xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ดีอีเอส” ลงพื้นที่ชุมพร ศึกษาเทคโนโลยีเกษตร-เตือนภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมธ.ดีอีเอส” ลงพื้นที่ชุมพร ศึกษาเทคโนโลยีเกษตร-ภัยพิบัติ "กัลยา" เล็งนำข้อมูลช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตเกษตร-เตือนภัย ยกกรณีน้ำท่วมเลยฉับพลัน "สราวุธ" ชี้ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน หวังช่วยสร้างแอปฯเตือนภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ชุมพร) คณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาศึกษาดูงาน "การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเกษตร" และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ" ของสถานีอุตุนิยมวิทยา

กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า วันนี้เราได้นำคณะมาศึกษาดูงานใน จ.ชุมพร การลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้เพื่อศึกษาการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถนำมาช่วยเกษตรกรได้ ทั้งการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดูราคาภาพรวมของสินค้ามีอะไรเป็นที่ต้องการ และยังมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม รวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าของสินค้าต่างๆได้ ซึ่งที่นี่มีการวิจัยและพัฒนาหลายอย่างที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจมาก

น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า ส่วนเทคโนโลยีการป้องกันนั้น หลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเหตุการณ์จากภัยพิบัติอยู่บ่อยครั้ง อย่างล่าสุดน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมอย่างหนักที่ จ.เลย ซึ่งทางกรมอุตุฯจะมีการตรวจสภาพอากาศทุก 15 นาที หากเรามีเทคโนโลยีการแจ้งเตือนที่เข้าถึงประชาชนได้ จะช่วยลดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทาง กมธ.เราจะนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้กลับไปประชุมเพื่อพิจารณาหาทางพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

สราวุธ อ่อนละมัย
ด้าน นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรนั้น ขณะนี้มีหลายรูปแบบ ทั้งการดูราคาแบบเรียลไทม์ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยการดูราคา ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงเรื่องการตลาด ซึ่งเราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะในยุคใหม่จะเน้นการขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งทางสถาบันพระจอมเกล้าฯ มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนการป้องกันภัยพิบัติ ที่จ.ชุมพรมีสถานีอุตุฯ ซึ่งตนในฐานะคนพื้นที่ ที่ผ่านมา จ.ชุมพรมีภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อย ทั้งพายุ น้ำท่วมและน้ำป่า ซึ่งการมีการแจ้งเตือนจากกรมอุตุฯนั้นทำให้สามารถดูรายงานก่อนเกิดเหตุได้ สามารถแจ้งเตือนกับประชาชน ทำให้ชาวบ้านระวังตัว ไม่เกิดความประมาท ดูทิศทางของพายุ และเรายังมีสถานีวิทยุประจำจังหวัด วิทยุชุมชนในการช่วยแจ้งเตือนด้วย ส่วนแอปพลิเคชั่นกำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา ซึ่งทาง กมธ.จะได้ช่วยเหลือเรื่องเครื่องมือ และประสานเครือข่ายมาวางระบบให้ดีขึ้น.






กำลังโหลดความคิดเห็น