xs
xsm
sm
md
lg

“วีระกร” ชี้ทางแก้แล้งลุ่มน้ำปิงต้องผันน้ำสาละวินเติม เผยจีนเสนอลงทุนแลกขายไฟให้ไทยแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร - ส.ส.พลังประชารัฐ คนดังนครสวรรค์ เผยปีนี้หมดลุ้นรอน้ำเขื่อนภูมิพล ล่าสุดเหลือน้ำแค่ 200 กว่าล้าน ลบ.ม. จากความจุ 13,000 ล้าน ลบ.ม. ชี้ทางแก้แล้งลุ่มน้ำปิงมีทางเดียว ต้องผันน้ำสาละวินเติมเท่านั้น


นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำแล้งลุ่มน้ำปิง ระหว่างนำคณะลงพื้นที่ตรวจงาน-พบปะกับกลุ่มเกษตรกรชาวพิจิตร-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ กว่า 500 คน ที่มารวมตัวชูป้ายเรียกร้องขอให้รัฐบาลหาแนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง วานนี้ (29 มิ.ย.) ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ จ.กำแพงเพชร

รองประธานคณะกรรมาธิการน้ำฯ ระบุว่า ณ ขณะนี้ไม่สามารถเอาน้ำจากเขื่อนภูมิพลลงสู่แม่น้ำปิงได้แล้ว เนื่องจากเขื่อนภูมิพลที่มีความสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำเหลือแค่ 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เรียกว่ามีน้ำเหลือติดก้นอ่างแล้ว

วิธีแก้ปัญหาลุ่มน้ำปิงมีทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาเติม ก็คือผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน ด้วยวิธีปิดเขื่อนที่ปากแม่น้ำยวม ก่อนจะไหลลงแม่น้ำเมยที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นก็ใช้วิธีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160-170 เมตร ด้วยท่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร ยาว 60 กิโลเมตร ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำแม่งูด แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งจะทำให้ได้น้ำ 1,750 ลูกบาศก์เมตร/ปี แต่จะสูบเฉพาะหน้าฝนเพื่อเอาน้ำไปกักเก็บในเขื่อนภูมิพล


สำหรับความเป็นไปได้ ตอนนี้กรมชลประทานกำลังศึกษาร่วมกับประเทศจีนที่จะมาช่วยลงทุนให้ก่อน แต่ตามโครงการของจีน จะส่งน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเติมน้ำยวมอีกประมาณ 2,000-3,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี เมื่อเติมแล้วก็จะมีน้ำสูบเข้าเขื่อนภูมิพลได้ถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งจะทำให้น้ำในแม่น้ำปิงมีเพียงพอต่อการบริหารจัดการเพื่อเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย

นายวีระกรย้ำว่า ขอให้ประชาชนช่วยสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจของจีนได้ยื่นข้อเสนอมายังนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด รวมถึงกรมชลประทาน ก็กำลังเร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

“การที่จีนเข้ามาช่วยดำเนินการลงทุนให้ก่อนนั้น แล้วเขาจะขออะไรแลกเปลี่ยนจากรัฐบาลไทย ก็ขอชี้แจงแบบตรงไปตรงมาว่า จีนลงทุนให้ไทยเพื่อให้เกษตรกรได้น้ำ ก็จะขอแลกกับการขายกระแสไฟฟ้าให้กับไทย ซึ่งเราเคยซื้อกระแสไฟจากโครงการเขื่อนน้ำงึม ประมาณยูนิตละ 3 บาท ก็อาจต้องซื้อจากจีนในราคาเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 25 สตางค์/ยูนิต ซึ่งถือว่าพอรับได้แบบวิน-วิน ถ้าหากสำเร็จมั่นใจว่าพี่น้องเกษตรกรลุ่มน้ำปิงจะไม่ขาดแคลนน้ำเพื่อการทำการเกษตรอีกต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น