xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าชุมชน จะแท้งหรือได้ไปต่อ?

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ



เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ที่รอการตัดสินใจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ คือ โรงไฟฟ้าชุมชน ที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนก่อน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ริเริ่มและผลักดัน จนเกือบจะเป็นจริงแล้ว แต่ต้องมา “เกยตื้น” ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่สามารถดันวาระการแก้ไข แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) หรือพีดีพี 18 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติถึง 3 ครั้ง จนตัวเองพ้นจากตำแหน่งไปก่อน

ที่ต้องแก้ไขแผนพีดีพี 18 ฉบับเสียก่อน ก็เพราะว่า ในแผนฯ เดิมจะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วง 10 ปีแรก คือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2561- 2570 เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ และที่กำลังทยอยเข้าระบบล้นเกินความต้องการ และความจำเป็นไปมาก เพื่อให้โรงไฟฟ้าชุมชนได้แจ้งเกิด จึงต้องแก้แผนพีดีพี 18 ฉบับโดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้าไปในแผนอีก 1,900 เมกะวัตต์

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แนวคิดก็คือ ให้ชุมชน ในพื้นที่ที่มีความพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าถือหุ้น 30% ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คือ ขยะ ชีวมวล ก๊าซที่เกิดจากน้ำเสีย พืชพลังงาน และโซลาร์ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ สร้างเสร็จแล้วขายไฟฟ้าเข้าระบบให้ กฟผ.ชุมชนจะมีรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากการขายไฟฟ้า และจากการขายเศษไม้ ขยะ แกลบ ฯลฯ ให้โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นเชื้อเพลิง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ตามแผนพีดีพี 18 ฉบับแก้ไขที่ยังเกยตื้นอยู่หน้าห้องประชุมคณะรัฐมนตรี กำหนดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชุมชนตลอด 20 ปี ประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ แต่ในระยะสั้นจะให้มีการผลิตไฟฟ้าก่อน 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมแล้ว ซึ่งเรียกกันว่า “ควิก วิน” 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ 600 เมกะวัตต์

พร้อมๆ กับการผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชน ก็มีข่าวลือหนาหูว่า มีการตั้งค่าหัวคิว ใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนกันแล้ว ในราคาเริ่มต้นเมกะวัตต์ละ 5 ล้านบาท

ในช่วงหลังจากสนธิรัตน์ ลาออกไป ยังไม่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ มีข่าวออกสื่อเป็นระลอกจากฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และขนาดกลางเรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ เร่งผลักดันโครงการนี้ โดยนำวาระการแก้ไขแผนพีดีพีเข้า ครม.ทันที

การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงมาก และไม่รู้ว่า จะส่งผลไปอีกนานเท่าไร ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงไปจากเดิมมาก ผนวกกับ กำลังไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินกว่าจำเป็นอยู่แล้ว และตามแผนพีดีพีเดิม ที่ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ แทบจะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เลย

เรื่องนี้ ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ หาทางออกด้วยการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม และลาว หรือขยายการลงทุนในกิจการอื่นๆ แต่สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลาง มีข้อจำกัดที่จะทำเช่นนั้น โรงไฟฟ้าชุมชนจึงเป็นทางออกของผู้ผลิตไฟฟ้ากลุ่มนี้

ปัจจุบันมีรายงานข่าวว่า มีผู้ตั้งบริษัทเพื่อขอใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนหลายร้อยบริษัท ข่าวนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้ว โรงไฟฟ้าชุมชนอาจเป็นของชุมชน แต่ชื่อผู้ลงทุน และผู้ได้ผลประโยชน์คือ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับชุมชนเท่านั้น

หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ สุพัฒนพงษ์ ยังไม่ได้มีท่าทีชัดเจนกับเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน แต่การแต่งตั้ง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนก่อนหน้าสนธิรัตน์ เป็นที่ปรึกษา น่าจะทำให้ผู้ที่มีความหวังกับโรงไฟฟ้าชุมชนไม่สบายใจ และอาจเป็นสัญญาณชี้อนาคตของโรงไฟฟ้าชุมชนได้ในระดับหนึ่ง

แผนพีดีพี 18 ฉบับที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนก่อน ผลักดันให้แก้ไขเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชุมชน เกิดขึ้นในยุคที่ศิริ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล คสช.เขาประกาศนโยบายชัดเจนว่า ในช่วง 5 ปีแรกของแผนฯ จะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยกเว้นไฟฟ้าจากขยะชุมชน และชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกเว้นว่า ราคาค่าไฟที่รับซื้อไม่สูงกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย เพราะเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนพัฒนาไปมากแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในราคาเดิม คือ 3-5 บาทต่อหน่วยตามประเภทเชื้อเพลิง จะทำให้ราคาค่าไฟแพงขึ้น ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพีดีพีเดิม

นโยบายนี้ ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลาง จากพลังงานหมุนเวียน เดือดร้อนมาก เพราะเท่ากับตลาดรับซื้อไฟฟ้าของตนถูกปิดตาย ต้องเลิกกิจการไปเลย จนถึงกับมีความพยายามยื่นหนังสือถึงศาลปกครอง ให้สั่งระงับการใช้แผนพีดีพี 18 ฉบับ

หลังการเลือกตั้งทั่วไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปลี่ยนจากศิริ เป็นสนธิรัตน์ พร้อมกับการผลักดันนโยบาย “พลังงานเพื่อทุกคน” โดยมีโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นจุดเด่น ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลางมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อศิริอยู่ในฐานะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ พ้นจากศิริที่เป็นรัฐมนตรีมาเจอศิริ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรี ไม่รู้ว่า ท่าทีของเขาในเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ สุพัฒนพงษ์ อย่าลืมว่า ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เขาคือ 1 ใน 6 คณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย แน่นอนว่า บรรดาเรื่องเหล่านั้น ต้องมีเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น