พิษณุโลก - รองอธิบดี ชป.ยันยังไม่ผันน้ำเหนือจากแพร่-สุโขทัยเข้าบางระกำโมเดล ระบุต้องปิดทุ่งรอพายุลูกใหม่ก่อน พร้อมเร่งดันมวลน้ำป่าลงเขื่อนเจ้าพระยา ผันช่วยชาวนาภาคกลาง 3.54 ล้านไร่ทำนาปีก่อนภายใน 5-6 วันข้างหน้านี้
วันนี้ (26 ส.ค. 63) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หลังน้ำเหนือจากสุโขทัยหลากมาจนถึงพิษณุโลกผ่านแม่น้ำยมสายเก่า ส่งผลให้น้ำมีปริมาณมาก ทางกรมชลประทานเฝ้าระวังและจับตาจะล้นตลิ่งหรือไม่
รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำมาตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัยจนมาถึงบางระกำ หลังมีฝนตกภาคเหนือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมากลายเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลจากแพร่ลงมาที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ตรงนี้มีจุดวัดน้ำที่ Y.14 ที่จะเป็นตัวที่คอยบ่งชี้-บริหารจัดการน้ำของตัวแม่น้ำยมก่อนที่จะเข้าตัวสุโขทัย ซึ่งพบว่าปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560-2562 โดยวัดได้ถึง 1,499 ลบ.ม./วินาที มากกว่าปี 60 เกือบ 400 ล้าน ลบ.ม. แต่กรมชลประทานได้ใช้ประตูหาดสะพานจันทร์เป็นด่านหน้า บริหารจัดการแบ่งปันน้ำ คอยหน่วง-คอยฉุดไม่ให้น้ำเข้าเมือง
โดยการแบ่งน้ำเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำยมจะไปทางคลองหกบาท หรือประตูหกบาท รวม 350 ล้าน ลบ.ม. จากคลองหกบาทจะผันไปคลองยม-น่าน ก็มีการจัดการจราจรทางน้ำ โดยลดการระบายจนถึงปิดการระบายน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้น้ำไหลไปที่แม่น้ำน่านประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม./วินาที จาก 350 หายไป 100 จะมีเส้นตรงลงที่คลองยมน่าน (สายเก่า) หรือจุดประตูบางแก้ว 240-250 ล้าน ลบ.ม./วินาที แล้วแยกไปคลองย่อยลงแม่น้ำน่านอีก ปัจจุบันวัดระดับน้ำตรงนี้ได้ประมาณ 109 ล้าน ลบ.ม./วินาที ก็แสดงว่าลงอีกสาขาหนึ่งไปแม่น้ำน่าน
ส่วนทางฝั่งขวาของทางแม่น้ำยมที่ประตูหาดสะพานจันทร์ ก็จะไปที่ประตูน้ำโจน ประมาณ 10-30 ล้าน ลบ.ม./วินาที ไหลไปที่แก้มลิงทะเลหลวง ขณะที่มวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัยเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลกมีปริมาณกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. และแยกไปตามคูคลองน้ำต่างๆ กว่า 150 ล้าน ลบ.ม.
และที่ประตูหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก ก่อนที่จะถึงเมืองพิษณุโลก จะปล่อยน้ำราว 800 ล้าน ลบ.ม./วินาที แล้วผันออกคลองซ้าย-ขวา คลองเล็กคลองน้อย ออกไปประมาณ 170 ล้าน ลบ.ม./วินาที จะบังคับไม่ให้เกิน 550 ล้าน ลบ.ม./วินาที ที่ Y.4 หน้าจวนผู้ว่าฯ สุโขทัย ตั้งแต่ 23 ส.ค. ที่ได้ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการจัดตั้งชุดมวลชนสัมพันธ์ ประกอบด้วยหน่วยปกครองท้องที่ ทหาร ตำรวจ ชลประทาน เพื่อลงพื้นที่สร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำยมทั้งสายใหม่และสายเก่า เพื่ออธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจและดูแลประตูระบายน้ำต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดีในทุกที่
และเมื่อน้ำจากที่ Y.4 หน้าจวนผู้ว่าฯ สุโขทัยลงมาถึงบางระกำ ก็จะลำเลียงผ่านมาคลองยม-น่าน แม่น้ำยม คลองต่างๆ มาเจอกันที่จุดวัดน้ำ N.67 ที่แม่น้ำยมบรรจบกับแม่น้ำน่านบริเวณวัดเกยชัยเหนือ ซึ่งตรงนี้น้ำเริ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่งมาก จากตรงนี้ไม่เกิน 2-3 วันมวลน้ำจะไปอยู่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา
ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยาจะอัดน้ำไว้ไม่ทิ้งลงทะเลเพื่อผันน้ำออกไปสองฟากฝั่ง ฝั่งซ้ายคือ คลองชัยนาทป่าสัก ลงคลองรพีพัฒน์ แยกใต้ แยกตก ไปที่คลอง 13 จนถึงพระองค์ชลทิศออกไปฉะเชิงเทรา เพื่อให้น้ำพี่น้องประชาชนได้ทำนา เพราะในทุ่งเจ้าพระยาตอนนี้ยังไม่ได้ทำนากันมากถึง 3.54 ล้านไร่ จึงจะจัดสรรน้ำราว 400-500 ล้าน ลบ.ม.ไปช่วยทำนาปี
ส่วนฝั่งขวามือจะแบ่งน้ำไปที่แม่น้ำน้อย ท่าจีน คลองมะขามเฒ่าอู่ทอง ลำเลียงไป ซึ่งตอนนี้น้ำเริ่มขึ้นแล้ว ติดตามที่เขื่อนเจ้าพระยา ตอนนี้ระดับน้ำ +14.4 ซึ่งสูงขึ้นกว่าเมื่อวานประมาณ 60-70 เซนติเมตร จึงเป็นการบริหารจัดการน้ำตอนนี้ คาดว่าน้ำจากจังหวัดสุโขทัยจะถึงลุ่มเจ้าพระยาภายใน 5-6 วันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมปีนี้ไม่มีการดันมวลน้ำเข้าทุ่งบางระกำ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ตอนนี้จากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยายังมีร่องความกดอากาศที่ค้างอยู่ ประเมินแล้วคาดว่าจะหมดฤดูฝนช่วงกลางเดือนตุลาคม จึงเปิดทุ่งไว้เผื่อรับน้ำเหนือหลากลงมาอีก อย่างไรก็ตาม ทุ่งบางระกำต้องมีน้ำแน่นอน
และที่สำคัญยังมีการเตรียมรับน้ำหลากไว้ที่บึงบอระเพ็ดด้วย ถ้าน้ำหลากมาประชาชนไม่ต้องตกใจ เพราะบึงบอระเพ็ดสามารถเก็บน้ำไว้ได้ 180 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำเพียง 6-7 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ยังสามารถจะผันน้ำเข้าได้อีก หากปริมาณน้ำถึง 800 คิวก็จะดันเข้าบึงบอระเพ็ดกลายเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่
“บางระกำก็ต้องมีน้ำเข้า แต่ตอนนี้ขอชะลอให้เข้าตามธรรมชาติก่อน เพราะยังมีพายุอีกหลายลูกที่จะเข้ามาตามธรรมชาติของฝน แต่ยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่อย่างไร จึงไม่ไว้วางใจ ส่วนที่พิจิตรไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ตอนนี้เราเฝ้าระวังเรื่องฝนตกอย่างเดียว หากมีฝนต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทางทุ่งเจ้าพระยาก็ไม่ต้องกังวลไม่กระทบเช่นกัน และทางชลประทานมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการน้ำได้แน่นอน แต่การบริหารจัดการต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนด้วย”
สำหรับพื้นที่ภัยแล้งต้องย้อนกลับไปปี 2562 ที่มีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติถึงกว่า 10% ทำให้น้ำเขื่อนเก็บกักในลุ่มเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย ป่าสักฯ มีปริมาณน้ำน้อย จึงต้องบริหารจัดการการใช้น้ำช่วงฤดูฝน คือ 1. ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนาปี ให้เกษตรกรชะลอการทำนา 2. การบริหารจัดการน้ำท่า คือน้ำที่อยู่ในลำน้ำใช้ฝาย ประตู อัดขึ้นซ้ายขวา ตลอดจนป้องกันเรื่องอุทกภัยด้วย สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดการให้มีน้ำในการอุปโภค บริโภค กักเก็บน้ำให้มากที่สุดในเขื่อน ในตุ่ม เพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2563/2564