xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

น้ำท่วม อ่างแตก แล้งน่าห่วง วิบัติซ้ำซาก อัดงบกว่า 2 แสนล้านในรอบ 5 ปี ดีขึ้นไหม?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ขณะที่ประชาชนกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศต้องระทมทุกข์เผชิญอุทกภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำหลาก น้ำล้นฝั่ง ดินสไลด์จากมรสุมส่งท้ายปลายฝน รัฐบาลกลับยังสาละวนวุ่นรับมือม็อบเยาวชนกลางเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ที่ลามไม่หยุด นี่ยังไม่นับว่าหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง กรมชลฯ ห่วงเขื่อนขนาดใหญ่และกลางมีน้ำลดลงจากปีก่อน 11% เป็นวิบัติที่รออยู่เบื้องหน้า 

ย่างเข้าสู่เดือนตุลาฯ ดวงเมืองคล้ายตกอยู่ในสภาพกลียุค ข้าวยากหมากแพง ทั้งน้ำท่วม ทั้งหวั่นแล้ง เป็นวิบัติซ้ำกรรมซัด โถมทับกับปัญหาเศรษฐกิจที่อ่วมอรทัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายชีวิตตกงานต้องจากเมืองหวนคืนถิ่นหากินตามยถากรรมกลับมาเจอภัยพิบัติซ้ำแบบตั้งตัวไม่ติด อุทกภัยซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ประชาชนเดือดร้อนหลายล้านคน แต่ปัญหาถูกกลบจากกระแสม็อบที่สั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลและดูทรงแล้วน่าจะทุ่มสรรพกำลังมาใส่ใจในปัญหาการเมืองมากกว่า แม้ว่า “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านที่ประสบภัยให้เห็นก็ตาม

อันที่จริงหากสภาพอากาศไม่วิปริตแปรปรวนถึงโมงยามนี้ท้องฟ้าคงเริ่มใส สายลมหนาวเริ่มมาเยือน แต่ระยะหลังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ถึงเดือนตุลาฯแล้วกลับมีมรสุมซัดกระหน่ำ ผิดกับช่วงต้นและกลางฤดูฝนที่มีสภาพคล้ายฝนพรำเท่านั้น ที่น่าแปลกใจเขตภูเขาอย่างอำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ปีนี้มีน้ำท่วมหลากหมู่บ้านหรู ตัวเมืองโคราชกลายเป็นทะเล ซึ่งเป็นผลจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ขณะที่อ่างเก็บน้ำหินตะโง่ บ้านลำประโคนเหนือ ตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย ทรุดตัวและแตก เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมเอ่อล้นหลายอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา


 กล่าวจำเพาะเมืองโคราช กลายเป็นพื้นที่รับน้ำและท่วมหนักมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการขยายตัวของเมือง ลำรางคลองระบายน้ำถูกรุกล้ำ สร้างบ้านแปงเมืองกั้นขวางทางน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน การบริหารจัดการไม่ดี ฯลฯ จากสถิติเดิมประมาณ 12 ปี น้ำจะท่วมโคราชสักครั้งและถี่ขึ้นในช่วงหลัง หนักสุดคือช่วงปี 2553 ที่ห่างครั้งก่อนหน้าเพียง 3 ปี และถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี 

 มารอบนี้โคราชเผชิญน้ำท่วมหนักอีกครั้ง นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขาธิการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ลงพื้นที่ดูสถานการณ์และประชุมร่วมบริหารจัดการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปหลักๆ คือ เตรียมรับมือกับปริมาณน้ำที่เกินความจุเก็บกักและเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุดของเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนมูลบน และจัดการจราจรทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว รวมทั้งผันน้ำไปบึงพุดซาไว้ใช้ในหน้าแล้งเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา 

เลขาธิการ กอนช. ย้ำว่า เขื่อนลำตะคองและลำพระเพลิง อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เขื่อนลำตะคอง ยังรองรับน้ำได้อีกกว่า 43 ล้านลูกบาศก์เมตร จะยังไม่มีการระบายน้ำออกท้ายเขื่อน ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งคลองระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มบางจุด และแม้ว่าจังหวัดนครราชสีมา จะประสบอุทกภัย แต่ยังมีบางอำเภอ ได้แก่ อำเภอคง, อำเภอแก้งสนามนาง และ อำเภอชุมพวง ซึ่งมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยเสี่ยงขาดแคลนน้ำใช้ในฤดูแล้ง นับเป็นภาพตัดสลับในจังหวัดนครราชสีมา ที่เจอภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและเสี่ยงแล้งรออยู่

ตามแผนการเร่งผันน้ำที่เอ่อท่วมโคราชลงน้ำโขงนั้น  นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ให้รายละเอียดว่า สำนักชลประทานที่ 6 ได้จัดการจราจรน้ำชีและน้ำมูลโดยหน่วงมวลน้ำในแม่น้ำชี ด้วยการเร่งบริหารจัดการน้ำเข้ามาเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำชี โดยใช้อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งเป็นที่กักเก็บน้ำให้มากที่สุด เพื่อให้เปิดทางน้ำที่ท่วมขังในหลายอำเภอของโคราชไหลลงแม่น้ำมูลและลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวก

ขณะนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาวและเขื่อนจุฬาภรณ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 2,262 ล้าน ลบ.ม.(49%) ยังมีช่องว่างรับน้ำรวมกันได้มากกว่า 2,300 ล้าน ลบ.ม.จากปริมาณความจุรวม 4,575 ล้าน ลบ.ม.


 ทั้งนี้ เมื่อประมวลสถานการณ์น้ำท่วมโคราชและข้อมูลจากเทคโนโลยีดาวเทียมของ GISTDA อาจสรุปว่า ปัญหาคือเขื่อนใหญ่ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่มีปริมาณน้ำ 60-70% แล้วไม่ได้ทยอยปล่อยน้ำแต่มาปล่อยเมื่อน้ำใกล้เต็มความจุแล้ว การแก้ไขปัญหาต้องเน้นบูรณาการจัดการน้ำแบบมีเส้นเลือดฝอยหรือแหล่งน้ำสาขามากขึ้น จะแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ด้วยเพราะมีที่เก็บน้ำเพิ่มขึ้น เมื่อถึงช่วงน้ำหลากก็มีที่รองรับน้ำมากขึ้น 

ไม่แต่โคราชเท่านั้น ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้หลายจังหวัดมีน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนประชาชน เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี ฯลฯ ตามรายงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา จังหวัดสระแก้ว ท่วมหนักสุดในรอบ 9 ปี โรงพยาบาลอรัญประเทศ ต้องเร่งระบายน้ำ สร้างแนวป้องกันชุลมุน เช่นเดียวกับอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา ในเขตเทศบาลน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกงทำให้เอ่อท่วมบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำ

ตามรายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 โดยฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ระบุรายละเอียดว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมทั้งหมด 46,018 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60% โดยมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนหน้า 2562 ประมาณ 4,980 ล้าน ลบ.ม. ที่มีอยู่ราว 50,998 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% ของความจุอ่าง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 22,088 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 371.88 ล้าน ลบ.ม. ด้านปริมาณน้ำระบายอยู่ที่ 132.81 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีก 30,092 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำทั้งหมด 42,086 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% น้อยกว่าปี 2562 ราว 5,647 ล้าน ลบ.ม. โดยปีนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ราว 18,543 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 39% ของความจุอ่าง สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% ขึ้นไปของความจุอ่าง มีทั้งหมด 7 อ่าง คือ หนองปลาไหล จ.ระยอง, ลำตะคอง จ.นครราชสีมา, ลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา, ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก, จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, มูลบน จ.นครราชสีมา, สิรินธร จ.อุบลราชธานี


 ข้อมูลของกรมชลประทานนั้นบอกได้เลยว่าน่าห่วงสำหรับหน้าแล้งที่กำลังมาเยือน โดยก่อนหน้านี้ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำในภาพรวมเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2563/2564 (1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2564) อยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก ภาพรวมปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในวันที่ 20 ต.ค.2563 อยู่ที่ 21,474 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าปี 2562 ถึง 5,611 ล้าน ลบ.ม.หรือ 11% ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในฤดูแล้งนี้ไทยจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมที่ 18,138 ล้าน ลบ.ม. หรือปริมาณ 38% ของความจุอ่างเท่านั้น 

ถึงตอนนี้ โอกาสลุ้นฝนตกเหนือเขื่อนใหญ่และขนาดกลางในภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาว และทิศตะวันตก ปีนี้มีฝนน้อย ส่วนเส้นทางของฝนกำลังเบี่ยงลงทิศใต้
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย กรมชลฯ รายงานว่า ปัจจุบันประสบทั้งหมด 17 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง

ขณะเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 –20 ตุลาคม 2563 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 30 จังหวัด รวม 105 อำเภอ 366 ตำบล 1,451 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 45,244 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา อนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 1.18 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัด ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ


 ขณะเดียวกัน หากย้อนดูงบประมาณแก้น้ำท่วมและภัยแล้ง ภายหลังจากการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการน้ำทั้งระบบภายใต้ “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)” ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน มาตั้งแต่ปี 2558 ได้มีการทุ่มเทงบประมาณบริหารจัดการน้ำกว่า 2 แสนล้าน ตามข้อมูลสำนักงบประมาณ เผยแพร่ คือ งบประมาณปี 2559 จำนวน 52,630 ล้านบาท, ปี 2560 จำนวน 54,200 ล้านบาท, ปี 2561 จำนวน 60,355 ล้านบาท, ปี 2562 จำนวน 62,831 ล้านบาท และปี 2563 ที่ตั้งเสนอของบฯ 59,431 ล้านบาท ส่วนแผนบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ปี 2564 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกอบด้วยแผนงานจาก 21 หน่วยงาน ใน 10 กระทรวง 16,035 โครงการ คาดว่าจะใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท 


 กล่าวได้ว่า บูรณาการหน่วยงานบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จ ทุ่มเทงบประมาณลงไปไม่น้อยในแต่ละปี แต่ประชาชนยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ไม่ว่างเว้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น