แครอท หมายถึง เณร 3. บร็อคโคลี่ หมายถึง ทหาร 4. มอคค่า หมายถึง ตำรวจสีกากี
5. โอเลี้ยง หมายถึง เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน6. มะเขือเทศ หมายถึงยมบาล 7. ข้าวโพดดิบ หมายถึง เสื้อเหลือง 8. มินเนี่ยน หมายถึง เสื้อเหลืองหัวเกรียน

9. ลูกชุบ หมายถึง ดาราที่อยากชุบตัวตามกระแส 10. เกียม หมายถึง เตรียม 11. โอยัวะ หมายถึง รถฉีดน้ำแรงดันสูงสีฟ้า 12. สเมิร์ฟ หมายถึง ผู้ชุมนุมเมื่อโดนน้ำที่ผสมสารเคมีสีฟ้า13. โดนัลDumb หมายถึง ลุงแถวบ้าน ที่มีลักษณะก้าวร้าว

14. จุ๊กเก่ง หมายถึง วางหมาก รู้ทางหนีทีไล่ สับขาหลอก 15. อโวคาโด้ หมายถึง รด.16. นาตาชา โรมานอฟ หมายถึง กลุ่มคนเสื้อเหลืองชู 3 นิ้ว 17. แกง หมายถึง สับขาหลอก 18. แกงเทโพ หมายถึง สับขาหลอกพื้นที่การชุมนุม

19. กลิ่นกะทิแรงมาก หมายถึง สลิ่ม 20. บังเกอร์ หมายถึง รอเก้อ 21. แก๊งบลูเบอร์รี่ หมายถึง ตชด. 22. หน่วยข่าวกรอง/CIA หมายถึง รถเข็นขายของ/ลูกชิ้นทอด/โตเกียว/หมึกย่าง ฯลฯ 23. โอเค! นัมเบอร์วัน! หมายถึง ตอบตกลง หรือเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหลายคนก็คาดว่าศัพท์ต่างๆ น่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์และสิ่งที่พบเจอ ในการชุมนุมครั้งถัดๆ ไป


นอกจากนี้ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ให้ช่วยสะท้อนปรากฏการณ์ศัพท์ม็อบเหล่านี้

โดยนักวิชาการด้านสื่อก็ได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์ทางภาษานี้ว่า เป็นการสร้างสรรค์คำ ที่คนเข้าร่วมชุมนุมสามารถถอดรหัสกันเองได้ และอาจจะทำให้คนอื่นที่ไม่เข้าใจงงได้ หลากหลายกว่าม็อบในอดีต ทั้งยังมองว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันของม็อบอีกด้วย

“มันก็เป็นการสร้างสรรค์คำ รวมถึงเป็นการสร้างสีสันด้วยของเขาเองที่ใช้ในการสื่อสาร เพราะว่ามันไมใช่แค่คำ ผมดูแล้วแม้กระทั่งการใช้สัญลักษณ์ของเขาเองในการสื่อสาร อย่างที่เขาต้องการยืนเป็นแถวแล้วส่งของกัน หรืออะไรต่างๆ หรือการสื่อสารกัน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะประยุกต์ใช้เวลาที่เขาอยู่บนกองเชียร์ ขบวนเชียร์พาเหรด งานกีฬาสี หรือในคอนเสิร์ต อะไรต่างๆ ที่เด็กรุ่นนี้เขาคุ้นชินกัน วัฒนธรรมที่เขาเคยใช้อยู่ เพียงแต่ว่าเอามาใช้ในการชุมนุมเรียกร้อง ชุมนุมประท้วง

[ดร.มานะ ตรีรยาภิวัตน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน]
ถ้ามองในมุมมองผู้ใหญ่ มันอาจจะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะว่าที่ผ่านๆ มาในอดีต ม็อบในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมไปถึง กปปส. หรือในส่วนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่การสื่อสารก็เลยเป็นอีกชุดหนึ่งที่มันแตกต่างจากจุดนี้ที่เด็กกำลังมีการเรียกร้อง หรือมีการชุมนุมกันอยู่

ต้องบอกว่าใหม่สำหรับเรา แต่สำหรับพวกเขาเองอาจเป็นเรื่องธรรมดา อย่างเรื่องพวกคุณรับรู้ได้ไวกว่า อย่างพูดว่านักปฏิบัติการ“จุ๊ก” ก็จะรู้แล้วว่าหมาถึงอะไร แต่พวกผมไม่รู้ รุ่นพวกผมจะโตมาอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดในเรื่องของเชิงภาษาคือ คุณใส่รหัสที่คุณถอดกันเองได้รู้เรื่องกันอยู่แล้ว แต่รุ่นผมก็จะงง

เหมือนกันถ้ารุ่นผมสื่อสารบางอย่าง บางคำไป รุ่นคุณก็จะบอกว่าอะไรกัน ภาษาบางทีมันขึ้นอยู่กับทั้งเรื่องวัฒนธรรม เรื่องของช่วงวัย เรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในการใส่รหัสและถอดรหัสด้วยเหมือนกัน”


นอกจากนี้ยังมองว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในยุคนี้ เป็นการหยิบภาษาที่ใช้ในโลกออนไลน์ มาให้คนหมู่มากได้รับรู้มากขึ้น

“ผมมองปรากฏการณ์ในเรื่องของการสื่อสารของเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเขาสื่อสารกัน หยิบเอาภาษาที่เขาสื่อสารกันในออนไลน์ในกลุ่มเพื่อนมาออฟไลน์ หรือมาใช้ในการชุมชนในครั้งนี้ มีหลายเรื่อง หลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงคำเทียบเคียงอย่าง เช่น แกงเทโพ บ้างคนก็บอกว่ามาจากแจ้ง บางคนก็บอกว่ามาจากต้มตุ๋น หรือหลอก อันนั้นคือความหมายหนึ่ง เท ก็หมายถึงทิ้ง โพ ก็โปลิส

แม้กระทั่งคำที่เรียกศัพท์แทนหลายๆ อย่าง ผมก็ว่าก็น่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เห็นอยู่ เพราะว่าส่วนหนึ่งภาษาไทย หรือคำไทยเราเอง เราก็ดิ้นกันอยู่ ก็เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเอง

ผู้ใหญ่มองอาจจะรู้สึกตกใจ จะรู้สึกว่ามันใช่หรือเปล่า แต่ต้องเข้าใจว่าตัวของภาษามันมีความดิ้น มีชีวิตของมันอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น คำบางคำที่ยุคสมัยหนึ่งอาจจะนิยมใช้กัน พอผ่านช่วงเวลาไปถ้าเกิดว่าคนอาจจะไม่นิยม มันก็อาจจะจางเลือนหายไป หลายๆ คำก็เป็นแบบนี้

คำใหม่ที่เกิดขึ้นมา อาจจะใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเป็นที่นิยม ก็อาจจะอยู่ยาวหน่อย อันนี้ผมมองในเรื่องปรากฏการณ์ของภาษา”


สะท้อนชุดความคิด แก้ปัญหาร่วมกัน

การชุมนุมในครั้งนี้ที่มีตั้งแต่เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ทำให้การชุมนุมในครั้งนี้มีความหลายหลากช่วงวัยมากกว่าการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องภาษาก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในการสื่อสาร

นักวิชาการด้านสื่อเอง ในฐานนะเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะบทบาทไหนต้องเข้าไปรับฟัง และต้องถอดรหัสให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเด็กรุ่นนี้ต้องการอะไร มีปัญหาตรงจุดไหน และแก้ปัญหาร่วมกันโดยสันติวิธี

“จริงๆ คำใหม่ๆ หลายอย่างก็คือสิ่งที่เขาใช้อยู่แล้วในโลกของออนไลน์ในการสื่อสารในกลุ่มเพื่อนของเขาเอง กลุ่มที่เรียนรู้วัฒนธรรมหลายๆ อย่างด้วยกันเอง เวลาเราพูดถึงเรื่องภาษา มันคือการใส่ความหมายลงไปใน อาจจะเป็นตัวอักษรก็ได้ คำพูดก็ได้ อีกฝ่ายที่เป็นฝ่ายรับจะถอดรหัสได้หรือไม่ ซึ่งในกลุ่มของคนที่เขาอยู่ด้วยกันเอง เขาก็จะถอดรหัสแล้วก็ใช้ตัวภาษานี้

ในม็อบไม่ใช่แค่ภาษาพวกนี้ การส่งสัญลักษณ์ของเขาเองในการชุมชน เช่น บอกว่าต้องการหมวก ต้องการแว่น เมื่อรถน้ำมา หรือให้หนีอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็คือการใส่รหัสภาษาเข้าไป อาจจะเป็นภาษากาย ภาษาเขียน ภาษาภาพ

กลุ่มของเขาเองสามารถที่จะถอดรหัสและเข้าใจความหมายได้ ก็ถือว่าเป็นการสื่อสารอันหนึ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่ว่าเขาแปลงจากในออนไลน์มาอยู่ในออฟไลน์ และก็มาอยู่ในการชุมนุม

ก็เลยทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนอย่างพวกเราเองไม่เคยรับรู้มาก่อนแปลกใจ เพราะฟังครั้งแรกได้เห็นตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร พอถามแล้วเราก็ได้รู้ว่าอ๋อมันมีฐานความคิดมาอย่างนั้นเอง

ถ้าเราไม่มีชุดความคิด หรือเราไม่สามารถแปลรหัสของเขาได้ เราก็ไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งก็คือว่า การชุมนุมครั้งนี้ที่มีตั้งแต่เด็กนักเรียน จนนักศึกษา คนรุ่นใหม่จำนวนมาก หลายๆ ครั้งเราเป็นผู้ใหญ่เราก็ต้องฟัง ต้องถอดรหัสให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเด็กรุ่นนี้เขาอยากได้อะไร

เขามีปัญหาอะไร อะไรที่เรียกได้ว่าเป็น Point ของเขา แล้วเขาอยากจะเรียกร้องให้แก้ปัญหาตรงไหน เราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหน อาจจะต้องเข้าไปรับฟัง บางอย่างเราสามารถที่จะแก้ปัญหาร่วมกันได้โดยสันติ มันก็เป็นเรื่องที่ดี”


ยอมรับว่าเมื่อได้เห็นศัพท์ม็อบเหล่านี้ ตอนแรกไม่เข้าใจว่าคนเหล่านั้นต้องการสื่อสารอะไร แต่พอให้ลูกศิษย์แปลให้ ได้รู้จากชุดความคิดของเด็ก ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะชุดความคิดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและก็ประสบการณ์ชีวิตในช่วงหนึ่ง

“ผมไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่ออะไร แล้วพอเข้าแปลมาให้ เราถอดรหัสเรารู้ว่ามันมาจากตรงนี้ ผมก็ตื่นเต้นนะ คิดได้ยังไง มันก็มีที่มาของมัน เหมือนกับจริงๆ สมัยก่อนๆ ถ้ารุ่นพวกผมเองคำบางคำมันก็จะมีมาจากคำสิ่งแวดล้อมบางอย่าง ปรากฏการณ์บางอย่างในแต่ละคำ พอถึงช่วงเวลาหนึ่งมันอาจจะเลือนหายไป

มันเป็นเรื่องธรรมดา มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและก็ประสบการณ์ชีวิตในช่วงหนึ่ง ก็อย่างที่ผมบอกว่า ภาษาในเรื่องพวกนี้มันคือการใส่รหัสและถอดรหัส ถ้าผู้ส่งสารกับผู้รับสารรับรู้กันได้โอเคจบ

เพียงแต่ว่าผู้ส่งสารในวัยพวกคุณส่งเข้ามา แล้วผู้รับสารอย่างรุ่นพวกผมเข้าไปอ่าน พวกผมไม่เข้าใจ แต่พอถามก็เลยตื่นเต้น”


ข่าว : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น