xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานที่ 12 เผยน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีเหลือใช้ 20 กว่าวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัยนาท - ชลประทานที่ 12 เผยน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีเหลือใช้ 20 กว่าวัน แต่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค ยังไม่มีน้ำให้เพาะปลูก แนะเกษตรกรใช้น้ำฝนเพาะปลูกเป็นหลัก

วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ต่อเนื่องมายังฝนทิ้งช่วงในฤดูฝน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และหลายพื้นที่ยังคงประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำนา

จากสถานการณ์ดังกล่าว นายพงษ์ศักดิ์ อัครมณี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การเหลือรวมกันอยู่ปริมาณ 750 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยระบายน้ำวันละประมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว จะทำให้น้ำใช้การมีเหลือใช้ได้อีกประมาณ 20 กว่าวัน ดังนั้น กรมชลประทานจึงยังต้องส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เหมือนกับในช่วงฤดูแล้ง เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีไม่เพียงพอ จึงยังไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำเก็บกักเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ 13.95 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนในปริมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีการส่งน้ำเข้าแม่น้ำและคลองสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ในฝั่งตะวันตก และคลองชัยนาท-ปาสัก คลองชัยนาท-อยุธยา ในฝั่งตะวันออก เพื่อนำไปผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ยังไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ ต้องรอให้ระดับน้ำเก็บกักเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ +15.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) จึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำส่งเข้าระบบชลประทาน และส่งไปตามคลองส่งน้ำและคลองซอยต่างๆ เพื่อไปช่วยสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกร เสริมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก และลงมือปลูกในช่วงที่ฝนตกสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะเกิดฝนตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากฝนตกเหนือเขื่อนก็จะเป็นผลดี เพราะจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเก็บสำรองไว้ใช้งานได้ แต่หากฝนตกท้ายเขื่อน น้ำจะไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานก็จะใช้เขื่อนเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำท่าให้อย่างเต็มประสิทธิภาพ










กำลังโหลดความคิดเห็น