xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมสำหรับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สังศิต” เสนอยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม”หนุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษการลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรม การขนส่งทั้งระบบรางและการขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

วันที่ 14 ส.ค. 2563 เวลา 10.00 น. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการร่วมฯการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะวุฒิสมาชิก ได้แก่ พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ นายภาณุ อุทัยรัตน์ และนายอนุมัติ อาหมัด และอนุกรรมาธิการ เดินทางถึงสนามบินหาดใหญ่ จากนั้นไปยังโรงงานทุเรียน ม่านกู่หวาง ฟู๊ด อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

เมื่อคณะฯ เดินทางถึงโรงงานทุเรียน ม่านกู่หวาง ฟู๊ด นายประเสริฐ คณานุรักษ์ ที่ปรึกษาชำนาญการพิเศษ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทฯให้การต้อนรับ และนำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการร่วมฯ การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า โรงงานทุเรียนม่านกู่หวาง ฟู๊ด เริ่มก่อสร้างในปี 2561 และเริ่มเปิดกิจการรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2562 โดยรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา 3 อำเภอ) เป็นจำนวน 4,800 ตัน และคาดว่าเพิ่มเป็น 5,000 ตัน เป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท คนงานเป็นคนในพื้นที่ทั้ง 1,200 คน บางช่วงถึง 1,500 คน เฉพาะค่าแรงงานมีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้วบริษัทรับซื้อทุเรียนกิโลละ 80 บาทเป็นครั้งแรกที่ชาวสวนทุเรียนได้ราคาดีขึ้นมากสำหรับปีนี้บริษัทรับซื้อทุเรียนในราคากิโลละ 120 บาท เนื่องจากผลผลิตในปีนี้มีน้อย ทุเรียนไทยยังมีความต้องการอีกมากจากประเทศจีน แต่ปัญหาที่พบคือ น้ำที่ใช้ในกิจการโรงงานและกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ


จากนั้นนายสังศิตฯ และคณะเดินทางมาเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ โดยมีนายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม ผู้จัดการฯ ให้การต้อนรับ รายงานนำเสนอข้อมูล และปัญหาว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียและฝรั่งเศส โดยส่งออกเมื่อปี 2561 จำนวน 1,000 ตู้ ทำรายได้ถึง 217.5 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา การเปิดโรงงานที่จังหวัดปัตตานีทำให้สามารถสร้างแรงงานให้กับพี่น้องคนใต้ชาวจังหวัดปัตตานีถึง 2000 คนในจำนวนนี้เป็นชาวอำเภอหนองจิกถึง 54%

“เราพบว่าแรงงานพี่น้องชาวใต้เป็นคนตั้งใจขยันมีฝีมือปราณีตในการตัดเย็บหนังประกอบ เฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีวัฒนธรรมพื้นฐานในการเย็บผ้าจักสานงานฝีมือพื้นบ้านอยู่แล้ว ข้อดีคือเราไม่ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่สำหรับคนไทยอย่างแท้จริง”นายสุเมธฯ กล่าว


นายสุเมธฯ กล่าวถึงปัญหาข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนคือปัญหาเรื่องต้นทุน logistics สูงกว่าถึง 500 เหรียญฯ ต่อการขนส่งหนึ่งตู้เมื่อเทียบกับการขนส่งจากแหลมฉบัง และโรงงานขยายพื้นที่ไม่ได้เนื่องจากติดเรื่องผังเมือง ขณะนี้ต้องเช่าพื้นที่โรงเรียนเก่าเป็นโรงงานชั่วคราวไปก่อน หากทางรัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนให้การช่วยเหลือทางด้านการขนส่งและการเพิ่มพื้นที่โรงงานบริษัทกำลังคิดว่าจะย้ายไปประกอบการที่จังหวัดระยอง ซึ่งน่าเสียดายฝีมือ คุณภาพความตั้งใจการทำงานของพี่น้องชาวใต้ โดยเฉพาะรายได้ครอบครัวจะหายไป บริษัทฯ เอง ก็ไม่อยากย้าย ถ้าย้ายต้องจ้างแรงงานต่างด้าวก็จะเกิดการสูญเสียรายได้สำหรับคนไทย

“ผมคิดว่าข้อเรียกร้องของบริษัทมีเหตุผลและถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์เพราะรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้กับบริษัทเพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเรื่องต้นทุนการขนส่งกับธุรกิจที่แหลมฉบัง อีอีซีและที่ระยอง เวลา 16.30 น. หลังจากรับฟัง ข้อมูลปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการทั้งจากโรงงานทุเรียนม่านกู่หวาง ฟู๊ด โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ แล้ว

“คณะของเราได้ไปเยี่ยมกลุ่มประมงพื้นบ้านที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่นี่เคยเป็นพื้นที่สีแดง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว พี่น้องเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์และมีตลาดรองรับทั้งโรงแรมและที่ตลาดกลางเมือง นอกจากนี้การทำประมงพื้นบ้านได้ผลดีขึ้นกว่าเดิมมาก แน่นอนว่าอาชีพของพวกเขามั่นคงมากกว่าเดิม รวมทั้งรายได้ก็ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด พวกเขายังมีการแปรรูปอาหารทะเลที่ได้มาตรฐาน มีศูนย์จำหน่ายสินค้าและมีการทำตลาดผ่านช่องออนไลน์ ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากภาวะความเป็นผู้นำของผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ ท่านนายกสมาคมประมงพื้นบ้านรู้จักกับผมเป็นการส่วนตัวมากกว่า 20 ปีความสำเร็จของพวกเขาส่วนหนึ่งยังมาจากการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีนักวิชาการที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (อาจารย์กาญจนา แก้วเทพ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬา)และมีนักพัฒนาองค์การภาคเอกชน(คุณสุวิมลสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาตร์ จุฬาและเป็นลูกศิษย์ของผมเอง) มาช่วยงานอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการตลาดพวกเขามีบัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาช่วยงานแบบเต็มเวลาด้วย ผมคิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของความสำเร็จ ผมรับปากกับพี่น้องว่าจะกลับมาติดตามงานเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจของพวกเขาเดินหน้าได้อย่างมั่นคงในระยะยาว”นายสังศิตกล่าว


หลังจากนั้นนายสังศิตฯ และคณะ เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานีเพื่อร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอจากตัวแทนผู้ประกอบการ หน่วยราชการต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้แทนสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจประมงพาณิชย์ การท่องเที่ยวจังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตรวจคนเข้าเมือง และผู้แทนหน่วยงานด้านความมั่งคงในพื้นที่ หลังจากรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนต่างๆ แล้ว ที่ประชุมมีความเห็นสรุปและข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการดังนี้

1. กรณีโรงงานทุเรียนม่านกู่หวาง ฟู๊ด ที่ขาดแคลนน้ำและกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ ได้มอบให้จังหวัดประสานนายสนอง จันทร์รักษ์ นายอำเภอฯ และนายเกษม รามันเศษ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ดำเนินการเร่งรัดการขออนุญาตใช้ที่สาธารณะประโยชน์เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบสูบน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะนี้อบต.ได้รับงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการเรื่องน้ำแล้ว ทุกอย่างน่าจะเห็นผลได้ภายในปีนี้ สำหรับเรื่องกระแสไฟฟ้าผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคชี้แจงว่ากำลังเร่งดำเนินการวางสายเพิ่มกระแสไฟฟ้าอยู่

2. กรณีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้าน logistic และการขยายพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องผังเมือง ทางคณะฯ จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาโดยเร็ว


นายสังศิตฯ กล่าวต่อที่ประชุมว่าทั้งสองเรื่องดังกล่าวตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ศอบต.ในวันรุ่งขึ้นที่ยะลา

“ในส่วนตัวผมเอง จากที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะข้อมูลและปัญหาของผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการทั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซูเพิร์บ ครีเอชั่นฯ และโรงงานทุเรียนม่านกู่หวาง ฟู๊ด มีความตั้งใจที่จะลงทุนในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดน

“สองโรงงานนี้สามารถสร้างงาน ให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รวม 5,000 คน ทำให้เกิดรายได้ ร่วม 600 ล้านบาทต่อปีครอบครัวของพี่น้องมีความมั่นคง รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นการไปเสริมรายได้จากภาคการเกษตรและประมงพื้นบ้านคุณภาพชีวิตโดยรวมของพวกเขาดีขึ้น ชีวิตของพวกเขามีอนาคต มีความสุขและมีความหวัง


“ผมคิดว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ต้องใช้ยุทธศาสตร์ ‘เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม’ (social market economy) ซึ่งหลักการสำคัญมี 10 ประการคือ 1 ส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงาน การมีงานทำมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงในชีวิต 2 ต้องสลับสนุนกลุ่มธุรกิจเอกชนให้มาลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานให้มากยิ่งขึ้น 3 ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน 4 ส่งเสริมให้กลไกราคาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่บิดเบือนกลไกราคา 5 ส่งเสริมธุรกิจทุกประเภทให้สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน 6 ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมและธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7 ส่งเสริมการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันของเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดภาคใต้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วทุกภาค 8 การศึกษาต้องมุ่งสร้างความสำนึกและความรับผิดชอบต่อชุมชน ท้องถิ่นและต่อสังคมไทยโดยรวม 9 รัฐบาลควรจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการศึกษา การผลิตและอาชีพให้แก่คนไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเพียงพอ เพื่อลดปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลำ้และ 10 สร้างโอกาสและการเข้าถึงบริการด้านสวัสดิการต่างๆของภาครัฐ

“ผมเชื่อว่าเมื่อคนมีงานทำมีรายได้ ชีวิตมั่นคง การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จะลดน้อยลงเพราะไม่มีเหตุจูงใจให้กระทำอีกเป็นการจำกัดโอกาสให้กลุ่มคิดก่อความรุนแรงน้อยลง ฉะนั้นการสนับสนุนให้มีการลงทุนและการมีอาชีพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้จะต้องมีความพิเศษในทุกเรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เป็นเขตพิเศษทางด้านกฎหมาย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ในจังหวัดอื่นๆนั้นธุรกิจจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆของทางราชการ แต่ในพื้นที่เขตพิเศษนี้กฎหมาย ระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆของทางราชการจะต้องปรับปรุงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการสร้างอาชีพใหม่ๆ เพราะ ผลที่ได้สุดท้ายคือ ความมั่นคงของชีวิตพี่น้องคนไทยร่วมชาติและความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายสังศิตฯ กล่าวในที่สุด








กำลังโหลดความคิดเห็น