xs
xsm
sm
md
lg

โควิดดันสำรองไฟพุ่ง 40% กฟผ.เล็งเจรจา IPP ปลดโรงไฟฟ้าเก่าให้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟผ.เตรียมสารพัดแผนเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 40% จากพิษโควิด-19 จ่อเสนอรัฐปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.และ IPP ออกจากระบบเร็วขึ้น คาดใช้วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้ให้เห็นถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยขณะนี้สูงถึง 40% ว่า ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากทำให้การใช้ไฟฟ้าชะลอตัว กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จึงได้เร่งศึกษาเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลง โดยได้จัดเตรียมแผนไว้หลายแนวทาง ส่วนการพิจารณาเลื่อนแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ตามหลักการเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้แต่ก็อยู่ที่นโยบายภาครัฐ

สำหรับแนวทางการแก้ไขสำรองไฟฟ้าสูงที่จัดเตรียมไว้ เช่น การเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน (ฮับ) ซึ่งจะมีการสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับเชื่อมต่อขายไฟฟ้าไปยังพม่า และกัมพูชา เป็นต้น รวมถึงการจัดทำโครงการดึงไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากสถานีส่งจ่ายไฟฟ้าจัดทำเป็นห้องเย็น ใช้บริการเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเก็บรักษาผักและผลไม้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหิจชุมชนตามภาคต่างๆ โดยอาจจะเป็นลักษณะการใช้ไฟฟ้าฟรี หรือจัดเก็บค่าบริการในราคาต่ำที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่อไป เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพีดีพีที่ผ่านมาได้พิจารณาจากประมาณการทางเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3-5% แต่เมื่อเศรษฐกิจถดถอยกว่าที่คาดไว้จึงต้องปรับกระบวนการบริหาร โดยจากข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63 พบว่าการใช้พลังงานอยู่ที่ 512.2 กิกะวัตต์-ชั่วโมง(GWh) ลดลง 2.55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) อยู่ที่ 24,590 เมกะวัตต์ 3.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อน


นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ศึกษาและเตรียมนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน พิจารณาแนวทางลดสำรองไฟฟ้าโดยเจรจากับภาคเอกชน ประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ และจะหมดสัญญาเดินเครื่องประมาณปี 64-68 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของโรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น

“หากจะเจราจากับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเหล่านี้ดำเนินการปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วขึ้น ก็จะช่วยลดภาระสำรองไฟฟ้า แต่ก็ควรเจรจาจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวจบและจ่ายในวงเงินที่น้อยกว่าการจ่ายต่อปีในทุกปีตามสัญญาเพื่อลดภาระของภาครัฐ และเอกชนเองก็ได้ประโยชน์จากเงินก้อนส่วนนี้เพื่อนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นต่อ หรือสามารถวางแผนในการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โรงไฟฟ้านั้นๆ ได้ต่อไป ขณะที่ประชาชนโดยรวมก็จะได้ประโยชน์จากการลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะใช้วงเงินราวหมื่นล้านบาทในการดำเนินการ ส่วนจะใช้เงินจากส่วนใดก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะพิจารณา” นายบุญญนิตย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น