xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.พร้อมงัดแผนลดสำรองไฟพุ่ง40%-เตรียมถกIPPปลดโรงไฟฟ้าเก่าเร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- กฟผ.เตรียมสารพัดแผนเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 40% จากพิษโควิด-19 จ่อเสนอรัฐปลดโรงไฟฟ้าเก่าของกฟผ.และ IPP ออกจากระบบเร็วขึ้น คาดใช้วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยขณะนี้สูงถึง 40% ว่า ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018)ได้พิจารณาจากประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เดิมจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3-5%เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวจึงส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าให้ลดต่ำมากทำให้การใช้ไฟฟ้าชะลอตัวกระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จึงได้เร่งศึกษาเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลง โดยได้จัดเตรียมแผนไว้หลายแนวทาง

สำหรับแนวทางการแก้ไขสำรองไฟฟ้าสูงที่จัดเตรียมไว้ เช่น การเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน(ฮับ)ซึ่งจะมีการสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับเชื่อมต่อขายไฟฟ้าไปยังเมียนมา และ กัมพูชา เป็นต้น รวมถึง การจัดทำโครงการดึงไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากสถานีส่งจ่ายไฟฟ้า จัดทำเป็นห้องเย็น ใช้บริการเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเก็บรักษาผักและผลไม้ที่ต้องพิจารณารายละเอียด ส่วนการพิจารณาเลื่อนแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018) ตามหลักการเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้แต่ก็อยู่ที่นโยบายภาครัฐ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เตรียมนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน โดยเจรจากับภาคเอกชน ประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ และจะหมดสัญญาเดินเครื่องประมาณปี 64-68 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น

“หากจะเจราจากับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเหล่านี้ดำเนินการปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วขึ้น ก็จะช่วยลดภาระสำรองไฟฟ้า แต่ก็ควรเจรจาจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวจบและจ่ายในวงเงินที่น้อยกว่า การจ่ายต่อปีในทุกปีตามสัญญา เพื่อลดภาระของภาครัฐและเอกชนเองก็ได้ประโยชน์จากเงินก้อนส่วนนี้ เพื่อนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นต่อ หรือสามารถวางแผนในการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โรงไฟฟ้านั้นๆได้ต่อไป ขณะที่ประชาชนโดยรวมก็จะได้ประโยชน์จากการลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะใช้วงเงินราวหมื่นล้านบาทในการดำเนินการ ”นายบุญญนิตย์กล่าว

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเจรจากับภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการลดสำรองไฟฟ้าของประเทศ แต่ทั้งนี้ ผลประโยชน์ของบริษัทจะต้องไม่เสียหาย ครอบคลุมค่าความพร้อมจ่าย(AP) และสิ่งสำคัญไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์สินทรัพย์ไม่หมดอายุ ที่อาจจะถูกการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผนดิน(สตง.) โดยโรงไฟฟ้าเก่าของบริษัทที่ใกล้หมดอายุ คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 ยูนิต กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ จะหมดอายุในปี 68


กำลังโหลดความคิดเห็น