ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ ชี้กรณีน้ำท่วมสุโขทัยปี 2563 หน่วยงานสามารถรู้ล่วงหน้า 5 วัน จากฝนตกหนักที่แพร่ ชี้กรณีคันกั้นน้ำแตกช่วยเซฟตัวเมืองเอาไว้ ไม่เช่นนั้นน้ำก็ล้นพนังท่วมตัวเมืองอยู่ดี แนะคราวหน้าควรเตรียมการป้องกันภัยพิบัติก่อน แต่พบอุปสรรคท้องถิ่นกลัว สตง. ตรวจสอบ
รายงานพิเศษ
“สุโขทัยมีเวลาเตรียมการอย่างน้อย 7 วัน”
นั่นเป็นคำกล่าวของ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่ทำงานเกี่ยวกับการพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำในหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่า หน่วยงานรัฐมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับฝนและน้ำที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดแพร่ และแน่นอน มวลน้ำจากจังหวัดแพร่ จะลงมาที่จังหวัดสุโขทัย ตามเส้นทางที่ควรจะเป็น
ภาพพนังกั้นน้ำยม สูงกว่า 2 เมตร ซึ่งมีความสูงมากขึ้นทุกปี กลายเป็นภาพชินตาที่ประชาชนจะได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ ทุกๆ ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เช่นเดียวกับภาพกองสวะจำนวนมาก ที่จะต้องถูกพัดพามาขวางทางระบายน้ำ ที่หน้าประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
นั่นหมายความว่า น้ำท่วมที่สุโขทัย จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี ด้วยลักษณะเดียวกัน เราเห็นการรายงานข่าวจากพื้นที่เดิม เนื้อหาข่าวใกล้เคียงกับปีก่อนๆ จนเกิดคำถามว่า นอกจากความสูงที่เพิ่มขึ้นทุกปีของกำแพงยักษ์กลางเมือง และการทำใหม่เพิ่ม ไม่มีวิธีการอื่นอีกแล้วหรือ ในการป้องกันเมืองสุโขทัยจากน้ำท่วม
ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ บอกว่า หน่วยงานทั้งหมดสามารถรู้ล่วงหน้า 5 วัน ว่าจะมีฝนตกหนักที่จังหวัดแพร่ แต่จะไม่นับการพยากรณ์ล่วงหน้าตรงนั้นก็ได้ เพราะเมื่อมีฝนตกหนักที่จังหวัดแพร่ ในขนาด 200-300 มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน จากปริมาณน้ำฝน ยังใช้เวลาอีก 1-2 วัน กลายเป็นมวลน้ำ ก็สามารถรู้ได้ว่ามีมวลน้ำขนาดไหน
และยังใช้เวลาอีกประมาณ 2 วัน มวลน้ำจึงจะมาถึงที่สุโขทัย หมายความว่า จังหวัดสุโขทัย มีเวลา 5-7 วัน ในการเตรียมตัวรับมือกับมวลน้ำ ที่กำลังสร้างความเสียหายในพื้นที่อยู่ในขณะนี้
“หน่วยงานส่วนกลางทั้งหมดรับทราบข้อมูลนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าการสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ใช้วิธีการอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
และถ้าจะยอมรับกันตรงๆ แล้ว เหตุการณ์คันกั้นน้ำแตก กว้างนับ 10 เมตร ที่บริเวณตำบลปากแคว เหนือตัวเมืองสุโขทัย เมื่อวานนี้ (24 ส.ค. 2563) ได้ช่วย "เซฟเมืองสุโขทัย" ไว้ได้อย่างหวุดหวิด เพราะการแตกของมัน ทำให้มวลน้ำปริมาณมากกระจายออกไป ก่อนจะเข้าไปโจมตีพื้นที่ใจกลางเมือง
ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อน กลับไม่มีความวุ่นวายเหมือนที่จังหวัดสุโขทัย
เมื่อตรวจสอบไปก็จะพบว่า ที่จังหวัดแพร่ ได้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำขึ้น โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นหัวหอก และประสานข้อมูลพื้นที่ จุดเสี่ยง จุดล่อแหลม กับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่างๆ และชุมชน เพื่อนำเครื่องมือและเครื่องจักรลงไปเตรียมการและทำงานบางอย่างล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลน้ำรายนี้ บอกว่า "พนังกั้นน้ำที่สุโขทัย" น่าจะไม่ได้ช่วยทำให้ชาวสุโขทัยเชื่อว่าพวกเขาจะรอดพ้นจากน้ำท่วมได้ เพราะในทุกๆ ปี หากไม่ถูกเจาะจนแตก ก็มีน้ำล้นเหนือความสูงของพนังเข้ามาได้
ทั้งหมดนี้เกิดจากการย้ายเมืองมาอยู่ในพื้นที่ของแม่น้ำ และเปลี่ยนเส้นทางสัญจรจากทางน้ำมาเป็นถนน จึงเปลี่ยนรูปแบบการสร้างบ้านเรือนจากบ้านยกสูงเพื่อรอรับน้ำ กลายเป็นการถมดินทำที่จอดรถ
เขาจึงเสนอว่า ในเมื่อรู้ข้อมูลล่วงหน้าแล้ว สิ่งที่จังหวัดสุโขทัย สามารถทำได้เพื่อลดผลกระทบ เมื่อรับทราบสถานการณ์ฝนที่จังหวัดแพร่แล้ว คือ สามารถส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจพื้นที่รับน้ำต่างๆ เพื่ออัปเดตปริมาณน้ำในพื้นที่เหล่านี้ ทั้งแก้มลิง ทุ่งทะเลหลวง คลอง
และใช้เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ พร่องน้ำออกไปให้มากที่สุด ก่อนที่มวลน้ำจากจังหวัดแพร่จะมาถึง และน่าจะเปิดพื้นที่ที่ถูกขวางด้วยสวะ เปิดทางท่อลอดต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ เพราะจังหวัดต่างๆ มีงบประมาณที่ถูกกันไว้ 10 ล้านบาท เพื่อเตรียมการป้องกันภัยพิบัติอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากลับไม่ค่อยกล้าใช้งบประมาณส่วนนี้กัน
“ทุกจังหวัดจะมีงบประมาณในการจัดการภัยพิบัติ 2 ก้อน ก้อนแรก 10 ล้านบาท เป็นงบในการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติ ก้อนที่สอง 50 ล้านบาทและขอเพิ่มได้อีก เป็นงบในการบรรเทาสาธารณภัยและเยียวยา
แต่ที่ผ่านมา แทบไม่มีจังหวัดไหนใช้งบประมาณก้อนแรกเลย โดยมักจะมีข้ออ้างว่า ถ้าใช้เงินไปแล้วไม่เกิดเหตุ ก็กลัวจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
แต่กับงบประมาณ 50 ล้านบาทรอบที่สอง ถูกใช้ไปมาก จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตพอสมควร เพราะจริงๆ แล้ว หากใช้เงิน 10 ล้านบาทให้ดี ในการเตรียมการป้องกัน ก็อาจไม่ต้องใช้ 50 ล้านบาทหลังเลยก็ได้”
“เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนที่ต้นน้ำ” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้แล้วในปีนี้ และช่วยให้เห็นว่า ฝนตกหนักที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นสาเหตุของมวลน้ำก้อนใหญ่ที่สุโขทัยในเวลานี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมามักจะมีข้อถกเถียงว่าน้ำท่วมที่สุโขทัยทุกปี เป็นเพราะไม่มีเขื่อนที่ต้นน้ำจนนำไปสู่การผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น
แต่เมื่อมีข้อมูลพื้นที่ฝนตกหนักที่ขัดเจน ก็ทำให้เห็นได้เลยว่า การสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำมากที่สุโขทัย เพราะจุดที่จะสร้างเขื่อน อยู่เหนือขึ้นไปจากจุดที่ฝนตกหนัก
“หน่วยงานรัฐต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ข้อมูล องค์ความรู้ในการอ่านค่าฝน อ่านค่าน้ำ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกผูกขาดด้วยการให้ประชาชนรอการประกาศจากหน่วยงานรัฐอีกต่อไป
มีบางพื้นที่สามารถจัดการภัยพิบัติด้วยตัวเองได้แล้ว โดยไม่ต้องรอฟังประกาศจากหน่วยงานรัฐ แต่ต้องจัดงบประมาณลงไปเตรียมการให้ คือ จัดการฝึกอบรมให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสามารถอ่านค่าของข้อมูลต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
มีการฝึกซ้อมตั้งชุดเผชิญเหตุในชุมชน ตั้งกองทุนภัยพิบัติเพื่อจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ มีอาหารและของยังชีพให้ชุมชนอยู่ได้ถึง 7 วัน โดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ และสามารถประสานข้อมูลกับจังหวัดได้เมื่อปลอดภัยแล้ว”
แต่ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก อาจเป็นเพราะ “ข้อมูลภัยพิบัติ” คือ “อำนาจ” และ “การเบิกจ่ายงบประมาณ” หรือไม่?