กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เป็นประจำทุกปีที่เราจะได้ยินข่าวน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ซึ่งเป็นผลมาจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและอีสานตอนบน แต่ที่หลายฝ่ายจับตามองมากที่สุด คือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน
โดยเฉพาะ จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมกว่า 1,400 ลูกบาศก์เมตร ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมือง มีทั้งพนังกั้นน้ำแตก น้ำเข้าท่วม และซากกิ่งไม้จำนวนมากลอยติดกับประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก
ทราบมาว่าตอนนี้กรมชลประทานกำลังบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมหลายทาง ทั้งการผันน้ำออกแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง ออกทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก แม้กระทั่งผันน้ำไปยังแม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำน่านที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
ที่น่าจับตามองก็คือ “ทุ่งบางระกำ” ที่เคยใช้เป็นโมเดลบริหารจัดการน้ำท่วม มีพื้นที่ 256,000 ไร่ รองรับน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าภายใน 2-3 วันนี้ ไม่มีฝนตกหนัก สถานการณ์น้ำท่วมก็จะช่วยผ่อนคลายลงไปบ้าง
กล่าวถึงต้นกำเนิดของ แม่น้ำเจ้าพระยา ในตำราเรามักจะได้ยินแค่ว่า เกิดจากการบรรจบกันของแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ก่อนจะมี แม่น้ำสะแกกรัง มาสมทบ หลังจากนั้นเข้าสู่ เขื่อนเจ้าพระยา
ระหว่างนั้น จะมีการผันน้ำลงสู่ แม่น้ำมะขามเฒ่า มีชื่อเรียกตามทำเลว่า แม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีน ไหลลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในความเป็นจริงยังมี คลองชัยนาท-ป่าสัก ผันน้ำไปทางจังหวัดลพบุรีอีก
ย้อนกลับขึ้นไปถึงต้นกำเนิดแม่น้ำ 4 สาย จริงๆ แล้วไม่ได้รวมกันเป็น 4 สายทีเดียว แต่เริ่มต้นบรรจบกันเป็นสองสาย คือ แม่น้ำปิง จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ไหลรวมกับ แม่น้ำวัง จากจังหวัดเชียงราย ลำปาง ที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
ส่วน แม่น้ำยม จากจังหวัดพะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ไหลรวมกับ แม่น้ำน่าน จากจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นจะไหลรวมกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อถึงปากน้ำโพ บริเวณศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แม่น้ำทั้งสองสายจะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ แม่น้ำปิงจะมีสีค่อนข้างไปทางเขียว ส่วนแม่น้ำน่านจะมีสีค่อนข้างไปทางแดง
ปัจจุบันได้มีการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ คือ “พาสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดลงมาจะเป็น “เกาะญวณ” ที่นำน้ำทิ้งผ่านการบำบัด เนรมิตให้กลายเป็นจุดเช็กอินถ่ายรูป เทียบเท่า “คลองชองกเยชอน” ประเทศเกาหลีใต้
แม่น้ำทั้ง 4 สาย มีเขื่อนกักเก็บน้ำอยู่ 3 สาย คือ แม่น้ำปิง มี เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก แม่น้ำวัง มี เขื่อนกิ่วลม ที่ อ.เมืองลำปาง และ เขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ส่วนแม่น้ำน่าน มี เขื่อนสิริกิติ์ ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
ยังเหลือแม่น้ำยม เดิมกรมชลประทาน มีแผนจะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มาตั้งแต่ปี 2528 แต่ถึงปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากเอ็นจีโอและชาวบ้านในพื้นที่
แม้จะมีการเสนอบริหารจัดการน้ำที่เรียกว่า “สะเอียบโมเดล” โดยเน้นพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแทน แต่กรมชลประทานหันมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำงาว อ.งาว จ.ลำปาง เขื่อนกั้นน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา และเขื่อนเตาปูน อ.สอง จ.แพร่
ปัจจุบัน สภาพแม่น้ำยม หากเป็นช่วงฤดูแล้งก็จะแล้งสุดขีด เมื่อมาถึงช่วงฤดูฝน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ชาวบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เช่น แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
ส่วนแม่น้ำน่าน มีคำกล่าวเอาไว้ว่า “มวลน้ำ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา มาจากป่าน่าน” เป็นคำกล่าวของ นายบัณฑูร ล่ำซำ อดีตประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย และเป็นผู้สนับสนุนโครงการรักษ์ป่าน่าน เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี 2557
โดยตัวเลข 40% มาจากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากต้นน้ำทั้งสี่ของประเทศไทยในขณะนั้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความสำคัญของแหล่งน้ำทั้งสี่ ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย เพราะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำทั้งสี่ที่ไหลรวมกัน อุปโภค บริโภค ทำการเกษตร และรักษาระบบนิเวศน์จากน้ำทะเลหนุน
กลับมาที่สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ ปัญหาก็คือ เขื่อนภูมิพลมีน้ำกักเก็บน้อยมาก ประมาณ 32% ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีประมาณ 50% ของความจุอ่าง และไม่มีการปล่อยน้ำลงมาท้ายเขื่อน
สาเหตุเพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ดันเกิดขึ้นบริเวณท้ายเขื่อน โดยเฉพาะคลองสิงห์ อ.ท่าปลา ซึ่งไหลมาจากภูเขา ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ห่างจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 40 กิโลเมตรเท่านั้น
(กฟผ.เชื่อนสิริกิติ์ จ.อุดรดิตถ์ อธิบายว่า เขื่อนฯ งดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา แต่พื้นที่น้ำท่วมจะอยู่ท้ายเขื่อน ได้แก่ ต.ร่วมจิต ต.ท่าปลา ต.จริม ต.หาดล้า เเละ ต.น้ำหมัน เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกในปริมาณกว่า 200 มิลลิเมตร
รวมทั้งมีฝนตกที่ อ.บ้านโคก อ.ฟากท่า ซึ่งน้ำจะไหลลงมาในแม่น้ำปาด และบรรจบกับแม่น้ำน่าน ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ น้ำจาก ต.นานกกก อ.ลับแล จะไหลลงคลองน้ำริด และไหลลงแม่น้ำน่าน ท้ายเขื่อนสิริกิติ์เช่นกัน)
จากนั้น แม่น้ำน่านจะต้องเจอกับคลองผันน้ำยม-น่าน ที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งผันน้ำมาจากจังหวัดสุโขทัย ตามมาด้วยแม่น้ำแควน้อย ที่บ้านปากโทก อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก ซึ่งเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนปล่อยน้ำวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร
มีการคาดการณ์ว่า นับจากนี้มวลน้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านจะไหลลงมายังจังหวัดพิจิตร คาดว่าจะถึงจังหวัดนครสวรรค์ในช่วงวันที่ 28-29 สิงหาคม 2563 ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในขณะที่ระบบชลประทานลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก สามารถรับปริมาณน้ำได้ถึง 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี หากไม่มีฝนตกลงมาอย่างหนักขึ้นมาอีก
เมื่อแม่น้ำยม เป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ จาก รายงานพิเศษในเว็บไซต์ MGR Online ระบุว่า น้ำท่วมสุโขทัยรอบนี้ มาจากฝนตกหนักที่ อ.เมืองฯ จ.แพร่ ประมาณ 200-300 มิลลิเมตร ติดต่อกัน 2-3 วัน
ทำให้เห็นว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะจุดที่จะสร้างเขื่อน คือ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อยู่เหนือขึ้นไปจาก อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเป็นจุดที่ฝนตกหนักอีกไกล ถ้าวันนี้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น อาจเป็น “ตลกร้าย” ที่ขำไม่ออกก็ได้
ผู้เขียนไม่ได้จบด้านวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าจะบอกว่าการสร้างเขื่อนไม่ใช่สูตรสำเร็จของการแก้ปัญหา ก็ไม่อยากจะเจอทัวร์ลง ได้แต่บอกว่า ต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น ปัญหาน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน อาจจะเกิดขึ้นไม่มีวันจบสิ้น
ขออย่างเดียวว่า อย่าให้ถึงขั้นคนกรุงเทพฯ ต้องขนของหนีเหมือนปี 54 ก็แล้วกัน.