“กรมชลประทาน” ศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล พบแนวส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำยวมเหมาะสมที่สุด แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้คนกรุงเและประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
วันนี้ (14 ก.ย.) นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยที่ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2495 อยู่คู่กับคนไทยมา 60 กว่าปี ไม่เคยเต็มอีกเลย ทั้งที่ภาคประชาชน อุตสาหกรรม การเกษตร และภาคบริการมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขามีความต้องการใช้น้ำประมาณ 18,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 21,100 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า
“การผันน้ำเข้าในเขื่อนภูมิพลได้มีการศึกษา วิจัย สำรวจมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการสร้างเขื่อนภูมิพลนั้น มีเป้าหมายเพื่อนำน้ำมาใช้ในพื้นที่ภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำต่างๆ แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ทำให้น้ำในเขื่อนภูมิพลไม่เคยเต็ม ทั้งที่ตัวเขื่อนสามารถเก็บกักน้ำได้มากถึง 13,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำเพียงไม่เกิน 70% เกิดพื้นที่ว่างในเขื่อนจำนวนมาก” นายสุรชาติกล่าว
นายสุรชาติกล่าวอีกว่า กรมชลประทานจึงได้มีการจัดทำแผนและโครงการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยมีการคัดเลือกแนวส่งน้ำที่เหมาะสมสูงสุด โดยเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การในอ่างประมาณ 9,000 กว่าล้าน ลบ.ม. แต่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุเนื่องจากปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยปีละ 5,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ทำให้มีพื้นที่เก็บกักน้ำว่างจำนวนมาก โครงการดังกล่าวจึงเป็นการคัดเลือกแนวส่งน้ำเพื่อศึกษาความเหมาะสมซึ่งได้มีการศึกษาแนวส่งน้ำที่มีศักยภาพ 22 แนว แต่คัดเลือกแนวส่งน้ำ 18 แนว ใน 3 กลุ่มลุ่มน้ำ ได้แก่ กลุ่มลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำยวม ลุ่มน้ำเงา, กลุ่มลุ่มน้ำเมยและสาขา และกลุ่มลุ่มน้ำปาย มาใช้เพื่อการเกษตร บริโภค การประมง การท่องเที่ยว การรักษาระดับน้ำ และเพิ่มปริมาณการจัดการระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางน้ำให้เกิดขึ้น
นายสุรชาติกล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้มีการคัดเลือกมา 9 แนว แต่แนวส่งน้ำที่เหมาะสมสูงสุด ได้แก่ แนวส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย มีปริมาณน้ำผันเฉลี่ยปีละ 1,795 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำยวม ความจุอ่างเก็บน้ำ 68.74 ล้าน ลบ.ม. กั้นแม่น้ำยวมที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่สถานีสูบน้ำสบเงาเข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำขนาด 8.3 ม. ในอัตราการผันน้ำ 152.8 ลบ.ม.ต่อวินาที ยาวรวม 61.79 กม. มาลงฝั่งทางออกอุโมงค์ที่ห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะไหลลงเขื่อนภูมิพลบริเวณทะเลสาบดอยเต่า จ.เชียงใหม่ มีราคาค่าก่อสร้างโครงการ 71,000 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าสูบน้ำเฉลี่ยปีละ 2,642.18 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการเกษตรในฤดูแล้งเฉลี่ยปีละ 1.28 ล้านไร่ ได้ปริมาณน้ำเพื่อการประปาเฉลี่ย 626 ล้าน ลบ.ม. และได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 417 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประโยชน์ของโครงการเฉลี่ยปีละ 10,070.31 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.44% และมีต้นทุนน้ำ 4.68 บาทต่อ ลบ.ม.จะมีการผันน้ำในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงมกราคม จะมีการวิเคราะห์ปริมาณน้ำผันใช้ปริมาณน้ำท่ารายวัน ช่วงผันน้ำ ปริมาณน้ำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศวิทยาด้านท้ายน้ำต้องไม่น้อยกว่าปริมาณปริมาณน้ำท่ารายวันต่ำสุดที่เกิดขึ้นเท่ากับ 5.88 ลบ.ม.ต่อวินาที และปริมาณน้ำที่มากเกิน อัตราผันน้ำสูงสุดระบายลงท้ายน้ำผ่านอาคารระบายท้ายน้ำและอาคารระบายน้ำล้น ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมในฤดูแล้วมีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเท่ากับปริมาณน้ำตามสภาพธรรมชาติในแม่น้ำยวม เป็นต้น
“ตอนนี้ได้มีการศึกษาผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมและสังคมเสร็จหมดแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพราะการดำเนินการโครงการ จะทำให้สามารถเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลได้มาก และมีประโยชน์มากมาย ทั้งพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 1.61 ล้านไร่ ได้ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้าน ลบ.ม./ปี และได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 417 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประโยชน์ของโครงการเฉลี่ยปีละ 13,262 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.19% และมีต้นทุนน้ำ 5.53 บาท/ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มในปี 2566 ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็จะทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำแก่คนกรุงเทพฯ และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้” นายสุรชาติกล่าว