xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” สั่ง กอนช.เฝ้าระวังน้ำหลากภาคใต้ จ่อชง ครม.9 มาตรการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กป้อม” กำชับ “กอนช.” ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากพื้นที่ภาคใต้ช่วงฤดูฝน พร้อมเตรียม 9 มาตรการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ชงเข้า ครม.

วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูฝนที่ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุและร่องความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังสั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมมาตรการรับมือน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมอย่างใกล้ชิด และก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าฤดูแล้ง ได้แก่ 1. เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนสิ้นฤดูฝน 2. จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3. ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในรูปแบบที่ชัดเจน พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง วางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ 7. ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8. ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด และ 9. สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด

“ปริมาณน้ำต้นทุนในภาพรวมปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณมากกว่าเล็กน้อย ดังนั้นจึงต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อน 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงสามารถจัดสรรน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น ส่วนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำอื่นๆนั้น ให้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ในพื้นที่วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในแล้งนี้ต้องไม่มีปัญหา” รองนายกฯ กล่าว

ขณะที่ ดร.สมเกียรติเปิดเผยว่า ที่ประชุมยังรับทราบคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งในเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งมีพื้นที่สาขาที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 41 สาขา ในพื้นที่ 28 จังหวัด และพื้นที่การให้บริการของประปาท้องถิ่นที่อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีจำนวน 50 จังหวัด 334 อำเภอ 966 ตำบล ขณะที่ด้านการเกษตร มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อตำบล และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำปานกลาง ตั้งแต่ 1-5 ล้าน ลบ.ม.ต่อตำบล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำของเค็มที่อาจส่งผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล (กปน.) แม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสถานีปากคลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบ้านสร้าง

“เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าได้ตามแผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์ให้ภาคส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า สทนช.จะเสนอแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และ 9 มาตรการหลักป้องกันและแก้ไขปัญหาฤดูแล้งที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครั้งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้” ดร.สมเกียรติกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น