ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคมศกนี้ อนุกรรมาธิการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ไปเยือนพี่น้องเกษตรกรที่บันนังสตา จังหวัดยะลา
เดิมเรากำหนดการลงพื้นที่ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราต้องเลื่อนเดินทางจนกระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจึงได้เวลาลงสัมผัสกับสถานการณ์จริง ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการประชุมทุกสัปดาห์ รวมทั้งการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรน แม้จะเป็นเวลาช่วงสั้นๆ แต่เราได้มีโอกาสพบปะและประชุมกับพี่น้องเกษตรกร กลุ่มธุรกิจและภาครัฐเพื่อหาทางส่งเสริมการมีอาชีพและการมีงานทำของคนในพื้นที่
หนึ่งในสถานที่ๆเราได้ไปเยือนคือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนานำ้ยางสด บ้านถ้าทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบการแปรรูปน้ำยางพาราโดยในช่วงต้นดำเนินการแปรรูปยางพาราเป็นยางแผ่นรมควัน ในปี2559 ศอ.บต.ได้ให้การสนับสนุนโครงการนำร่องแก่โรงงานแปรรูปนำ้ยางพาราใน 3 จังหวัดภาคใต้จังหวัดละ 1 แห่ง(จังหวัดนราธิวาสไม่พร้อม) วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรแปรรูปยางพารา รวมทั้งตัวอาคารซึ่งในทางกฎหมายแล้วยังถือว่าเป็นของศอ.บต.อยู่ 30 ปี ส่วนที่ดินเป็นของชุมชน
หลักการพึ่งตนเองนั้นไม่ได้หมายถึงว่าชุมชนต้องพึ่งตนเองทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ในระยะเริ่มต้นนั้นชุมชนอาจพึ่งตนเองเพียงบางส่วน และในขณะเดียวกันก็สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ด้วย เงื่อนไขสำคัญคือชุมชนจะต้องค่อยๆพึ่งตนเองให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถพึ่งตนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในที่สุด ผมพบว่าวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้คือต้นแบบของการพึ่งตนเองได้แล้วในปัจจุบัน
มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ‘ในความมืดมิดนั้น หากมีใครที่กล้าจุดเทียนเล่มหนึ่งขึ้นเพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น ไม่ช้าก็จะมีผู้กล้าจุดเทียนตามมา’ ผมคิดว่าวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งในผู้กล้าของ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ได้เริ่มต้นจุดเทียนของการทำธุรกิจในระบบเศรษฐกิจตลาดให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้เรียนรู้เป็นแบบอย่าง ที่สำคัญก็คือธุรกิจนี้ไม่ใช่ธุรกิจธรรมดาหากแต่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม
วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีพื้นฐานที่ดีเพราะมีทัศนคติในการพึ่งตนเองอยู่แล้ว เมื่อได้รับการสนับสนุนจากศอ.บต.ก็ยิ่งทำให้พวกเขาสามารถยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากยางพารา อาทิ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา รองเท้ายางพารา เป็นต้น ผลการประกอบธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลช่วยให้วิสาหกิจแห่งนี้มีผลกำไรดี ในปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนได้นำกำไรไปลงทุนซื้อเครื่องผลิตเม็ดยางพารา ทำให้สามารถขายเม็ดยางพาราให้กับทางส่วนราชการในการทำสนามกีฬาได้อีกทางหนึ่ง ทำให้กิจการมีผลประกอบการที่สามารถทำกำไรและสามารถแข่งขันในตลาดได้
ผมคิดว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของวิสาหกิจแห่งนี้มาจากปัจจัยและเงื่อนไขที่สำคัญอย่างน้อยที่สุด 8 ประการ กล่าวคือ
1) ความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกชุมชนหมู่ที่ 1 ที่ส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธ
2) การสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการของวิสาหกิจชุมชนจากศอบต.ในการพัฒนาการผลิต
3) การเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธกส.โดยใช้โฉนดที่ดินของวิสาหกิจชุมชนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของชุมชน
4) การมีผู้นำกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์มีจิตใจที่เข้มแข็ง และ มีผู้จัดการโรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่
5) มีแหล่งยางพาราจากชุมชน และชุมชนใกล้เคียง (หมู่3และ5)อย่างเพียงพอ
6) นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราและเม็ดยางพาราจากวิสาหกิจชุมชน
7)มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและ
8)เป็นการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์สุขของพี่น้องในชุมชน
อย่างไรก็ดีผมพบว่าข้อจำกัดของการประกอบการในรูปของวิสาหกิจชุมชนมีอยู่อย่างน้อยที่สุด 2 ประการเช่นเดียวกันกล่าวคือ
1) สถานะของวิสาหกิจชุมชนตามพ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน มีฐานะเดียวกับบุคคลธรรมดาทำให้มีข้อเสียเปรียบในด้านภาษี ซึ่งทำให้เติบโตได้ยาก และ
2) ข้อจำกัดในการเป็นคู่สัญญาของรัฐซึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคล เท่านั้น ดังนั้นการทำธุรกิจในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนต่อไปจึงยากที่จะเติบโตต่อไปได้
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนานำ้ยางแห่งบันนังสตาแห่งนี้กำลังอยู่บนทางเลือกที่ต้องตัดสินใจว่าจะบอนไซตัวเอง หรือจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ในวันนี้พวกเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหน้าต่อไป ตามแนวทางการพัฒนาที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของตัวเองเสียใหม่จากวิสาหกิจชุมชนเป็นสหกรณ์ในปี2564 การเปลี่ยนแปลงสถานะของวิสาหกิจไปเป็นสหกรณ์จะช่วยให้พวกเขาได้รับประโยชน์หลายประการในอนาคต อาทิเช่น ไม่ต้องเสียภาษี การเข้าทำสัญญากับภาครัฐได้ การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการได้รับการสนับสนุนต่างๆจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เช่นการวางระบบบัญชี อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไปได้
ปัญหาประการหนึ่งของพวกเขาที่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นสหกรณ์แล้วอาจทำให้ความคล่องตัวแบบในอดีตทำไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการ อย่างไรก็ดีผมตั้งใจจะไปศึกษารูปแบบการทำธุรกิจของสหกรณ์ที่ประสบความสําเร็จอย่างสูงที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ที่ทำสุราพื้นบ้าน เพียง 1 ตำบลได้เสียภาษีสรรพสามิตให้แก่รัฐบาลสูงถึงประมาณปีละ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดขายประมาณปีละ 1,250 ล้านบาท ผมตั้งใจว่าจะนำบทเรียนและประสบการณ์ของสะเอียบมาบอกเล่าให้แก่พี่น้องแห่งบันนังสตา เพื่อให้พวกเขาเดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ
ผมมีความหวังและความเชื่อมั่นว่าวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนานำ้ยางสดแห่งอำเภอบันนังสตาจะเป็นดั่งคบไฟในยามรุ่งอรุณของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ครับ